10 วิธีง่ายๆ สำหรับคนธรรมดาๆ ที่ห่วงใยโลก : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์

แม้แต่คนธรรมดาที่สุดก็สามารถห่วงใยเอาใจใส่โลกใบนี้ได้ การพัฒนาที่ยั่งยืนมักมีหลักการแห่งความสำเร็จที่ว่าด้วย การสร้างการมีส่วนร่วม (Inclusiveness) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการสร้างความร่วมมือตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ

บ่อยครั้งที่มีการพูดเรื่องใหญ่ๆ โดยคนใหญ่ๆ อย่างเช่น หยุดยั้งความยากจน ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและความยุติธรรม แก้ปัญหาโลกร้อน ในความเห็นของผู้นำโลก นายกสมาคม ประธานสหพันธ์…

แต่!!! ทุกความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญระดับโลก เริ่มจากความร่วมมือของคนธรรมดาๆ ที่มีทั้งคนขยัน คนขี้เกียจ คนสามัญทั่วไป ได้เช่นกัน

ด้วยความร่วมมือของนานาชาติ ทั้งภาครัฐ หน่วยงานสากล และผู้นำระดับต่างๆ ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีการพูดถึงความร่วมมือของ “คนธรรมดา” “คนตัวเล็กๆ” หรือแม้แต่ “คนขี้เกียจ” เท่าใดนัก และนั่นอาจดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ค่อยมีความสำคัญและไม่มีพลัง พอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากนัก แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นเหตุผลที่คนธรรมดา คนตัวเล็กๆ หรือคนขี้เกียจ (แม้ในบางเวลา) อย่างเราท่านจะตกเทรนด์ในการแสดงความห่วงใยที่มีต่อโลกของเราทุกคนไม่ใช่หรือ?

ทุกคนมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและทางแก้ไขได้เสมอ ยังดีที่มีหลายวิธีการที่สุดแสนง่ายดาย ที่เราทุกคนสามารถทำได้ และหากเราร่วมมือพร้อมใจกันลงมือทำ ก็ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกสำหรับสังคมและสิ่งแวดล้อมบนโลกได้อย่างแน่นอน ลองเริ่มจาก 10 วิธีง่ายๆ ต่อไปนี้ดูไหม

1. ปิดไฟและถอดปลั๊กไฟทุกครั้ง เมื่อไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงคอมพิวเตอร์ของเราด้วย การที่เสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้ แม้ไม่ได้ใช้งาน กระแสไฟจะยังคงวิ่งไปตามสายไฟ และเกิดการสูญเสียที่เปล่าประโยชน์

2. ไม่ใช้หรือลดการใช้กระดาษในกิจกรรมต่างๆ เช่น กรณีใบเสร็จหรือใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้บอกรับเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่ใช้กระดาษ ก็ไม่ต้องตัดต้นไม้ โลกก็จะมีทรัพยากรต้นไม้เพื่อช่วยฟอกอากาศและสร้างความชุ่มชื้น

3. แทนที่จะแค่คลิก Like หรืออ่านผ่านๆ ลองหันมากด Share หรือบอกต่อ เมื่อพบข้อความที่บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นที่ดีในการสร้างความยั่งยืนในประเด็นต่างๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อพบข้อความบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาหรือการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในเด็กและเยาวชน (ซึ่งน่าสนใจมาก) ก็ควรแชร์หรือส่งต่อให้คนที่เป็น friends หรือคนที่อยู่ในเครือข่ายของเรา

4. ลดเวลาในการอาบน้ำให้สั้นลง หลีกเลี่ยงการใช้อ่างอาบน้ำ ซึ่งทำให้เราต้องเสียน้ำเท่ากับการเปิดน้ำจากฝักบัวต่อเนื่องนานถึง 5-10 นาที (คิดดูว่าจะสูญเสียน้ำไปมากแค่ไหน) ใช้น้ำเฉพาะที่จำเป็น พยายาม ลด ละ เลิก การใช้น้ำ และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดเมื่อใช้

5. ลดการกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ เนื้อสัตว์ที่เกิดจากปศุสัตว์เป็นการใช้ทรัพยากรที่มากกว่าการเกิดหรือดำรงชีวิตของสัตว์ตามธรรมชาติ ตลอดระยะเวลาในการเพาะเลี้ยง จะมีเรื่องของการให้อาหาร ควบคุมสภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูตลอดวงจรชีวิต ดังนั้นการบริโภคที่มากเกินความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ไม่เพียงทำให้เกิดการสูญเสียโดยใช่เหตุ แต่ยังเป็นที่มาของสุขภาพที่ย่ำแย่ และนั่นคือการไม่คำนึงถึงการมีสุขภาพที่สมบูรณ์และการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ตามเป้าหมายที่ 3 ในการพัฒนาที่ยั่งยืน

6. แช่แข็งอาหารที่ทำสุกใหม่ๆ หรืออาหารที่เหลือจากมื้อก่อน เพื่อทานในมื้อต่อไป ก่อนที่วัตถุดิบอาหารเหล่านั้นจะเสีย นอกจากลดปริมาณอาหารที่ต้องใช้แล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย แนะนำว่าให้คำนึงถึงหลักสุขอนามัยอีกเล็กน้อย และเลือกเก็บอาหารที่ปรุงสำเร็จในกล่องหรือภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (มากกว่าการเก็บในถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเพิ่มขยะใหม่เข้ามาในระบบ)

7. คัดแยกขยะและนำสิ่งของต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ กระป๋อง แก้ว พลาสติก เหล่านี้ล้วนเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ หรือนำกลับมาสู่กระบวนการผลิตแล้วเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น มองให้เห็นว่า กระดาษหนึ่งแผ่นมีอย่างน้อย 3 หน้า เขียนบนด้านหนึ่งแล้ว พลิกใช้อีกด้านด้วย เมื่อครบสองด้านแล้ว ให้นำส่งให้กับสมาคม โรงเรียน หรือชมรมช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา เพื่อใช้กระดาษแผ่นเดียวกันนั้น ในการผลิตหนังสืออักษรเบรลล์ (อักษรนูนสำหรับคนพิการทางสายตา เช่น ตาบอด)

8. เลือกซื้อของจากร้านขายของใกล้บ้าน อาจเป็นร้านเล็กๆ ที่เปิดโดยชาวบ้านด้วยกันเอง หรือคนในชุมชน การหมุนเวียนรายได้และสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ช่วยให้เกิดความสงบสุขและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน นอกจากนี้ หากมองในแง่มุมของสิ่งแวดล้อมแล้ว การไม่ต้องเดินทางขับรถไปไกลๆ ก็ทำให้ประหยัดน้ำมันและลดมลพิษลงไม่น้อยทีเดียว

9. เวลาไปทานอาหารที่ร้านอาหารทะเล ลองถามพนักงานเวลาสั่งอาหารว่า “ร้านนี้ใช้อาหารทะเลที่รักษ์โลกรึเปล่า ใช้แรงงานประมงถูกกฎหมายรึเปล่า?” (ว้าวววว) ดูเหมือนการสอบถามดังกล่าวจะส่งสัญญาณให้ร้านโปรดของเรารู้ว่า คนธรรมดาอย่างเรายินดีสนับสนุนร้านอาหารหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสัตว์น้ำ และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน รสชาติอาหารอาจดีขึ้นหากเรามีเป้าหมายดีๆ เพื่อโลกร่วมกัน ขณะนี้มีหลายๆ ร้านชั้นนำ ที่ติดป้ายแสดงให้เห็นด้วยซ้ำ เช่นว่า “ร้านนี้สนับสนุนวัตถุดิบท้องถิ่นจากชุมชนที่ห่างไกล”

10. ออกไปเลือกตั้งผู้นำชุมชนหรือผู้แทนในการกำหนดนโยบายชาติและแผนพัฒนาประเทศ และเลือกคนที่ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ ไว้วางใจได้ มีวิสัยทัศน์ และแน่นอน คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และแน่นอนลงมือปฏิบัติให้เห็นจริง

เหล่านี้เป็นเพียงวิธีการง่ายๆ ที่เราทุกคน แม้แต่คนขี้เกียจ คนธรรมดา คนตัวเล็กๆ สามารถทำได้ เพื่อที่วันหนึ่งเราจะไม่ต้องเสียใจที่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดทิศทางของโลกใบนี้ เพียงเพราะเราห่วงใยเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม “น้อยเกินไป”

Ref. https://sustainabledevelopment.un.org/

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

Stay Connected
Latest News