ทำได้ ! อยากเป็นเกษตรรายย่อย แบบ dtac Smart Farmer

dtac&Telenor Group จัดให้ใช้เน็ตเสริมศักยภาพ ตามกรอบ SDGs ข้อที่ 10 ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ เลุยทำตลาดเทคโนโลยีการเกษตรปีหน้าผ่านโมเดล CSV

การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนระหว่างภาครัฐ-ประชาสังคม- หน่วยงานอิสระ หวังขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ต่อยอดศักยภาพอินเทอร์เน็ต-เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการ“สร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคม” (Creating Shared Value: CSV)

เพตเตอร์ เฟอร์เบิร์ก รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป กลุ่มตลาดเกิดใหม่ กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำถือเป็นวาระสำคัญของโลกที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และหน่วยงานอิสระ สำหรับเทเลนอร์ ในฐานะนักลงทุนเล็งเห็นถึงความสามารถและความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม พร้อมต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทั้งภาคราชการและเอกชนในภูมิภาคเอเชีย

“เราในฐานะผู้ให้บริการด้านการสื่อสารและบริการดิจิทัล เราเห็นศักยภาพของเราในการช่วยเหลือสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำโดยพิจารณาจากขนาดของธุรกิจ ประกอบกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นปัจจัยลดความล้ำเหลื่อมล้ำที่สำคัญด้วยการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการ ยกระดับมาตรฐานความรับผิดชอบทางธุรกิจให้เทียบเท่ากับแนวปฏิบัติสากล มีการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ใช้บริการดิจิทัลที่มีในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม” 

 

เป้าหมายของ Telenor Group & dtac บางส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำ ภายในปี 2563 โดยการเลือกใช้โมเดล CSV

จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เทเลนอร์กรุ๊ป ได้ตั้งเป้าพันธกิจในการลดความเหลื่อมล้ำผ่านกลยุทธ์ต่างๆ ภายในปี 2563 ดังนี้

•        มีข้อตกลงในการสร้างสภาพแวดล้อมของโลกอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน
•        จับมือกับพันธมิตรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
•        ลดความเหลื่อมล้ำผ่านการจ้างงานท้องถิ่น ทั้งรูปแบบพนักงานประจำและซัพพลายเออร์
•        พัฒนาสภาวะการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ปลอดภัย ผ่านระบบตรวจสอบซัพพลายเชน

สำหรับงานระดมความคิดเห็น “ผนึกพลังลดความเหลื่อมล้ำ : บทบาทของภาคธุรกิจต่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน”  (Partnering for Reduced Inequalities: How Business Can Contribute to the SDGs) ถือเป็นนิมิตหมายในการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาคราชการ เอกชน ตลอดจนประชาสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ UN SDGs ข้อที่ 10

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ ขจัดความยากจน การศึกษาที่ดีขึ้น ตลอดจนสุขอนามัยและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงทรัพยากรได้ดีขึ้นโดยไม่แบ่งแยกชนชั้น วรรณะ ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในภาคการเกษตรของไทย ที่มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรถึง 33% แต่กลับสร้างรายได้ให้ประเทศเพียง 10% ของจีดีพี แสดงถึงประสิทธิภาพแรงงานในภาคการเกษตร

ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล ได้นำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงการ dtac Smart Farmer เพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide) โดยพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงบริการและเทคโนโลยี การพัฒนาทักษะดิจิทัล และความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งจากข้อมูลของ World Economic Forum ระบุว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเพียง 10% ของประชากรสามารถเพิ่มจีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) ได้ถึง 1.2%

“ดีแทคมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการช่วยสังคมลดความเหลื่อมล้ำผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของดีแทค Empower Societies” 

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของดีแทค จะก้าวสู่กลยุทธ์ “สร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม” (Creating Shared Value: CSV) ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงสังคมในวิถีของการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดทุนนิยม กล่าวคือ การสร้างคุณค่าร่วมต้องผนวกเข้ากับความสามารถในการแสวงหากำไร และการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร โดยใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการในการสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

บรรยากาศเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาคเอกชน ภาครัฐ-ประชาสังคม- หน่วยงานอิสระ มีแนวทางเห็นสอดคล้องที่ภาคเอกชนรายใหญ่จะเป็นผู้ผลักดันภาคเกษตรกรรายย่อย ซึ่งการใช้เทคโนฯอย่าง IoT นอกจากจะมีความแม่นยำในระบบที่เกี่ยวข้องกับแปลงเกษตรแล้ว ระบบที่เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายยังช่วยให้บริหารงาน และทำงานอย่างอื่นได้พร้อมๆ กัน ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก

สำหรับโครงการ dtac Smart Famer หลังจากดำเนินการวิจัยนำร่องภายใต้โครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และเนคเทค- สวทช. ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านม ขณะนี้ใกล้เข้าสู่ช่วงสรุปผลการวิจัย และคาดว่าอุปกรณ์ IoT สำหรับเกษตรในโรงเรือน เพื่อใช้วัดปัจจัยเพาะปลูกพืช จะสามารถทำตลาดเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงกลางปี 2561 ซึ่งจะถือเป็น CSVที่เป็นรูปธรรมโครงการแรกของดีแทค

หากกลับมามองเม็ดเงินของโมเดล CSV รายงานของ Business Commission ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ธุรกิจภายใต้รูปแบบ CSV ส่วนใหญ่จะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน ซึ่งโอกาสทางธุรกิจทั่วโลกนี้มีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนอกจากจะสร้างโอกาสทางธุรกิจแล้ว ยังก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจ และนวัตกรรมมากขึ้น

 

Stay Connected
Latest News