5 คำตอบของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิตบุตร เรื่อง ศิลปะ Online ทำลายหรือพัฒนา

ครั้งแรกที่มูลนิธิเอสซีจี เปิดนิทรรศการแสดงศิลป์สัญจร “จะอั้น จะอี้ จะอาร์ต” จากโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยสู่นครลำปาง และครั้งแรกที่เลือกทำวงสนทนาที่ให้วิทยากรมีเวลาพูดประมาณ 20 นาทีเท่านั้น ในหัวข้อ ศิลปะ Online ทำลายหรือพัฒนา

ผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของยุวศิลปินไทยเลือดใหม่แห่งวงการศิลปะผ่านการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย Young Thai Artist Award สัญจร ครั้งที่ 1 แสดงศิลป์ จะอั้น จะอี้ จะอาร์ต ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม ศกนี้ เวลา 18.00-21.00 น. (เปิดทำการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์) ณ หอศิลปะและการแสดงนครลำปาง บ้านบริบูรณ์ จ. ลำปาง

โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์งานศิลป์ ได้มีเวทีในการแสดงความสามารถเชิงศิลปะอย่างกว้างขวาง

คงจะเป็นการกล่าวไม่ผิดนักหากจะบอกว่า เวทีนี้เป็นเวทีเดียวที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยจากทั่วประเทศได้มีพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถด้านศิลปะอย่างครบถ้วน 6 สาขาคือ

-สาขาศิลปะ 2 มิติ
-ศิลปะ 3 มิติ
-ภาพถ่าย
-ภาพยนตร์
-วรรณกรรม
-การประพันธ์ดนตรี

ความพิเศษของนิทรรศการแสดงศิลป์สัญจร ครั้งแรก อีกเรื่องหนึ่งเวทีเสวนาหัวข้อศิลปะออนไลน์ ทำลายหรือพัฒนา

ดาว วาสิกสิริ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย อ.ประยอม ยอดดี ศิลปินล้านนาชื่อดัง จ.ลำปาง รศ.ทินกร กาษรสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิตบุตร ผู้กำกับหนังชื่อดัง ซึ่งเลือกที่จะเล่ามุมมองในเรื่องนี้ในแบบ ถาม-ตอบ

ถาม: ปรากฏการณ์ออนไลน์ เปลี่ยนแปลงโลกภาพยนตร์ไปมากน้อยเพียงใด
ตอบ : ในช่วง 30 ปีที่ทำงานด้านภาพยนตร์มา เรียกว่าเปลี่ยนไปคนละด้านเลย ปัจจุบันนักศึกษาที่เรียนด้านภาพยนตร์มักจะใช้การเข้าในออนไลน์เพื่อไปหา Reference หรือหาข้อมูลในโลกออนไลน์เยอะ เพื่อนำมาทำรายงานส่งอาจารย์ ข้อดีคือ สามารถหาภาพยนตร์ดูได้กว้างขึ้น อาจเป็นของต่างประเทศหรือทั่วโลก ปัญหาคือการนำมาใช้นั้น นักศึกษามักจะ Save หนังแต่ละเรื่องมาตัดต่อในแต่ละมุมที่สนใจปะปนกัน ในฐานะคนทำภาพยนตร์อย่างผมที่ดูภาพายนตร์มาเยอะ รู้สึกว่าการนำมาตัดต่อไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาในด้านภาพพยนตร์เลย ผมอยากให้นักศึกษาเข้าไปใช้ออนไลน์เพื่อศึกษาข้อมูล

อย่างผมจะทำหนังสักเรื่อง เราจะต้องอ่านหนังสือเพื่อให้เกิดจินตนาการอยู่บนสมอง เท่ากับว่าเราจะมีภาพของเราเอง ไม่ใช่ภาพที่เกิดจากอินเทอร์เน็ต หรือหนังเรื่องใด ซึ่งเวลาหนังไปฉายที่ใดก็ตาม เขาจะรู้ว่าเป็นหนังของคุณ เป็นลายเซ็นต์ของคุณ เพราะไม่เหมือนใคร จะเป็น Original ของคุณเอง อย่างหนังเรื่องพี่มากขา เป็นจินตนาการของผมที่นางนาคไม่เหมือนใครเพราะไปอ่านหนังสือที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้เพียง 1 ประโยคเท่านั้นที่ว่า คุณแม่พาไปที่วัดมหาบุศย์ ไปเห็นรอยเท้าอยู่ที่หลังคาศาลา แค่นี้เอง ทำให้เกิดจินตนาการว่า ถ้าเท้านางนาคอยู่บนเพดาน แปลว่านางนาคต้องห้อยหัวลงมา เวอร์ชั่นของผมเลยมีนางนาคห้อยหัวลงมา

ถาม: ถ้าโลกเชื่อมต่อกันด้วยออนไลน์ภาพยนตร์ทั้งโลกจะเหมือนกันหมดหรือไม่
ตอบ : มีความแตกต่างเยอะมาก ทุกอย่างจะเร็วขึ้นมาก ทำให้กระแสนการผลิตเร็วตามไปด้วย อย่างเมื่อก่อนเราดูหนังปีละ 60 เรื่อง แต่ปัจจุบันเราสามารถดูหนังได้ทุกวัน แต่ในความเป็นจริง เรามีกลับหนังน้อยลง เพราะการมีออนไลน์ทำให้เกิดหนังที่ไม่ถูกกฎหมาย

ผมทำหนัง 1 เรื่องใช้เวลา 4 ปีในการทำตั้งแค่เริ่มเขียนบทจนปิดกล้อง แต่มีเวลาแค่ 4 วันในการฉายที่จะพิสูจน์ว่าหนังเราจะอยู่ได้หรือไม่ ฉายวันที่ 1 คือวันพฤหัสบดี ต้องได้ 8 ล้านบาท สรุป 4 วันต้องได้ 12 ล้านบาทขึ้นไป อาทิตย์หน้าถึงจะได้ฉายต่อ แต่ออนไลน์ทำให้กฎเกณฑ์นี้หนักขึ้นไปอีก เพราะอาทิตย์แรกคนเข้าไปดูในโรงหนัง แต่พออาทิตย์ที่ 2 คนก็สามารถเข้าไปดูเรื่องนี้ในออนไลน์ได้แล้วเพราะมีการเอากล้องไปแอบถ่ายลงไปออนไลน์ได้

ในเมืองไทยยังทำ Hub Online แบบ Netflex ไม่ได้ เพราะเรายังมีโรงหนังเจ้าใหญ่ๆ ที่มีอิทธิพลอยู่ เราเลยทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราอยากจะทำมาก เพราะถ้าเราทำอย่างนั้นทุกคนก็สามารถดูหนังในแท็บเลต มือถือ ในคอมพิวเตอร์ จะไม่มีใครไปดูหนังในโรงภาพยนตร์

ถาม: ข้อดีของออนไลน์ทำให้เราสามารถดูหนังของทั่วโลกได้ แต่ในเชิงธุรกิจเหมือนทำลายระบบหนังของทั่วโลก
ตอบ: ใช่ครับมีทั้งทำลายและสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา การทำลายคือเรามีรายได้จากหนังน้อยลง หนังไทยในยุคของผมเมื่อ 15 ปีก่อน เราส่งออกหนังไปต่างประเทศเยอะมาก มีเงินเข้าประเทศเป็นหมื่นล้านบาท แต่ในปัจจุบันเมื่อเกิดโลกออนไลน์ทำให้การส่งออกไม่จำเป็นแล้ว เพราะเราสามารถหาหนังทุกเรื่องดูได้ในออนไลน์

เพราะฉะนั้นหนังทุกวันนี้ขายไม่ได้ เหมือนมูลค่าหายไป แต่สิ่งทีเกิดขึ้นใหม่คือการค้าขายบนออนไลน์ในระบบ Netflex และอีกหลายเจ้าที่เกิดขึ้น การทำภาพยนตร์ 1 เรื่อง สามารถรันตีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องฉายไปทั่วโลกแน่นอน เพราะคนดู netflex มีสมาชิกไปทั่วโลก ถ้าหนัง 1 เรื่องฮิตขึ้นมา หรือซีรีย์ฮิตขึ้นมา มูลค่าก็เป็นหมื่นล้านบาทเหมือนกัน

ตอนนี้คนสร้างภาพยนตร์ที่ดังๆ ในเมืองไทย ถูก Netflex เรียกไปคุยหมดแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิต ซึ่งเราก็เสียดายเหมือนกัน จากผู้กำกับจอใหญ่กลายมาเป็นผู้กำกับจอเล็ก

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ คนรุ่นใหม่ที่กดเข้าไปดูหนังอะไรก็แล้วแต่บนโลกออนไลน์ เค้าจะมีความสนใจแค่ 3 นาทีเท่านั้น ความสนใจสั้นมาก เพราะจอเล็ก ระบบเสียงก็ไม่ดี อย่างผมทำหนังโฆษณาก็ต้องทำให้ได้ 4 วินาทีมันท้าทายผมนะ แต่ก็แทบไม่ได้สื่ออะไรเลย

ถาม: หนังในมิติของเมืองไทยกับฮอลลีวู้ดแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ: ความจริงหนังในเมืองไทยกับเมืองนอกไม่ต่างกัน แต่ทำไมเรามีแต่หนังผีหรือหนังตลก หรือหนังประเภท โรแมนติคอมแมนดี้ เพราะทุกคนคิดว่ากลุ่มคนดูคือหนังวัยรุ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้หาเงิน แต่เป็นคนใช้เงิน ดังนั้นทุกคนจึงพุ่งเป้าไปหาคนที่ใช้เงิน แต่ไม่สนใจคนหาเงินเพราะคนหาเงินจะมีความระมัดระวังในการใช้เงิน วัยรุ่นจึงสามารถดูหนังได้อาทิตย์ละ 2 เรื่องเป็นเงิน 400 – 500 บาท เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมุ่งทำหนังให้กับกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งก็จะเป็นแนวตลก และผี

ถาม : สุดท้าย จุดยืนภาพยนตร์ไทยบนเวทีโลก จะเป็นอย่างไร
ตอบ : เมื่อ 20 ปีผมคิดอย่างไร ปัจจุบันผมก็ยังยืนยันอย่างนั้นคือการเป็นตัวตนของเรานั่นคือสิ่งที่ฝรั่งสนใจที่สุด มีรุ่นน้องมาเสนอผมว่าจะทำแบบสปีลเบิร์ก แบบมาร์เวล ผมก็ตอบไปว่าจะทำไปทำไม ในเมื่อเขาทำไปแล้ว ทำไมเราไม่ทำแบบตัวเรา ทำไมเราไม่ทำแบบศิลปะของเราที่ได้รับการยอมรับ ผมรู้สึกว่าเราทำแบบของเรา ไม่มีเงินก็ทำแบบไม่มีเงิน เชื่ออย่างไรก็ทำแบบนั้น

คือประเทศโลกที่สาม ฝรั่งชอบมองวิธีคิดของเรามากกว่า ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรในเมืองไทย เราก็แก้ปัญหาในแนวทางของเรา ซึ่งฝรั่งเขาก็คงชอบในแบบที่เราเป็น ยกมือไหว้แล้วก็หายกันเลยเหรอ เมื่อกี้เกือบจะต่อยกันอยู่แล้ว คือการเป็นตัวตนของเรานี่แหละที่ทั่วโลกยอมรับ

ลองสังเกตซิครับ หนังที่ออกไปฉายต่างประเทศแล้วได้รางวัล มันคือวิธีการนำเสนอที่เป็นตัวตนของเรามากที่สุด

นี่คือสถานการณ์ของโลกออนไลน์ที่ทำให้บางอย่างเปลี่ยนไป บางอย่างหมุนไปตามปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ !!

Stay Connected
Latest News