4 ทักษะ+1 ช่วยสวนกระแสลด-เลิกจ้างพนักงาน !

ทั้งสี่+หนึ่ง ถือเป็น Soft Skills และนายจ้างจะต้องส่งเสริมให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกการทำงานในอนาคตกับพนักงานของตน


จอน วิลเลียมส์ หัวหน้าร่วมสายงานทรัพยากรบุคคลและองค์กร บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า ความไม่มั่นใจ ความไม่มั่นคง และความวิตกกังวล ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่นายจ้างจะต้องส่งเสริมพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกของการทำงานในอนาคตกับพนักงานของตนเอง

ถึงแม้ว่าองค์กรจะไม่สามารถปกป้องงานที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีได้ แต่พวกเขามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้โอกาสและสนับสนุนให้เกิดความสามารถในการปรับตัวและปรับปรุงทักษะใหม่ๆ แก่พนักงานของตนเอง

“แม้จะไม่มีใครล่วงรู้อนาคต แต่ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยผู้นำทั้งในระดับทีม ระดับองค์กรและระดับประเทศ มีหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมของการทำงานที่เข้าใจถึงความรู้สึกของพนักงาน และมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจในการรับมือและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง”

นอกจากนี้ ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ (Soft skills) จะยังคงเป็นทักษะสำคัญที่องค์กรต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่มนุษย์จะต้องทำงานควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอย่างระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ในอนาคต

พนักงานผู้ถูกสำรวจมากกว่า 3 ใน 4 กล่าวว่า ตนมีความพร้อมของทักษะด้านสังคมและอารมณ์

  • มีทักษะในการปรับตัว (86%)
  • มีทักษะในการแก้ปัญหา (85%)
  • มีทักษะในการทำงานร่วมกัน (81%)
  • มีความฉลาดทางอารมณ์ (76%)

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า พนักงานในอินเดียมีความมั่นใจต่อการมีทักษะด้านสังคมและอารมณ์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะในการแก้ปัญหา (91%) และความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (88%)

ข้อมูลข้างต้น บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Workforce of the Future – the Views of 10,000 Workers ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานจำนวนกว่า 1 หมื่นรายในประเทศชั้นนำอย่าง สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา โดยพบว่า แรงงานยุคใหม่ตื่นตัวในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล หลังความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพลิกโฉมโลกการทำงานในอนาคต แต่น่าห่วงพนักงานทั่วโลกส่วนใหญ่ที่ยังขาดความพร้อมในทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ “สะเต็ม” (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM skills) ซึ่งถือเป็น 1 ที่สำคัญ

ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับประเทศไทย แม้ภาครัฐจะให้ความสำคัญและกำหนดนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา หรือ STEM Education ในสถานศึกษา แต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากนัก

ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐของไทยต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนาและส่งเสริมสะเต็มศึกษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยภาคธุรกิจเองก็ต้องสะท้อนความต้องการของทักษะด้านนี้ รวมถึงสนับสนุนความก้าวหน้าในสายอาชีพดังกล่าว ส่วนภาครัฐต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษา และการเพิ่มทักษะแรงงานยุคดิจิทัล เพราะทักษะนี้จะทำให้เกิดองค์ความรู้แบบบูรณาการ และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นการปูทางให้เด็กไทยสามารถเป็นนักออกแบบ และนักแก้ปัญหารุ่นใหม่ได้ในอนาคต

นอกเหนือจากนี้ นายจ้างและองค์กรต่างๆ ควรหันมาสร้างวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้คนทำงานได้แสดงออกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้พูด แสดงความคิดเห็น หรือเสนอไอเดียใหม่ๆ ขณะที่คนทำงานเอง ก็ต้องหมั่นพัฒนาทักษะด้านสังคมและอารมณ์ไปด้วย เพราะเป็นทักษะที่เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม