เปลี่ยนชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน คนปลายน้ำ @ ชุมชนบ้านมดตะนอย

การน้อมนำพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางขยายผลการจัดการน้ำให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ดังที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระราชทานแนวทางให้คนไทยร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์เช่นที่ปฏิบัติสืบต่อมา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สามารถทำได้หลายแนวทาง

สำหรับเอสซีจี ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มาดำเนินการ ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้สมัยใหม่ กับภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ซึ่ง 12 ปีที่ผ่านมานั้น มีสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วมากกว่า 68,000 ฝาย ซึ่งช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี หรือไม่ได้เป็นเพียงความสมบูรณ์ของผืนป่าฟื้นกลับคืนมา ทำให้เกิดการต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชน

ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนับจากนี้คือ การเชื่อมเครือข่ายรักษ์น้ำทั่วประเทศ จากความร่วมมือ 3 ฝ่าย ภาคเอกชน หน่วยงานราชการที่ดูแลพื้นที่ในแต่ละชุมชน และชุมชนเจ้าของพื้นที่ โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ของ “คนต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายน้ำ” ในโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” เพื่อเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้นน้ำ(การสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ) กลางน้ำ(แก้มลิงกระจายน้ำในพื้นที่ราบอย่างเป็นระบบ) สู่ปลายน้ำ(อนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ด้วยการสร้างบ้านปลา) โดยมีความเกี่ยวเนื่องกับ “นวัตกรรม” ที่เหมาะสมกับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่

การเข้าสู่พื้นที่ปลายน้ำ เช่นชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งมีอาชีพประมงพื้นบ้าน ถือเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่ชุมชนเข้มแข็ง สามารถทำอาชีพได้อย่างปกติในท้องทะเล แต่เมื่อเกิดหน้ามรสุม ทำให้ต้องเปลี่ยนมาทำการประมงในคลองลัดเจ้าไหม ซึ่งจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ให้ปลามาอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ใช่ปลาเร่ร่อน จึงต้องมีบ้านปลาในคลองดังกล่าว
ในคลองลัดเจ้าไหม คณะผู้บริหารเอสซีจี ร่วมปล่อยบ้านปลานวัตกรรมปูนทนน้ำทะเล

“บ้านปลาในคลองลัดเจ้าไหม นำนวัตกรรมปูนทนน้ำทะเลซึ่งทนทานต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าปูนซีเมนต์ทั่วไป เพราะปูนทนน้ำทะเลจะมีความทึบให้เกลือหรือน้ำผ่านมากกว่าปูนทั่วไป ซึ่งมีความทนในน้ำทะเลมากกว่า 2-3 เท่าสำหรับอายุการใช้งาน เราได้ดีไซน์ปรับเฉพาะให้เหมาะแต่ละพื้นที่ และตัวนี้ก็มีความทึบและทนต่อการกัดกร่อนจากสารคลอไรด์และซัลเฟตได้ดี ยิ่งบ้านปลาของเราไม่มีเหล็กเสริมเลยทำให้การใช้งานยิ่งนานมากขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางวิชาการจากภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่แสดงว่า บ้านปลาและปูนทนน้ำทะเลไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีชิ้นส่วนประกอบที่สามารถแตกหักเสียหายกลายเป็นขยะใต้น้ำได้”

ชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ขยายความต่อเนื่องถึงบ้านปลาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านมดตะนอย จะเป็นบ้านปลาที่ชุมชนสามารถหล่อได้เอง พร้อมกับมีนวัตกรรมปูนทนน้ำทะเลที่พัฒนาขึ้นมาพิเศษเฉพาะเครื่องพรินท์ 3D และจะนำไปพรินท์เป็นรูปปะการังต่างๆ ได้ เวลาทำก็จะนำปูนมาโรยเป็นชั้นๆ เหมือนเวลาที่บีบยาสีพัน ซึ่งเอสซีจีตั้งใจที่จะดีไซน์ให้เป็นปะการังแล้วนำไปต่อ เหมือนการต่อ Lego จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต่อไป

ชุมชนบ้านมดตะนอยร่วมปล่อยบ้านปลาในจุดที่กำหนดของคลองลัดเจ้าไหม

“เมื่อก่อนชุมชนเราใช้ไม้ และไปซื้อแบบสำเร็จรูปที่เป็นท่อบ่อมาใช้เป็นบ้านปลา ซึ่งก็ไม่เหมาะสมนัก พอได้ทำงานกับเอสซีจีเราก็มาคิดว่าจะมีรูปแบบไหนที่เคลื่อนย้ายสะดวก สวยงามด้วย เหมาะกับการอยู่ใต้น้ำ ก็ออกมาเป็นแบบวงกลม คิดว่าจะต้องมีช่องกลมๆ หลายช่อง แบบนี้เป็นลูกเล่น เพื่อช่วยให้ปลาได้ว่ายไปว่ายมา เพราะปลาก็ชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม”

ปรีชา ชายทุย ชาวบ้านชุมชนบ้านมดตะนอยเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นการร่วมมือกันในรูปแบบที่ชุมชนมีความต้องการ แล้วเสนอมาทางเอสซีจี เพื่อการพัฒนาร่วมกันกับชุมชน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่ยังหมุนเวียนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เป็นการต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ชนะ ภูมี , ปรีชา ชายทุย , รศ.ดร.อัญชนา ประเทพ

รศ.ดร.อัญชนา ประเทพ ผู้อำนวยการสถานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นภาคการศึกษาที่ร่วมทำงานด้วย อธิบายถึงพื้นที่ทำการประมงของชุมชนบ้านมดตะนอยว่า พื้นที่แห่งนี้ยังนับว่ามีความสมบูรณ์ เมื่ออกไปที่คลองลัดเจ้าไหมจะเห็นป่าชายเลนชุมชนยังมีจำนวนมากสวยงาม และความสวยงามที่เพิ่มขึ้นมาคือ ชุมชนลุกขึ้นมาบอกกลุ่มตัวเองว่า เราควรจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยบ้านปลาเป็นนวัตกรรมที่มาช่วยให้เกิดความสมบูรณ์ ท่ามกลางการอนุรักษ์อย่างเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งงานวิชาการจะติดตามผลที่เกิดขึ้นต่อไป

โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ได้นำเยาวชน YOUNG รักษ์น้ำเข้าเรียนรู้วิถีชุมชนบ้านมดตะนอยในหลากหลายมิติ ทั้งปลูกกป่าชายเลน เรียนรู้การจัดการขยะที่ชุมชนได้แรงบันดาลใจจากกระเป๋าผ้าเอสซีจี การลงมือทำบ้านปลาที่มีนวัตกรรมปูนทนน้ำทะเลด้วยตัวเอง

ปรีชากล่าวในท้ายที่สุดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังจากวางบ้านปลาไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่าชาวบ้านได้ปลารอกหนึ่งมีรายได้ 200-300 บาท ปลาที่พบมากเป็นปลาเก๋าซึ่งเป็นเศรษฐกิจ ปลาสิงโต

การเกิดบ้านปลาด้วยปูนทนน้ำทะเล ซึ่งเป็นนวัตกรรมของเอสซีจี ที่ชุมชนบ้านมดตะนอย ถือเป็นการทำงานที่เน้นสื่อสารพูดคุยแบบ Dialogue มีความเข้าใจในการร่วมมือทำงาน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะเพิ่มที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก คืนความสมบูรณ์สู่ทะเลไทย

 

ข่าวเกี่ยวข้อง SCG PASSION FOR BETTER

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม