TMB TOUCH แอปฯ ให้ “ผู้พิการทางสายตา” เข้าถึงบริการทางการเงินเท่าๆ คนตาดี

นับเป็น Social Impact ! ลดความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงบริการทางการเงิน คว้ารางวัล TAB Digital Inclusive Award 2018 เป็นแอปฯที่ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึง และใช้งานได้ดีที่สุดจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในงานสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติ ครั้งที่ 21

ปฎิการ เทพมงคล พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นผู้พิการทางสายตาแบบเห็นเฉพาะแสง เป็นลูกค้าของทีเอ็มบีมานานกว่า 3 ปี ได้กล่าวในงาน TMB Digital Talks UX/UI to Make THE Difference ว่า ในการใช้บริการทางการเงิน การไปตู้เอทีเอ็มมีข้อจำกัด ซึ่งจะทำได้เฉพาะบางเมนูที่จำเป็นจริงๆ อีกทั้งไม่สามารถเช็คสิ่งที่เกิดจากหน้าจอได้

“การใช้แอปฯ เป็นความปลอดภัย สามารถเช็คทุกอย่างได้ด้วยตัวของเราเองเหมือนคนธรรมดาที่เขาใช้แอปฯ ทางการเงิน และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้บนแอปฯ เช่นกัน ซึ่งความง่ายของ TMB TOUCH เมนูไม่ซับซ้อน ชัด เวลาใช้กับโปรแกรมเสียงที่มีอยู่บนมือถือใช้งานง่าย”

นอกจากนี้ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความแตกต่างแอปฯ ที่ใช้ เมื่อเทียบกับแอปฯ บริการแบบเดียวกันพบว่า บางค่ายกดแล้วใช้งานไม่ได้เพราะระบบจะอ่านเฉพาะ Bottom Bottom หรือปุ่ม ปุ่ม แต่ผู้พิการทางสายตาจะไม่รู้ว่าปุ่มไหน คือโอนเงิน หรือจ่ายบิล ก็จะกดมั่วว่า อันนี้ปุ่มที่ 1 มั้ง ก็กดเข้าไป อ๋อ ปุ่มที่ 1 คือโอน หรือบางอันไม่มีปุ่ม เป็นภาพกราฟฟิก ปรับไปแล้วไม่เจอ หรือบางอันกดเข้าไปจะต้องปิดเสียงแล้วกดเข้าไปซึ่งจะไม่สะดวกแบบที่ TMB ออกแบบ UX/UI เอาไว้

รางวัล TAB Digital Inclusive Award 2018 โดยสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ใช้วิธีการคัดเลือกแอปพลิเคชั่นโดยให้คนตาบอดทั่วประเทศที่ใช้โมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชั่นโหวตให้คะแนนแอปพลิเคชั่นที่เคยใช้งาน มีกฏเกณฑ์ในการพิจารณา 3 ประเด็นหลักที่สำคัญ ได้แก่

1) เป็นแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อคนไทยทุกคนได้ใช้
2) เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับคนทั่วไป ไม่ใช่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้คนตาบอดใช้โดยเฉพาะ
3) เป็นแอปพลิเคชั่นที่ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงและใช้งานแอปพลิเคชั่นนั้นได้ตั้งแต่ 80%ขึ้นไป

 

มร.มาแตง แวน เคอเลน เจ้าหน้าที่บริหาร Digital Chanel & User Experience ทีเอ็มบี เป็นตัวแทนรับมอบรางวัลจากสมคิด สมศรี (ซ้าย) อธิบดีกรมส่งเสริมและคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจัดสัมมนาปีนี้เป็นปีที่ 21 เป็นสัมมนาระดับชาติที่มุ่งเน้นกลุ่มผู้นำคนตาบอดจากทั่วประเทศและกลุ่มสมาชิกคนตาบอดจากต่างประเทศที่จะเข้ามาร่วมจัดประชุม ASEAN Community Blind Forum อีก 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา  ลาว และเวียดนาม

“การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการที่จะนำประเด็นปัญหาต่างๆมาเสวนาและระดมความคิดเพื่อที่จะหาวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนตาบอดในประเทศไทย ทางสมาคมหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะสร้างให้เกิดองค์ความรู้และวิธีการในการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดในภาพรวมเข้าไปสู่การพัฒนากระแสหลัก ทำให้คนตาบอดไทยในอนาคตเป็นประชาชนที่มีสิทธิและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นพลเมืองที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติและสังคมต่อไป”

จตุพล หนูท่าทอง หัวหน้างานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนตาบอด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า

“คนตาบอดของเราสามารถเข้าสู่โลกของสมาร์ทโฟนมาได้ประมาณ 5-6 ปีที่แล้วและต่อไป และผลิตภัณฑ์ดิจิทัลสำหรับการสวมใส่ที่เรียกว่า Wearable Device ก็กำลังเข้ามา ซึ่งนั่นก็ทำให้การเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับคนตาบอดยิ่งง่ายดายยิ่งขึ้นไปอีกผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มาพร้อมกับดีไวซ์เหล่านี้ ปัจจุบันแอปพลิเคชันที่พวกเราใช้งานนั้นมีหลากหลายประเภท รวมไปถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งในด้านการเข้าถึงนั้นแอปพลิเคชันระดับโลกเช่น กูเกิล เฟสบุค เราก็สามารถเข้าถึงได้ 100%แล้ว นั่นอาจจะเป็นเรื่องของการคำนึงถึงด้านการออกแบบการเข้าถึงใช้งานต่างๆ บ้านเราก็ขอขอบคุณหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่ได้ทำแอปพลิเคชันต่างๆขึ้นมาให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึง และใช้ได้เป็นอย่างดี”

จตุพล กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากจะขอฝากไว้ให้กับนักพัฒนาซอฟท์แวร์ต่างๆ ว่าจะเป็นการดีหากว่าสิ่งซอฟท์แวร์ หรือแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมานั้น ทุกคนสามารถใช้งานร่วมกันได้เป็นมาตรฐานโดย เท่าเทียมกัน

 

Stay Connected
Latest News