มูลนิธิเอสซีจี บ่มเพาะต้นกล้าชุมชน…มุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

พลังของคนหนุ่มสาว มีความสำคัญในทุกๆ ส่วนของสังคม เพราะมีความท้าทายต่อพลังความคิด พลังใจ พลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในบ้านเกิดในฐานะ “นักพัฒนาท้องถิ่นยุคใหม่” ที่จะต้องมีความพร้อมในการขับเคลื่อนสืบทอดงานชุมชนในมิติต่างๆ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งอย่างสมดุล และยั่งยืน

ชุมชนชนท้องถิ่น มีความเอื้ออาทร การพึ่งพาอาศัยกัน ความซื่อสัตย์ต่อกัน สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่ดีงาม ชุมชนเป็นที่ที่อยู่ร่วมกันจึงทำให้เกิดความสัมพันธ์กัน เพราะชุมชนมีพื้นที่ อาณาเขต มีผู้คนอาศัย มีกิจกรรมลักษณะเดียวกันที่เกิดจากความสนใจตรงกัน ผู้คนจึงมีลักษณะที่ร่วมกันและมีความผูกพันกัน

กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มีเรื่องจริงที่เกิดในพื้นที่ชุมชนต่างจังหวัดแทบทุกแห่ง เมื่อพบว่า “ไม่มีคนรุ่นใหม่ทำงานในท้องถิ่นตัวเอง มีเฉพาะคนแก่” ซึ่งข้อมูลนี้ สำรวย ผัดผล ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้โจโก้ เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง เคยแลกเปลี่ยนข้อมูลหนึ่งให้ฟังว่า

“ครั้งหนึ่ง เราให้ชาวนาในชุมชนจำนวนหนึ่งเดินเข้าไปในแปลง แล้วเดินออกมาพร้อมกับคำตอบว่าพวกเขาพบอะไรที่เป็นปัญหาในแปลงนานั้น โจทย์ของคนจัดกระบวนการการเรียนรู้อย่างผม ก็คิดว่าชาวนาคงจะมารายงานว่าเจอแมลงนั่น เจอนกนี่ เจอข้าวต้นนี้เสียหาย แต่ชาวนากลับออกมา แล้วบอกผมว่า ไม่มีเด็กๆ เลย มีแต่คนแก่ทั้งนั้น”

สำรวย ผัดผล

เมื่อชุมชนซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งสังคมไม่มีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อยู่ในพื้นที่เพราะหลังจากเดินหน้าสู่เมืองใหญ่ หรือเมืองหลวงตั้งแต่เริ่มเรียนในระดับที่สูงขึ้นจนกระทั่งเรียนจบ ก็ต่อเนื่องด้วยการทำงาน ซึ่งรู้อยู่เต็มอกว่าในพื้นที่ตัวเอง มีคนแก่มากกว่าคนรุ่นใหม่แล้ว การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ รักษาวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนก็อาจจะลำบาก แม้อยากจะกลับบ้านมาดูแลพ่อแม่หรือญาติผู้อาวุโสแต่ก็มีคำถามขึ้นมาว่า “กลับบ้านแล้วจะไปทำงานอะไร”และค่านิยมอย่างหนึ่งที่ยังมีอยู่คือ “ที่บ้านอุตส่าห์ส่งไปเรียนสูงๆ ยังจะกลับมาทำงานที่บ้าน”

ใช้ทุกพลังของคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นขับเคลื่อน

มูลนิธิเอสซีจีมีโอกาสทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนมานานกว่า 10 ปี ตระหนักถึงการสานต่องานที่ท้องถิ่นจะต้องใช้พลังความคิด พลังใจ พลังกายของคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนสืบทอดงานชุมชนในเรื่ององค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิตวิถีชุมชน และสอดคล้องกับความเชื่อของมูลนิธิเอสซีจีที่ว่า ไม่มีการสร้างใดจะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง “คน”และตั้งใจที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ให้ทำงานรับใช้ภูมิลำเนาบ้านเกิดตัวเอง จึงริเริ่มโครงการต้นกล้าชุมชนขึ้นในปี 2557 เพื่อเปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์พืชใหม่ได้หยั่งรากเติบโตตั้งแต่วัย 25-35 ปีที่เริ่มมีประสบการณ์โครงการทำงานกับชุมชนมาแล้วระยะหนึ่งในพื้นที่ตัวเอง

ฝีมือจากคนท้องถิ่นบางส่วนทีเป็นอัตลักษณ์ชุมชน และศิลปะที่สร้างรายได้

ทั้งนี้ โครงการที่เสนอต้องสอดคล้องกับความต้องการหรือประเด็นปัญหาของชุมชน ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีพี่เลี้ยงที่เป็นนักพัฒนาซึ่งทำงานในพื้นที่คอยให้คำแนะนำการทำงานภาคสังคมแก่นักพัฒนารุ่นใหม่ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการ 3 ปี มูลนิธิฯ พร้อมที่จะส่งเสริมศักยภาพการทำงานของต้นกล้าชุมชนโดยสนับสนุนเบี้ยยังชีพ ค่าจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ รวมถึงจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของต้นกล้าตลอดระยะของการดำเนินโครงการ

กระบวนการพัฒนาต้นกล้าชุมชน มูลนิธิฯวางระบบนับตั้งแต่ปีแรก ที่เริ่มต้นเป็นต้นกล้าชุมชนแต่ละรุ่น โดยหลักสูตรจะเน้นการพัฒนาศักยภาพ เสริมภาวะความเป็นผู้นำและเสริมความมั่นใจ ว่าต้นกล้าชุมชนทุกคนมีศักยภาพ

ปีที่สอง หลักสูตรจะเน้นเรื่องทักษะการดำเนินโครงการ ทั้งในเรื่องของภาวะผู้นำ การเขียนโครงการ การกำหนดตัววัดผลความสำเร็จการประเมินผล โดยต้นกล้าชุมชน จะต้องส่งรายงานความคืบหน้าตามโจทย์ที่ทางมูลนิธิฯ ตั้งไปเป็นระยะ ทั้งนี้เพื่อเป็นเพื่อเป็นการฝึกทักษะตามหลักสูตรในปีที่สองให้ต้นกล้าฯ ด้วย

ปีที่สาม หลักสูตรจะเป็นการพัฒนาศักภาพโดยเติมองค์ความรู้ที่ขาด เพื่อให้ต้นกล้าฯ อยู่รอดได้จริงท่ามกลางการโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพอยู่เป็นระยะ เช่นการให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

องค์ความรู้หลากหลายมิติ ทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาต้นกล้าชุมชน
ก้าวท้าทายไม่มีใครรู้จักชุมชน ได้ดีไปกว่าคนในชุมชนเอง

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ขยายความถึงการกระบวนการสร้างการรับรู้ในมิติต่างๆ ให้กว้างขึ้น เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดงานชุมชนที่ต้นกล้าฯ ดำเนินการอยู่

“มูลนิธิฯ ตระหนักดีว่า ต้นกล้าชุมชน จะเติบโตและแข็งแรงได้นั้น ต้องได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม การจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพน้องๆต้นกล้า เช่น การเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศทั้งที่เกาะฟุกุโอกะ และ
เมืองโออิตะเพื่อศึกษาดูงาน OVOP (One Village One Product) ต้นแบบแนวคิดหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ของทั่วโลก และต้นแบบ OTOP (One Tumbon One Product) หนึ่งตำบลหนึงผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมอย่างยั่งยืน เพื่อให้น้องๆ ต้นกล้าได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ เปิดประสบการณ์ แนวคิด และมุมมองใหม่ๆ เพราะเชื่อว่าการได้เดินทางไปสัมผัสประสบการณ์จริงย่อมมีคุณค่าและสร้างแรงแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ต้นกล้าฯ ตลอดจนพี่เลี้ยงได้จดจำและนำกลับมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเอง”

Mr. Tadashi Uchida และคณะมาเมืองไทยพร้อมต้นกล้าชุมชน รุ่น 3 เข้าพื้นที่สัมผัสของจริง พูดคุยกับชุมชนอย่างใกล้ชิดและแนะนำการพัฒนาสินค้า

ล่าสุด มูลนิธิฯเชิญ Mr. Tadashi Uchidaและทีม ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการขับเคลื่อนพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่นเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อมาลงพื้นที่ชุมชน ติดตาม ประเมินผล แล้วช่วยชี้แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามแนวคิดปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”ให้กับต้นกล้าฯเป็นการตอกย้ำและสร้างความมั่นใจ ตลอดจนความกล้าในการมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง สร้างความร่วมมือร่วมใจ รวมถึงความเข้าใจในท้องถิ่น และชุมชนของตนเองด้วย ถือเป็นเครื่องมือในการเสริมศักยภาพความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับต้นกล้าชุมชนอีกทางหนึ่ง

“สำหรับแผนการดำเนินงานของมูลนิธิเอสซีจีในอนาคตของน้องๆต้นกล้าชุมชน ในการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ จะมุ่งเน้นความต้องการของต้นกล้าฯ ที่ทำงานในแต่ละกลุ่ม เพื่อความเข้มข้นขององค์ความรู้ในมิติต่างๆ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และนำไปต่อยอดให้กับงานที่น้องๆ ต้นกล้าฯ กำลังทำอยู่ได้ ส่วนน้องๆ ที่หมดวาระการเป็นต้นกล้าไปแล้ว หาก ต้องการการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์ความรู้ กลยุทธ์ทางการตลาด การสร้างแบรนด์ งบประมาณในการพัฒนาเพิ่มมูลค่าหรือยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ทางมูลนิธิฯ พร้อมจะโอบอุ้มและอยู่เคียงข้าง เพื่อให้ต้นกล้าเหล่านี้ได้เติบโตเป็นนักพัฒนารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนหรือชุมชนอื่นๆ ในการกลับมาพัฒนาชุมชนบ้านเกิด เพราะเราเชื่อว่าไม่มีใครรู้จักชุมชน ได้ดีไปกว่าคนในชุมชนเอง”

สุวิมล จิวาลักษณ์

ต้นกล้าชุมชนซึ่งเป็นนักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ นอกจากจะมีอาชีพตามความถนัดของตัวเองในบ้านเกิดแล้ว ยังสามารถสืบสาน ต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ ในเชิงวัฒนธรรม เกษตรกรรม หัตถกรรม สร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้คนอื่นในชุมชน ได้ทำงานส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งรากเหง้าและวิถีชีวิตอันงดงามของตัวเองไป

สุวิมลกล่าวในท้ายที่สุดว่า ในอนาคตต้นกล้าเล็กๆ เหล่านี้จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา และความร่มเย็นเป็นที่พักพิงของชุมชนได้อย่างแน่นอน เพราะโครงการต้นกล้าชุมชนจะจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้เมล็ดพันธุ์นักพัฒนารุ่นใหม่ได้เติบโตหยั่งรากและตั้งมั่นในการรับใช้บ้านเกิดของตนเองในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมการศึกษาสิ่งแวดล้อม และการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม

ต้นกล้าชุมชน หญิง เขียว เก่ง และเอ กับงานท้าทายพัฒนาชุมชนที่ถนัดแต่ละด้านตอนต่อไป
Stay Connected
Latest News