พบ“หนอนยักษ์”ชอบกินพลาสติกมาก นักวิจัยเตรียมเสิร์ฟเมนูเด็ดแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

การรีไซเคิลนั้นดูเหมือนจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกในปัจจุบันได้ดี่ที่สุด แต่แท้จริงแล้วก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ในขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันผลิตพลาสติกที่มีคุณภาพต่ำลงจากเมื่อก่อน รวมถึงพลาสติกหลายประเภทก็ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราต้องเห็นมันลอยเกลื่อนอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก


ดังนั้นทุกหน่วยงานจึงพยายามค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาช่วยกำจัดพลาสติกที่กำลังล้นโลก ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบว่าเจ้า “หนอนยักษ์” (Superworms) สามารถกินพลาสติกได้มากถึง 8 เท่าของหนอนชนิดอื่นที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้านี้

ความจริงแล้ว “หนอนยักษ์” ก็คือตัวอ่อนของด้วงที่เราเห็นมีขายตามร้านขายอาหารสัตว์ที่คนส่วนใหญ่นำไปเป็นอาหารสัตว์เลื้อยคลานและปลา จากงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์โดย American Chemistry Society ที่นักวิจัยอย่าง Jiaojie Li, Dae Hwan Kim และทีมวิจัยพูดถึงรายละเอียดของการศึกษาด้วยการนำพลาสติกโพลีสไตรีนจำนวน 2 กรัมไปวางไว้ในพื้นที่ทดลองที่มีหนอนยักษ์ 50 ตัว ซึ่งหลังจากนั้น 21 วัน พวกเขาพบว่าหนอนยักษ์กินพลาสติกชนิดนี้ไปประมาณ 70%

ทีมวิจัยวิเคราะห์ว่ากุญแจสำคัญของการย่อยเกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะของมัน เรียกว่า Pseudomonas aeruginosa ซึ่งผลิตเอ็นไซม์ชื่อว่า erine hydrolase โดยทีมวิจัยชุดนี้กล่าวว่าจากการค้นพบครั้งนี้ ได้มีการวางแผนต่อยอดที่จะแยกเอ็นไซม์ดังกล่าวออกมาเพื่อศึกษาต่อว่าเอ็นไซม์ตัวนี้สามารถย่อยพลาสติกนอกกระเพาะของหนอนยักษ์ได้หรือไม่

“หากประสบผลสำเร็จ มันก็จะไม่เป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่จะถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นเทคนิคด้านชีวภาพในการกำจัดพลาสติกโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกจิ๋วที่มีอยู่ในธรรมชาติต่อไป” Kim กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ต่างทราบว่าหนอนนก (Mealworms) และหนอนแว็กซ์ (Waxworms) สามารถกินพลาสติกได้ แต่สิ่งที่ Kim และทีมวิจัยค้นพบนั้นได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่วงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมากนั่นก็คือหนอนยักษ์สามารถกินพลาสติกได้มากถึง 8 เท่าของหนอนทั้งสองประเภท เนื่องจากมันตัวใหญ่กว่าหนอนนกถึง 1.5 เท่า นอกจากนี้ หนอนยักษ์ดูเหมือนจะไม่ได้รับอันตรายใดๆจากกินพลาสติกอีกด้วย ทั้งนี้เพราะกว่า 90% ของหนอนที่นำมาทดลองในระยะเวลา 21 วัน ก็อยู่ยังรอดปลอดภัยอยู่

แม้การนำตัวอ่อนของด้วงขนาดความยาว 1.5 – 2 นิ้ว มาช่วยในการแก้ปัญหาพลาสติกที่อาจจะดูเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ แต่การค้นพบครั้งนี้นับเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของความพยายามในการแก้ปัญหาพลาสติกในโลกของเรา โดย Kim กล่าวเสริมว่า “การค้นพบของพวกเราเป็นเพียงการเริ่มต้นเล็กๆ ซึ่งเส้นทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องพลาสติกยังอีกยาวไกล แต่เราก็ดีใจมากที่ได้เห็นการวิจัยของเราสามารถดึงดูดและสร้างความสนใจแก่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่สามารถจะทุ่มเทความพยายามในการแก้ปัญหาพลาสติกในอนาคตไปพร้อมๆกับเรา”

Credit : www.fastcompany.com/90512624/these-hungry-superworms-happily-munch-through-plastic

Stay Connected
Latest News

KCG เปิดวิสัยทัศน์ CEO คนใหม่ ‘ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล’ สร้างการเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และพร้อมสู่อนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทรานส์ฟอร์มองค์กร สานต่ออาณาจักรอาหารสไตล์ตะวันตก เนยและชีส