ไอเดียเจ๋ง!หนุ่มอินเดีย ผลิตก้อนอิฐจากขยะอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19

แน่นอนว่าช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 การป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ แต่เราเคยรู้กันไหมว่าอุปกรณ์ป้องกันตัวจากเชื้อโรคประเภทใช้ครั้งเดียวเหล่านั้นได้กลายไปเป็นขยะจำนวนมหาศาลตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา


Binish Desai หนุ่มอินเดียวัย 27 ปี ผู้ก่อตั้ง Eco-Electric Technologies ที่ตั้งอยู่ทางอินเดียตะวันตกได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการใช้งาน เขาจึงเฟ้นหาวิธีในการช่วยบรรเทาปัญหานั้นและตกผลึกไอเดียด้วยการผลิตก้อนอิฐจากขยะป้องกันตัว หรือที่เขาตั้งชื่อว่า “Brick 2.0” นั่นเอง

Desai กล่าวกับสื่อท้องถิ่นอย่าง The Hindu ว่า “แรกๆเลย ทุกคนก็พูดถึงแต่เรื่องผลพลอยได้จากการล็อกดาวน์ที่ช่วยลดมลภาวะ ส่วนผมก็ได้แต่คิดถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากความต้องการใช้ชุด PPE และหน้ากากที่เพิ่มสูงขึ้น”

ตามการศึกษาของ the American Chemical Society พบว่า ปริมาณหน้ากากที่ใช้ไปในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 มีจำนวน 129,000 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ และ Benga Swash India ก็ได้รายงานว่า เพียงแค่อินเดียประเทศเดียวก็ได้สร้างขยะติดเชื้อที่เกี่ยวเนื่องกับโคโรน่าไวรัสกว่า 18 ตัน ในระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน

ด้วยเหตุนี้ Desai จึงปิ๊งไอเดียที่จะนำขยะอุปกรณ์ป้องกันตัวมาเป็นอีกหนึ่งวัสดุในการผลิตอิฐรุ่นใหม่ที่มีส่วนผสมของเศษหมากฝรั่งและกระดาษอุตสาหกรรม โดยเขาได้ฉายาว่า “The Recycle Man of India” และยังเคยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จใน Forbes 30 Under 30 แห่งเอเชีย ในปี 2018

เขาได้เล่าถึงขั้นตอนการผลิตว่า เริ่มจากการเก็บชุด PPE จากถังคัดแยกขยะ (Eco bin) ที่ตั้งอยู่ในร้านค้าและตึกอพาร์ทเม้นท์ จากนั้น เมื่อขยะเหล่านี้ไปถึงโรงงาน จะถูกคัดแยกออกไปต่างหากเป็นเวลา 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังจากนั้น ขยะเหล่านี้จะถูกฆ่าเชื้อและย่อยให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนที่จะนำไปผสมกับขยะประเภทกระดาษอุตสาหกรรมและสารยึดเกาะ และวัสดุดังกล่าวจะถูกกดทับด้วยมือตามเบ้าหล่อต่างๆ ในขั้นตอนสุดท้าย เมื่ออิฐแห้งสนิทแล้วก็สามารถนำไปใช้งานได้ทันที

“อิฐ 2.0 มีความแข็งแกร่งและทนทานกว่าอิฐแบบเดิมๆประมาณ 3 เท่าตัวด้วยขนาดที่ใหญ่กว่า 2 เท่า และราคาที่ต่ำกว่าครึ่ง” เขากล่าวกับ The Hindu

อย่างไรก็ดี Desai ไม่ใช่คนเดียวที่คิดค้นนวัตกรรมที่มุ่งนำขยะอุปกรณ์ป้องกันตัวโควิด-19 มาใช้ให้เกิดประโยชน์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัท “Plaxtil” ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศสก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่รีไซเคิลหน้ากากให้กลายเป็นวัสดุที่สามารถหลอมได้เหมือนพลาสติก โดยปัจจุบัน บริษัทดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างคิดค้นไอเท็มใหม่ๆที่ใช้สำหรับต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 แม้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะสามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์หรือวัตถุประสงค์อื่นๆได้ด้วยก็ตาม

Credit : www.goodnet.org/articles/this-indian-man-recycles-disposable-face-masks-into-building-bricks

Stay Connected
Latest News