‘ภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง’ ซีพี ออลล์ จับมือ 10 พันธมิตร สร้างระบบนิเวศจัดการขยะที่ใหญ่ที่สุดในไทย

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูล​ฝอยทั่วประเทศในปี 2563 ที่ผ่านมา 27.93 ล้านตัน เท่ากับมีการสร้างขยะเฉลี่ยในแต่ละวันราว 76,529 ตัน หรือมีคนไทยสร้างขยะในทุกๆ วันรวมกว่า 1.14 กิโลกรัมต่อคน โดยมีขยะเพียง 39%  หรือ 10.85 ล้านตัน ที่มีการนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ขณะที่อีก 61% ไม่สามารถนำไปบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง มีการเล็ดลอดออกไปสู่ธรรมชาติ และส่วนหนึ่งที่มีการไหลลงสู่ทะเล ขณะที่ประเทศไทยยังถือเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด ติด Top 5 ของโลกอีกด้วย โดยมีปริมาณขยะรวมกันมากกว่า 8 ล้านตัน

ปัญหาสำคัญของการจัดการขยะ ต้องเร่ิมจากการดูแลตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การลดขยะ แยกขยะ รวมทั้งการทิ้งอย่างถูกวิธี แม้จะเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ แต่หากทิ้งปะปนกัน ก็ไม่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ การบริหารจัดการจึงต้องไปเริ่มตั้งแต่ต้นทาง ต้องทำให้คนทิ้งจากต้นทางตระหนักว่าจะทิ้งอย่างไรเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการที่ปลายทาง เป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการต้นกล้าไร้ถัง เพื่อจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะได้มากขึ้น และหลุดลอดออกจากระบบให้ลดน้อยลง

คุณตรีเทพ ปาลกะวงศ์​ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมและคอนเน็กซ์อีดี บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

คุณตรีเทพ ปาลกะวงศ์​ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมและคอนเน็กซ์อีดี บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือผ่านภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังว่า ต้นทางที่เล็กที่สุดของทุกคนคือ ที่บ้าน ต้นทางที่เล็กที่สุดของโรงเรียน ก็คือห้องเรียน ทำให้โครงการเลือกที่จะไปปลูกฝังเรื่องของการคัดแยกขยะในกลุ่มเด็กๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของครอบครัว และเริ่มจากห้องเรียน ผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ การลดการใช้ ใช้เฉพาะที่จำเป็นหรือหันไปใช้วัสดุทดแทนหรือเพิ่มการใช้ซ้ำให้มากขึ้น การจัดการวัสดุและขยะ เพื่อแยกสิ่งที่ยังใช้ได้ออกจากสิ่งที่จะกลายเป็นขยะจริงๆ ค่อยทิ้ง ซึ่งอาจจะทำให้มีสิ่งที่เป็นขยะจริงๆ ที่ต้องทิ้งเหลือเพียงแค่ 10% จากปริมาณที่ทิ้งอยู่ในทุกวันนี้  และสุดท้าย คือการขยายเครือข่าย เพื่อสร้างแนวร่วมที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดและพฤติกรรมในการผลูกฝังต้นกล้าให้ขยายเป็นวงกว้างออกไป

ส่วนการต่อยอดโครงการต้นกล้าไร้ถัง มาสู่ “ภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง”​ เพื่อต้องการสร้างระบบนิเวศในการจัดการขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยการต่อยอดจากโครงการ และภาคเอกชนอีก 10 ราย ที่แสดงความต้องการร่วมเป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ต่อยอดให้กลายเป็นภาคีด้านการจัดการขยะที่แข็งแกร่งที่สุดในไทย พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศการจัดการขยะครบวงจรตั้งแต่ ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ร่วมเติมเต็มความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ​ประกอบด้วย

1.บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC 2.บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP 3.บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด (Unilever) 4.บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด 5.บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด  6.บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด 7.กลุ่มอำพลฟูดส์ (AMPOLFOOD Group) 8.บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด 9.บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด และ 10.วัดจากแดง

ภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นขยายผลความสำเร็จโครงการต้นกล้าไร้ถังของโรงเรียนอนุบาล ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้โครงการ CONNEXT ED ที่ซีพี ออลล์ ดูแล ซึ่งสามารถช่วยกันปลูกฝังเยาวชนในโรงเรียนให้ช่วยกันลด ละ เลิกการใช้สิ่งที่สามารถกลายมาเป็นขยะ คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง นำสิ่งที่คนมองว่าเป็นขยะ มารียูส รีไซเคิล จัดการเป็นวัสดุอินทรีย์ สร้างรายได้กลับสู่โรงเรียน จนสามารถลดปริมาณขยะจากเดือนละ 15 ตัน เหลือเพียงเดือนละ 2 กิโลกรัม ที่ผ่านมา ได้มีการขยายเครือข่าย ให้โรงเรียน CONNEXT ED นำไปปฏิบัติแล้วจำนวน 2 รุ่น หรือมากกว่า 153 โรงเรียน กำลังขยายสู่รุ่นที่ 3 ในปีนี้เพิ่มอีก 47 โรงเรียน รวมถึงมีโรงเรียนและชุมชนนอก CONNEXT ED อีก 243 แห่ง”

Connect The Dots เชื่อมทั้ง Ecosystem

ขณะที่การขยายเครือข่ายไปยังฝั่งเอกชนในครั้งนี้ นับเป็นการรวบรวมผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศการจัดการขยะเข้าด้วยกันอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการ Connect The Dots แต่ละภาคส่วนที่อยู่ใน EcoSystem ให้มาร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อให้สามารถจัดการขยะได้ทั้งระบบอย่างแท้จริง ซึ่งแต่ละฝ่ายจะรับทบาทตามความเชี่ยวชาญของตนเองเพื่อสร้างองค์ความรู้ และวางแนวทางในการขับเคลื่อนร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแบ่งได้  7 กลุ่ม  ต่อไปนี้

1.กลุ่มผู้ให้ความรู้ เช่น ซีพี ออลล์และโรงเรียนอนุบาลทับสะแก ทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ ประสานหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน สร้างความเข้าใจในแนวการปฏิบัติ เผยแพร่องค์ความรู้ ให้แนวทางการ จัดหลักสูตรท้องถิ่น “ต้นกล้าไร้ถัง” สนับสนุนวิทยากรถ่ายทอดแก่ผู้สนใจ

2.กลุ่มผู้ลงมือปฏิบัติ ได้แก่ โรงเรียนและชุมชนในภาคี ร่วมขับเคลื่อนการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะในโรงเรียน ชุมชนของตัวเอง ทำความสะอาดวัสดุ รวบรวมจัดส่งวัสดุเข้าสู่กระบวนการปลายทาง

3.กลุ่มผู้รับจัดส่งวัสดุและบันทึกข้อมูล ได้แก่ บริการ SpeedD ของเซเว่น อีเลฟเว่น ทำหน้าที่ตัวกลางในการจัดส่งวัสดุให้สมาชิกภาคีไปยังโรงงานรีไซเคิลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) ของ SCGC ดิจิทัลโซลูชันที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูลให้ธนาคารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ  เว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) ช่วยบันทึกปริมาณน้ำหนักวัสดุแต่ละชนิด แปลงค่าออกมาเป็นคะแนน และจำนวนเงิน พร้อมเก็บข้อมูลผู้ฝาก (สมาชิกธนาคาร) ผู้รับซื้อ (ซาเล้ง ร้านค้าย่อย ร้านค้าใหญ่) ประวัติการฝาก รวมถึงคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) ที่ลดลงจากการรีไซเคิล เพื่อสะท้อนผลลัพธ์การจัดการ สู่กลุ่มภาคีเครือข่ายและสังคมเพื่อรับรู้ถึงความก้าวหน้าในโครงการต่อไป

4.กลุ่มผู้รีไซเคิล ได้แก่ อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย, SCGC และ SCGP  ทำหน้าที่รับซื้อ รีไซเคิล หรืออัปไซเคิลวัสดุที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ เช่น กล่องยูเอชที กระดาษ ถุงนมโรงเรียน กระป๋อง ไปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วส่งกลับไปให้โรงเรียนต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

5.กลุ่มผู้รวบรวมจัดเก็บ ได้แก่ วงษ์พาณิชย์ และวัดจากแดง ทำหน้าที่รับซื้อ รับแลกวัสดุประเภทพลาสติก ขวดพลาสติก เศษอาหาร เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ รียูส หรือแปรรูปลักษณะอื่นต่อไป

6.กลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ และกลุ่มอำพลฟูดส์ ทำหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและลูกค้า พร้อมสนับสนุนสินค้าบริโภคอุปโภคและงบประมาณเพื่อให้เกิดกระบวนการในการใช้ประโยชน์ หรือแปรรูปวัสดุประเภทพลาสติกหลายชั้น และขวดพลาสติกประเภท HDPE ซึ่งแต่เดิมไม่มีการรับซื้อจากหน่วยรับซื้อ

7.กลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้แก่บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด ผู้ผลิตกระป๋องอลูมิเนียม, เอส ไอ จี คอมบิบล็อค และเต็ดตรา แพ้ค ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่ม ทำหน้าที่ประสานงานกลุ่มบริษัทองค์กรต่างๆ รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการ และทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการในการจัดเก็บ รวบรวม ส่งต่อ และแปรรูปวัสดุรีไซเคิลไปยังปลายทางให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำ

“ความร่วมมือและการขยายภาคีครั้งนี้นำไปสู่การสร้าง 3 อย่าง คือ 1.ภาคีเครือข่ายด้านการจัดการขยะที่แข็งแกร่งที่สุด 2.ระบบนิเวศการจัดการขยะที่ครบวงจรที่สุด และ 3.Green Learning Network ที่รวบรวมทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน คนในชุมชน มาเรียนรู้ด้านการจัดการขยะร่วมกัน เราตั้งเป้าว่าจะเจรจากับพันธมิตร CONNEXT ED รายอื่นๆ ขยายผลการจัดการขยะตามโมเดลต้นกล้าไร้ถังไปสู่โรงเรียน CONNEXT ED ทั้งหมด 5,567 โรงเรียน ซึ่งคิดเป็น 18% ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. กว่า 3 หมื่นแห่ง ทั่วประเทศ ที่สามารถนำโมเดลไปขยายผลต่อ รวมทั้งการเป็น​ Best Practice ให้ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจนำไปปรับใช้ เพื่อลดปริมาณขยะและมลภาวะอย่างยั่งยืนทุกพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ต้นทาง โดยซีพี ออลล์ จะช่วยเป็นแกนกลาง สนับสนุนงบประมาณ และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการ มาจากการให้ความสำคัญกับการสร้าง Mindset ใหม่ในการมองขยะให้ไม่เป็นขยะ แต่ขยะเป็นทรัพยากรประเภทหนึ่งที่วางไว้ผิดที่ ทำให้ยังไม่มีทางออก และไม่มีทางไป จึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องเข้ามาจัดการทรัพยากรนี้อย่างถูกที่ถูกทาง ประกอบกับ การมีระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแรงและจัดวางทรัพยากรเหล่านี้ไปในที่ทางที่เหมาะสม เพื่อสร้างคุณค่าและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มากกว่าแค่การใช้วิธีการเดิมๆ ในการจัดการขยะรีไซเคิล เช่น นำไปทำงานประดิษฐ์ หรือไปทำของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง และสุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาขยะซ้ำซ้อนตามมาในที่สุด

Stay Connected
Latest News