ดีลอยท์ แนะอาเชียนเร่งขับเคลื่อน ESG ก่อนสูญเสียโอกาสจากปัญหาสภาพอากาศกว่า 1 พันล้านล้านบาท

ดีลอยท์ เผยรายงานฉบับใหม่ ในหัวข้อ ความมุ่งมั่นในการจัดการด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2565” นำเสนอความท้าทายในการจัดการด้านความยั่งยืนที่ประเทศต่างๆ ที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ และความมุ่งมั่นของภาครัฐเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น เพื่อให้ภูมิภาคนี้ได้แสดงศักยภาพในทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

สำหรับความสำคัญของภูมิภาคอาเซียน ทั้งในฐานะที่มีประชากรมากกว่า 60% ของโลก และสร้าง GDP  จากการขับเคลื่อนการบริโภคให้โลกกว่า 40%  รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาหารในฐานะพื้นที่ผลผลิตทางการเกษตรกว่า 3 ใน 4 ของโลก รวมไปถึงฐานของกลุ่มแรงงานกว่า 50% เนื่องจากอายุเฉลี่ยประชากรของภูมิภาคอยู่ที่ 32 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวัยแรงงาน​ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ

อาเซียนเสี่ยงสูงวิกฤตสภาพอากาศ 

นอกจากนี้ อาเซียนยังถือเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีความท้าทายทั้งในเรื่องของการจัดการขยะ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างผลกระทบเชิงบวกในอนาคตได้ ทั้งจากจำนวนประชากรที่มีถึง 660 ล้านคน กว่า 60% มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่า 35 ปี และ 70% จะเข้าไปอาศัยอยู่ในเมือง ภายในปี 2030 ​ขณะที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ด้วยมูลค่ารวมกันมากกว่า 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ​  หรือกว่า  121.6 ล้านล้านบาท ​(อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ = 38 บาท )

“ภูมิภาคอาเซียนมีโอกาสในการสร้าง Ecosystem หรือสภาพแวดล้อมที่สามารถเอื้อไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ แต่หากไม่มีการจัดการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ก็มีโอกาสจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจสูงถึงกว่า 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (มากกว่า 1 พันล้านล้านบาท)  ภายในช่วง 15 ปีนี้  หรือภายในปี 2070 ทั้งจากการสูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะมีมาตรการควบคุมคาร์บอนต่างๆ รวมไปถึงการสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตร และการหยุดชะงักของการลงทุนและภาคการผลิตต่างๆ จากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหา Climate Change”  คุณดุลีชา กุลสุรียา กรรมการผู้จัดการ Center for the Edge Deloitte Southeast Asia กล่าว

พร้อมกล่าวต่อว่า หากในทางกลับกันอาเซียนดำเนินการตามพันธสัญญาด้านสภาพอากาศอย่างเด็ดขาด ร่วมมือกับภาคเอกชน และขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน พวกเขาสามารถขับเคลื่อนกลไกใหม่ของการเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเมินโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นจากการขับเคลื่อนนี้มีสูงถึงกว่า 12.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ​ (475 ล้านล้านบาท) พร้อมขับเคลื่อน GDP ของทั้งภูมิภาคให้เติบโตขึ้นได้กว่า 3.5%​ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นส่งเสริม Green Economy ขณะที่แต่ละประเทศในภูมิภาคนี้เริ่มมีการวางเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์​ หรือ Net Zero ประกอบด้วย บรูไน ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ประกาศเป้าหมายไว้ในปี 2050 ขณะที่อินโดนีเซีย ประกาศปี 2060 ส่วนประเทศไทย ประกาศไว้ในปี 2065 – 2070

รายงานข้อมูลความยั่งยืนของอาเซียน 

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับภาพรวมการจัดการด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ พลังงานและสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ ของเสียและความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยรายละเอียดที่ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้   ประกอบด้วย

– ด้านพลังงานและสภาพอากาศ ภูมิภาคนี้ดำเนินการได้ดีเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับประชากร 660 ล้านคน โดยประเทศต่างๆ ได้ 4 หรือ 5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน อย่างไรก็ตาม การรักษาสิ่งนี้ไว้ในขณะที่ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษข้างหน้า และในขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามเป้าหมายการลดคาร์บอนอีกด้วย ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ

–  ภูมิภาคนี้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ 4 แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเร่งด่วนเพื่อมองหาแนวทางการเติบโตที่ยั่งยืนโดยไม่สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งยังพบว่าความคืบหน้าในปัจจุบันและเป้าหมายของประเทศที่มีการวิเคราะห์ในแง่ของการอนุรักษ์มหาสมุทร ระบบนิเวศบนบก และป่าไม้ ไม่เชื่อมโยงกันอีกด้วย

– การจัดการทรัพยากรน้ำและของเสียยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับบางประเทศ อย่างไรก็ตาม เศษอาหารเป็นปัญหาใหม่ซึ่งรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเพิ่งจะเริ่มสามารถจัดการได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้น

– ในมิติความเท่าเทียมทางเพศ มีความคืบหน้าอย่างมากในการยุติการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการกระทำที่เป็นอันตรายทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการในด้านการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันและการส่งเสริมด้านการศึกษา สุขภาพ และเศรษฐกิจมากขึ้น แม้ว่าบทบาทในการเป็นตัวแทนทางการเมืองจะยังมีความคืบหน้าในระดับต่ำ

ข้อมูลเชิงลึกสำหรับประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ที่มีการขับเคลื่อนนโยบาย ​Bio-Circular-Green หรือ BCG​ ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งดำเนินการทั้งในทางปฏิบัติ นโยบาย และอุตสาหกรรม​ทำให้มีผลดำเนินงานการจัดการความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน 5 ด้านสำคัญในระดับที่ดี

ประกอบกับการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่ครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง 17 ข้อ รวมทั้งวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้มีการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน

นอกจากนี้แนวโน้มการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศจะขึ้นอยู่กับ การขับเคลื่อนนโยบาย BCG​ ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งดำเนินการทั้งในทางปฏิบัติ นโยบาย และอุตสาหกรรม

– ประเทศไทยยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลกต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางธุรกิจเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสะอาดอีกด้วย ​

– การขยายเขตเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับการพัฒนาประเทศ  ขณะที่การขยายเขตเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่ นำโดยเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของเขตเมืองทั้งหมดในประเทศ โดยข้อมูลปี พ.ศ. 2563 ประชากรมากกว่า 50% อยู่ในเขตเมือง และประเทศไทยกำลังเผชิญกับอัตราการขยายเขตเมืองที่ลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากมีสัดส่วนของประชากรจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และความท้าทายอื่นๆ ยังไม่ได้รับการจัดการ เช่น การจัดหาน้ำเพื่อให้บริการในพื้นที่ และการจัดการของเสียในเขตเทศบาลอย่างมีประสิทธิภาพ

– เป้าหมายที่รัฐบาลไทยเรียกว่า ‘Thailand 4.0’ เพิ่มการเข้าถึงโอกาสในการจ้างงานที่ดีขึ้นและการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมของผู้หญิงที่เป็นกำลังแรงงาน ซึ่งอยู่ที่ 59% ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม  การเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกันทั้งสังคมนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อกระจายทรัพยากรสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

คุณกษิติ เกตุสุริยงค์ Sustainability & Climate Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “โมเดล Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เราเริ่มเห็นการริเริ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนวาระ BCG ไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แต่เราจำเป็นต้องมีการลงทุนมากขึ้นและระบบนิเวศที่เข้มแข็งขึ้นสำหรับการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการตามแนวทางการลดคาร์บอนของเราเป็นไปตามเป้าหมาย

เพื่อให้สอดคล้องกับโมเดล BCG และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล สำรวจทางเลือกการประเมินค่าเศษอาหารให้มีมูลค่าสูงขึ้น และขยายเครือข่ายน้ำเสียผ่านโครงการสาธารณูปโภคและขีดความสามารถทางเทคนิคของอาคาร ดังนั้นจึงมีโอกาสอีกมากมายที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย”

สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

Stay Connected
Latest News