Qualy ร่วมสร้าง Butterfly Effect ​พร้อมเปิดตัว ‘แจกันหลอดแก้วจากห้องแล็บ’ ไอเดียใหม่ลด Waste จากต้นน้ำอุตสาหกรรมอาหารที่หลายคนมองข้าม

สร้างความฮือฮาอย่างมาก จากการเปิดตัว ‘พระสติ’ ที่แฝงด้วยแนวคิดเชิงปรัชญา ‘การเวียนว่ายตายเกิดของทรัพยากร’ ในงาน Bangkok Design Week เมื่อปีที่ผ่านมา

มาปีนี้แบรนด์ Qualy (ควอลี่) ได้ต่อยอดแนวคิดขับเคลื่อนสังคม Circularity เพื่อลดการสร้างขยะอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะจากกลุ่มธุรกิจอาหาร ให้สอดคล้องกับธีมหลัก “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี” ของงาน Bangkok Design Week 2023 (BKKDW 2023)

เปิดไอเดียลด Waste ต้นน้ำอุตสาหกรรมอาหาร
การเลือกโฟกัสในกลุ่มธุรกิจอาหารนั้น คุณไจ๋- ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและ Design Director บริษัท นิว อาไรวา จำกัด เจ้าของแบรนด์ Qualy ให้ข้อมูลว่า อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ของคนเมือง และยังมีทั้งความถี่และปริมาณในการสร้างขยะจำนวนมาก ทั้งในระดับบุคคลหรือระดับอุตสาหกรรม

คุณไจ๋- ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและ Design Director Qualy

เทียบกับสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวต่างๆ ที่การใช้ในแต่ละขวดกว่าจะหมดก็อาจจะเป็นเดือนๆ หรือหลายเดือน แต่ขยะจากกลุ่มอาหารเกิดขึ้นทุกวัน แต่ละวันก็มากกว่าหนึ่งครั้ง ทำให้มีขยะจากธุรกิจนี้จำนวนมหาศาล ทั้งจากวัตถุดิบเอง บรรจุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการประกอบอาหาร หรือเพื่อใช้ในร้านอาหาร ร้านกาแฟต่างๆ หรือแม้แต่ในช่วง Pre-production ของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องมีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งก็สร้างขยะจำนวนมากไม่ต่างกัน และเป็นจุดที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน

แบรนด์ Qualy จึงเลือกโชว์เคสผ่าน ‘Circular Cafe’ เพื่อนำเสนอไอเดียการดีไซน์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะจากกลุ่มธุรกิจกาแฟที่มีทั้งกากกาแฟ ถุงบรรจุเมล็ดกาแฟ แก้วใส่กาแฟ หลอดพลาสติก ถุงพลาสติก ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเพื่อต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งร้าน จานรองแก้ว ชั้นวางของ หรือแม้แต่อุปกรณ์ตกแต่งสวนจากขยะพลาสติกอย่าง ก้อนหิน Re-rock หรือโคมไฟ รวมทั้งขยะในกลุ่มวัสดุที่เป็นแก้ว เช่น ขวดใส่เครื่องดื่มประเภทต่างๆ ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้งานใหม่ หรือนำไปทำเป็นสารเคลือบชิ้นงานให้มีความมันแววได้

พร้อมเปิดตัวไอเดียใหม่เป็นครั้งแรกกับ ‘แจกันหลอดแก้วจากห้องแล็บ’ ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นการขยับไปช่วยลด Waste ได้ตั้งแต่ต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และในธุรกิจมักจะมีห้องแลปสำหรับการวิจัยหรือพัฒนาต่างๆ ทำให้มีการใช้งานหลอดแก้วเช่นนี้จำนวนมาก ซึ่งมักจะใช้บรรจุสารอาหาร สำหรับการใช้เพาะเลี้ยงเชื้อต่างๆ และส่วนมากจะเป็นการใช้แบบ Single-use คือใช้แล้วทิ้ง ทำให้มีขยะจากหลอดแก้วในแต่ละเดือนเป็นหลักหมื่นชิ้นในแต่ละบริษัท และเป็นหนึ่งในต้นทุนที่บริษัทต้องจ้างเพื่อนำไปทิ้ง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะนำ Waste เหล่านี้ไปต่อยอดอย่างไรได้

“แจกันหลอดแก้ว เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ช่วยตอกย้ำแนวคิด ‘การเวียนว่ายตายเกิดของทรัพยากร’ ด้วยการเปลี่ยนจากหลอดแก้วที่ใช้แล้วทิ้ง ให้กลับมามีคุณค่าได้ใหม่ด้วยการเป็นแจกันหลอดแก้วดีไซน์เก๋อย่าง แจกันทรงเห็ด ซึ่งเห็ดเป็นพืชในกลุ่มตระกูลฟังไจ (Fungi) ที่มักจะขึ้นอยู่ตามสิ่งที่ตายแล้ว กลายเป็นความหมายที่ซ่อนไว้ในงานดีไซน์ เหมือนกับเห็ดที่มาขึ้นอยู่บนหลอดแก้วที่ตายไปแล้วนั่นเอง โดยที่เห็ดเหล่านี้ก็ผลิตมาจากพลาสติกรีไซเคิลด้วยเช่นเดียวกัน”

Butterfly Effect ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก
อีกหนึ่งความตั้งใจในงาน BKKDW 2023 ของ Qualy คือ การเร่งสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการมีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะ หรือการแยกขยะด้วยตัวเอง โดยสื่อสารผ่านแนวคิด Butterfly Effect ตามทฤษฎี ผีเสื้อขยับปีก ที่แค่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของทุกคน ก็สามารถสร้างให้เกิด Big Impact ให้แก่โลกได้ โดยใช้แม็กเน็ตรูปผีเสื้อจากพลาสติกรีไซเคิล นำมาติดเรียงกันจนกลายเป็นผีเสื้อขนาดใหญ่ที่สวยงามมากขึ้นได้

ขณะที่การขับเคลื่อนเพื่อสร้าง Social Impact ที่มากขึ้นของ Qualy ในปีนี้ จะเน้นให้เชื่อมโยงไปในมิติของผู้คนในสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหมึกวาดภาพแบบพิเศษ ที่เมื่อวาดแล้วจะมีความนูนจากพื้นขึ้นมา เพื่อช่วยเสริมจินตนาการให้กลุ่มคนตาบอด หรือกลุ่มที่มีปัญหาในเรื่องของการมองเห็น รวมทั้งการทำงานร่วมกับพันธมิตรมากขึ้น เช่น มูลนิธิกระจกเงา ผ่านโครงการชรารีไซเคิล เพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่มผู้สูงอายุไร้บ้านมาช่วยคัดแยกขยะ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในผลิต หรือการต่อยอดกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากซากแห-อวน เพื่อนำผลิตภัณฑ์ส่งต่อให้โรงเรียน หรือชุมชน เพื่อช่วยกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กๆ หรือเยาวชนในพื้นที่ได้เห็นประโยชน์จากการแยกขยะ ที่ทั้งช่วยเพิ่มรายได้ และยังสามารถสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มแบบจับต้องได้


“การขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนมีทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เราสามารถตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่งแล้ว เหลือเพียงการกระตุ้นให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนให้มากขึ้น ดังนั้น ในปีนี้จะเพิ่มน้ำหนักในมิติของสังคมเพิ่มมากขึ้น และทำควบคู่กันไปกับความแข็งแรงที่ทำอยู่ เพื่อสร้าง Positive Impact ในหลายมิติได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการส่งต่อและมีความเป็น Universal ได้เพิ่มมากขึ้น”

Stay Connected
Latest News