เปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดในเอเชียแปซิฟิกยังท้าทาย หลายประเทศนโยบายยังไม่นิ่ง แถม 59% องค์กรอาเซียนเชื่อรัฐยังหนุนใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

รายงานด้านพลังงานในเอเชียแปซิฟิกเรื่อง “เป้าหมายทางสภาพภูมิอากาศในเอเชียแปซิฟิกตกอยู่ในความเสี่ยง – ความจำเป็นอันเร่งด่วนในการทำข้อตกลงเชิงรุก” ซึ่งจัดทำขึ้นช่วงปลายปี 2565

โดย เบย์วา อาร์.อี. ผู้พัฒนา ผู้ผลิตพลังงานอิสระ ผู้ให้บริการ และผู้จัดจำหน่ายพลังงานทดแทนระดับโลก และ Kantar บริษัทที่ปรึกษาและผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นการสำรวจผู้มีอิทธิพลในการตัดสินใจด้านพลังงาน 346 คน ในองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน ในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

โดยผลการศึกษาพบว่า ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากแรงต้านและแรงกดดันในภูมิภาค เช่น ปัจจัยทางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ตลอดจนราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวน ทำให้แผนการเดินหน้าเปลี่ยนแปลงและเป้าหมายทางสภาพภูมิอากาศกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงครั้งใหญ่ อีกทั้งนโยบายภาครัฐที่ไม่ต่อเนื่องยังทำให้บริษัทต่างๆ ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันเพื่อผลักดันเป้าหมายความยั่งยืนให้บรรลุผล

นิรันพัล ซิงห์ ผู้จัดการทั่วไป เบย์วา อาร์.อี. เอ็นเนอยี่ โซลูชั่น ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า “ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อ ยังคงเป็นแรงต้านหลักต่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อุปสรรคเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากองค์กรและภาครัฐเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว รายงานด้านพลังงานในเอเชียแปซิฟิกฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่าผู้นำองค์กรได้รับแรงจูงใจให้ประสานกับพันธมิตรและคู่แข่ง เรียกร้องให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net-Zero เราหวังว่าข้อเรียกร้องอันเร่งด่วนครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้การใช้พลังงานสะอาดในเอเชียแปซิฟิกรุดหน้ายิ่งขึ้น”

ข้อมูลสำคัญจากรายงาน

การดำเนินงานของรัฐบาลที่ล่าช้าทั้งด้านนโนบายพลังงานหมุนเวียน นโยบายที่คาดเดาได้ยาก และสิ่งแวดล้อมในตลาดท้องถิ่น เป็นอุปสรรคต้นๆ ในสัดส่วน 36% และ 33% ตามลำดับ โดยพบว่า

ผู้ตอบแบบสอบถาม 59% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าแทนที่จะผลักดันนโยบายพลังงานสีเขียว รัฐบาลในภูมิภาคนี้จะเพิ่มการสนับสนุนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ขณะที่องค์กรในโอเชียเนียและเอเชียตะวันออก 47% เชื่อว่าการสนับสนุนของรัฐบาลด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังคงไม่แน่นอนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนการปรับเปลี่ยนสู่พลังงานสีเขียว 42% ขององค์กรในเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าภาษีของรัฐบาลด้านพลังงานสีน้ำตาลจะสนับสนุนการผลักดันขององค์กรไปสู่พลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ ยังพบสัญญาณจากองค์กรต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ที่ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นความท้าทายและอุปสรรคที่ต้องเอาชนะ โดยองค์กรเกือบครึ่งหนึ่งที่สำรวจให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน โดยองค์กรในเอเชียแปซิฟิก 48% มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่า 40% ภายในทศวรรษนี้ และองค์กรภายในกลุ่มนี้ 79% ตั้งเป้าที่จะบรรลุผลด้านพลังงานหมุนเวียนในอีก 5 ปีข้างหน้า

องค์กรส่วนใหญ่ยังมองเห็นคุณค่าในการเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกพลังงานที่สะอาดกว่า โดย 54% สรุปว่าพลังงานหมุนเวียนจะทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดเห็นด้วยว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนจะทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจบางประเภท และอีก 42% เสนอว่าพลังงานสีเขียวจะทำให้องค์กรได้เปรียบในการสรรหาบุคลากรและการรักษาทาเลนท์ ​ขณะที่พลังงานโซล่าร์บนหลังคาเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะกลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ถูกกว่ารัฐอุดหนุน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เร่งเดินหน้าแผนเปลี่ยนผ่าน

ผู้นำองค์กรที่ได้ร่วมทำแบบสำรวจในรายงานฉบับนี้ ตระหนักถึงความต้องการที่มากขึ้นในการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรและคู่แข่ง และเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทั้งนี้ สองในสาม (68%) ของบริษัทที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานหมุนเวียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าบริษัทต่างๆ ควรจัดตั้งแนวร่วมและทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเดียวกันยังระบุว่า สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกทำงานร่วมกันเพื่อจัดหาพลังงานหมุนเวียน

รายงานฉบับดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า ทศวรรษหน้าถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภูมิภาคในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน แต่ยังมีความท้าทายจากหลากหลายปัญหา เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือกระทั่งวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายกว่าเดิม

การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานยุคเก่าถือเป็นเรื่องสำคัญและควรต้องเร่งเดินหน้าอย่างจริงจัง ผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรต้องกล้าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภายในเอเชียแปซิฟิกและรวมพลังทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ร่วมมือและกดดันภาครัฐ เร่งรัดกระบวนการและขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนให้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว

Stay Connected
Latest News