บางจากฯ ทุ่ม 1 หมื่นล้าน บุกเบิกเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF รายแรกของไทย คาดผลิตได้วันละ 1 ล้านลิตร ย้ำผู้นำพลังงานแห่งอนาคต

กลุ่มบางจากเดินหน้าผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย เดินหน้าสู่ผู้นำพลังงานแห่งอนาคต ภายใต้เม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มผลิตได้ปีหน้า กำลังผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน

พร้อมจัดพิธีลงนามในสัญญาก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนระหว่าง บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ​บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด ผู้ร่วมลงนามในสัญญาครั้งนี้คือ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรมและก่อสร้างโรงงานจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับบางจากฯ มากว่า 20 ปี ​​เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมการบิน ตอบโจทย์ BCG Economy Model ครบทั้ง 3 ด้าน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว หรือ SAF เป็นอย่างมากในฐานะเชื้อเพลิงสำคัญที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ​โดยในปีที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมนี้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act of 2022 – IRA) ในสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนผู้ผลิตด้วยการกำหนดภาษีในการผลิต 1.75 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน

ขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปมีการใช้มาตรการบังคับให้ผสม SAF ลงไปในน้ำมันอากาศยานทั่วไปในสัดส่วนอย่างน้อย 2% ในปี 2568 และกำหนดให้เพิ่มเป็น 5% ในปี 2573 จนถึงปี 2593 ที่ต้องผสมอยู่ที่ 70% ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายให้เครื่องบินสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้สนามบินญี่ปุ่นจะต้องมีสัดส่วนการใช้ SAF อยู่ที่ 10% ภายในปี 2573

“การก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF ของบางจากถือเป็นการร่วมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการบินในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามแผนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) เช่นเดียวกัน ซึ่งภายในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก จะใช้เทคโนโลยีในการปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้ว (Pre-Treatment) ของบริษัท Desmet ประเทศมาเลเซีย โดยรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้วจากครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” และช่องทางอื่นๆ และเทคโนโลยีกระบวนการกำจัดออกซิเจน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแตกโมเลกุลด้วยไฮโดรเจนด้วย UOP Ecofining Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนของบริษัท Honeywell UOP ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 ภายใต้เม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท”

แนวทางดังกล่าว ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบางจาก​ฯ​ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อภารกิจในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศและความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเกือบ 4 ทศวรรษ โดยยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองภารกิจดังกล่าว ภายใต้วิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” ​โดยมีกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการค้าน้ำมันเป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก และได้พัฒนาผ่าน generation ต่างๆ จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงเริ่มต้น สู่ยุคที่ 1 นำเอทานอลหรือไบโอดีเซลมาผสมในเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นรายแรกในประเทศไทย จนเป็นที่ยอมรับในฐานะ ‘ผู้นำพลังงานทดแทน’ และกำลังก้าวสู่ความเป็น ‘ผู้นำพลังงานแห่งอนาคต’

ขณะที่การก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 ของโรงกลั่นด้วยการบุกเบิกการผลิตน้ำมันสำหรับอากาศยานที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 80% ตลอดวงจรชีวิต เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอากาศยานที่ผลิตจากฟอสซิล และเป็นการต่อยอดน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหารผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” ที่เปิดให้​พี่น้องประชาชน​นำน้ำมันพืชใช้แล้วมาขายในสถานีบริการน้ำมันบางจากและจุดรับซื้อในโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” เพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF ช่วยรักษาสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้เสริมอีกด้วย

นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การลดการปล่อยคาร์บอนนับเป็นภารกิจสำคัญของทุกภาคส่วน หน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF เป็นอีกหนึ่งก้าวที่สะท้อนรูปธรรมที่ชัดเจนของการดำเนินงานตามแผน BCP 316 NET ของบางจากฯ เพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2593 และยังเป็นการบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ทั้ง 3 ด้าน คือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน”

สำหรับพิธีลงนามดังกล่าว นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด และ นายวันชัย รตินธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมลงนาม และมี นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นางเกว็นโดลิน คาร์ดโน อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นายแบร์รี่ กลิคแมน ผู้จัดการทั่วไป Sustainable Technology Solutions บริษัท Honeywell UOP สหรัฐอเมริกา นาย คู เกี๊ยก เกิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท Desmet (ภูมิภาคเอเชียตะวันออเฉียงใต้และจีน) ร่วมเป็นสักขีพยาน และผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้เกียรติร่วมงาน

Stay Connected
Latest News