ทำความรู้จักระบบนิเวศ Blue Carbon ศักยภาพของ ‘ป่าชายเลนและหญ้าทะเล’ ที่ดูดซับคาร์บอนดีกว่าป่าไม้ 5-10 เท่า และต่อยอดมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 4.8 แสนล้านบาทต่อปี

ระบบนิเวศ Blue Carbon Ecosystem (BCE) ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเล เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ และต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับระบบนิเวศบนบก

ขณะที่ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Blue Carbon Credits ที่ได้จากการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero GHG Emissions ขณะที่การฟื้นฟูระบบนิเวศ BCE ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายประการ อาทิ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และธรรมชาติ การทำประมงที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี

การศึกษาเรื่อง ‘Blue Carbon ทางเลือกในการกักเก็บคาร์บอน และโอกาสทางธุรกิจ’ โดย คุณชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์จาก Krungthai COMPASS ระบุว่า Blue Carbon Ecosystem เป็นระบบนิเวศตามป่าชายเลน ที่ลุ่มน้ำเค็ม ที่ราบน้ำท่วมถึง และหญ้าทะเล ​มีประสิทธิภาพสูงในการทำหน้าที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนในรูปของมวลชีวภาพและการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดินลึกหลายเมตร โดยที่คาร์บอนจะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในชั้นตะกอน หากสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศไม่ได้ถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ หรือกิจกรรมของคน ต่างจากระบบนิเวศบนบกที่แม้ว่าจะกักเก็บคาร์บอนในชีวมวลได้เช่นกัน แต่จะปล่อยคาร์บอนกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย

Credit : Krungthai COMPASS

ซึ่งผลการวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมาชี้ว่า ระบบนิเวศ Blue Carbon มีศักยภาพในการกักเก็บ คาร์บอนได้สูงกว่าป่าไม้ราว 5-10 เท่า เนื่องจากสามารถ ดึงคาร์บอนประมาณ 50-90% ไปกักเก็บไว้ในใต้ดินที่มีน้ำทะเลท่วมขัง ซึ่งช่วยชะลอการเน่าเปื่อยของอินทรีย์วัตถุ และช่วยเพิ่มปริมาณการสะสมคาร์บอนในดิน

สอดคล้องกับงานวิจัยของ McKinsey & Company ​ในปี 2022​ ประเมินไว้ว่า กิจกรรมฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็มรวมทั้งโลก จะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนราว 0.4-1.2 กิกะตัน หรือ 0.4-1.2  ล้านล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2 ) ต่อปี ภายในปี 2050 ขณะที่ต้นทุนสุทธิที่ต้องจ่ายเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2 ) ของ Blue Carbon ​​เช่น การฟื้นฟู หรืออนุรักษ์ป่าชายเลน หรือหญ้าทะเล ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2  ซึ่งสามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับกิจกรรมการกักเก็บ คาร์บอนในระบบนิเวศบนบก รวมทั้ง​ราคาซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตที่จูงใจ ​ตามข้อมูลของ Abatable พบว่าราคาคาร์บอนเครดิตจาก Blue Carbon โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 ​ขณะที่โครงการบางประเภทมีราคาซื้อขายสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 เลยทีเดียว

ทั้งนี้ ระบบนิเวศ Blue Carbon กระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่ราว 185 ล้านเฮกตาร์ และมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้สูงกว่า 3 หมื่นล้านล้านตันคาร์บอน ขณะที่ประเทศไทยมีระบบนิเวศ Blue Carbon ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเล ซึ่งอยู่ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลหรือหมู่เกาะต่างๆ โดยการประเมินของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่า ไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนราว 1.74 ล้านไร่ โดยบางส่วนจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูจากการบุกรุกและใช้ประโยชน์รูปแบบต่างๆ ​พร้อมประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งหญ้าทะเลอยู่ราว 160,628 ไร่ ขณะที่ข้อมูลในปี 2564 ที่ผ่านมา มีพื้นที่หญ้าทะเลเพียง 99,325 ไร่ แสดงว่ายังมีพื้นที่อีก 38% ที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลายเป็นระบบนิเวศที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้

ทำให้ ทช.​ ​เดินหน้า “โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ในพื้นที่ 23 จังหวัด​จำนวน 3 แสนไร่ ระหว่างปี 2565 – 2574 ​และในปีที่ผ่านมา ได้จัดสรรพื้นที่ 4.1 หมื่นไร่ ให้ภาคเอกชน 14 ราย เข้าร่วมโครงการ​ เพื่อรับประโยชน์จากการชดเชยคาร์บอนเครดิตในอนาคต ทั้งการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือสร้างรายได้การการขายคาร์บอนเครดิต โดยพบว่า​ป่าชายเลนมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4  ตันคาร์บอนไดออกไซต่อไร่ต่อปี ซึ่งหากโครงการดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 3 แสนไร่ คาดว่าจะได้ปริมาณคาร์บอนที่กับเก็บไว้ในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี และเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่สามารถนำไปทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถพิชิตเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net-Zero GHG Emissions ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ การฟื้นฟูระบบนิเวศ BCE ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายประการ อาทิ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และธรรมชาติ การทำประมงที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่า 4.8 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ​

Stay Connected
Latest News