ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ผู้ประกอบการไทย แค่ 1 ใน 4 เท่านั้น ที่มีการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ผลสำรวจการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มีผู้ประกอบการจากการสำรวจเพีย​ง 1 ใน 4 หรือ 25% เท่านั้น ที่เริ่มปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการของบริษัท​

ซึ่งในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหรือ 55%​ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการวัดและจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์จากการดำเนินงานของบริษัท สะท้อนถึงความท้าทายของการไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ​ของประเทศ​ เพื่อมุ่งสู่ Net zero

ทั้งนี้ พบว่าแนวทางการขับเคลื่อนของภาคเอกชนเพื่​อลดการปล่อย GHG มากที่สุดอันดับแรกคือ ​การปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้เชื้อเพลิงและพลังงานหมุนเวียน โดยมีจำนวนถึง 64% ของกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการสำรวจ ตามมาด้วยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ราว 45%-55% ​มองว่าผลของการดำเนินการดังกล่าวมีผลในการเพิ่มต้นทุนในกรอบไม่เกิน 10% จากกรณีปกติ และอีกราว 18%-27% ของผู้ตอบ มองว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นในกรอบ 10-30% ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินการ ​ซึ่งหากมีนโยบายสนับสนุนที่จูงใจมากพอ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลด GHG ของผู้ประกอบการได้ดีมากยิ่งขึ้น

โดยสิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการ คือ กำหนดเป้าหมาย Net Zero ขั้นต่ำลงในระดับอุตสาหกรรมให้ชัดเจน รวมทั้งระดับการปล่อย GHG โดยในปี 2563 มีการปล่อยจำนวน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

ขณะที่การวาง​ Road Map ยังคงมุ่งเน้นที่ภาคพลังงาน และผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ดังนั้น การจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ​ จำเป็นต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่ภาคพลังงาน แต่ต้องบูรณาการให้ครอบคลุมทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

โดยอาจเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อย Emission ขั้นต่ำที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และมีการสร้างแผนงานที่ชัดเจนและร่วมกันทำงานระหว่างหน่วยงานของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งควรเร่งวางแนวทางขับเคลื่อนภาคธุรกิจ รับมือกับโจทย์ด้านนโยบาย/มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากต่างประเทศ ​ถึงแม้ว่าไทยจะมีการดำเนินโครงการประเภท Decarbonization หรือ Clean Technology บ้างแล้ว แต่เป็นการดำเนินการเพื่อเป้าหมาย Carbon Neutral หรือ ของภาคเอกชนไทยเป็นหลัก และอยู่ในรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) ที่ไม่มีข้อกำหนด หรือระเบียบจากภาครัฐมาบังคับปฏิบัติ ดังนั้น การสร้างความคืบหน้าในระดับประเทศจึงยังอยู่ในวงจำกัด

โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลออย่างยิ่ง ​ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่จะเริ่มให้รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียูในเดือนตุลาคม 2566 นี้ ​รวมทั้งการเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569 แต่ปัจจุบัน ยังขาดการ​สื่อสารนโยบายจากภาครัฐเพื่อมาดูแลกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ ว่าควรต้องดำเนินการเช่นไร ด้วยมาตรฐานใด เพื่อช่วย​ผู้ประกอบการ SMEs ที่เชื่อมโยงอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมรายใหญ่ ให้สามารถปรับตัวได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ทัน และรักษาส่วนแบ่งในตลาดส่งออกไว้ได้

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายจูงใจและชดเชยผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด แม้จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อภาระทางการคลัง เนื่องจากในการมุ่งเน้นให้ภาคพลังงานหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น อาจส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ผ่านนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จูงใจกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอาจส่งผ่านไปยังค่าไฟของประชาชน​

 

Stay Connected
Latest News