สตาร์บัคส์ เปลี่ยนสาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเป็น ‘ร้านกาแฟเพื่อชุมชน’ แบ่งรายได้ 10 บาท จากทุกแก้ว​ช่วยชาวไร่กาแฟ พร้อมส่งเสริมโภชนาการอาหารในชุมชน

สตาร์บัคส์ ประเทศไทย  พลิกโฉมร้านแฟล็กชิปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา รีเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม​ เป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ฉลองดำเนินธุรกิจในไทยครบ 25 ปี  พร้อมตั้งเป้าขยายสาขาทั่วประเทศครบ 800 สาขา พร้อมสร้างร้านกาแฟเพื่อชุมชน 8 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2573

คุณเนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสตาร์บัคส์ทั่วประเทศมีสาขารวม 465 สาขา มีพนักงานรวมกว่า 4,300 คน เพื่อร่วมกันให้บริการลูกค้ามากกว่า 8 แสนคนในแต่ละสัปดาห์  โดยมีแผนขยายจำนวนร้านให้ครบ 800 แห่ง เพื่อ​เร่งการเติบโตของตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีพลวัตมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยได้พลิกโฉมสาขาแฟล็กชิป​อย่างสตาร์บัคส์  รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา รีเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย​​ มาเป็นร้านกาแฟสตาร์บัคส์เพื่อชุมชน (Starbucks Community Store) แห่งที่ 2 ​นับจากมีร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งแรกที่หลังสวน กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2556 โดยวางเป้าหมายเปิดร้านกาแฟเพื่อชุมชนให้ได้ทั้งหมด 1,000 แห่งทั่วโลกภายในปี พ.ศ.2573 โดยจะอยู่ในประเทศไทย 8 สาขา

โดยการดำเนินงานของร้านสตาร์บัคส์เพื่อชุมชน จะแบ่งรายได้ 10 บาท จากการจำหน่ายกาแฟทุกแก้วเพื่อแบ่งปันให้​ 2 องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสัดส่วนเท่ากัน ได้แก่ มูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (Integrated Tribal Development Foundation – ITDF) และ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance – SOS)  ซึ่งตั้งแต่เปิดสาขาแรกที่หลังสวน ในปี 2556 ได้มอบเงินสนับสนุนให้แก่ชุมชนไร่กาแฟในภาคเหนือของประเทศไทย ผ่านมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (ITDF) ​รวมกันไปแล้วกว่า 17 ล้านบาท  และทางมูลนิธิฯ ได้นำเงินไปใช้กับโครงการต่างๆ เช่น น้ำดื่มสะอาด โรงเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวก การฝึกอบรมชาวบ้านและผู้ประสานงานด้านการเพาะปลูกกาแฟ เพื่อสนับสนุนการควบคุมคุณภาพกาแฟ และหลักปฏิบัติ C.A.F.E. ในกลุ่มชาวไร่กาแฟ  ซึ่งนอกจากเงิน​สนับสนุนจากยอดขายจากร้านกาแฟเพื่อชุมชนแล้ว ยังมาจากการ Sharing ยอดขาย 5% ของเมล็ดกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ จากร้านกาแฟเพื่อชุมชนสาขาแรกนี้ ซึ่งเป็นเมล็ดกาแฟที่มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มชุมชนไร่กาแฟในภาคเหนือเช่นเดียวกัน

“ร้านกาแฟสตาร์บัคส์เพื่อชุมชน (Starbucks Community Store) ออกแบบมาให้เป็นสาขาที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พาร์ทเนอร์หรือพนักงาน กลายเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยรอบในรูปแบบเฉพาะซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่โลเกชั่นแต่ละ​สาขา เพื่อยกระดับการรังสรรค์กาแฟและเครื่องดื่มที่ดีต่อไปในอนาคต ควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบเชิงบวก​ให้กับชุมชนท้องถิ่น พร้อม​แบ่งปันรายได้จากการดำเนินงานคืนกลับให้สังคม เพื่อตอกย้ำคำมั่นสัญญาในการเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างลูกค้า และผู้คนในชุมชนหลากหลายวัฒนธรรม เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในชุมชนโดยรอบสาขา และชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทย ผ่านธุรกิจร้านกาแฟอย่างต่อเนื่อง”​

ด้านความร่วมมือกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ด้วยความตั้งใจให้ทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และลดปริมาณขยะจากอาหารสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ​โดยได้รวบรวมอาหารที่ยังไม่ได้จำหน่ายจากร้านสตาร์บัคส์สาขาที่ร่วมรายการในกรุงเทพฯ หัวหิน เชียงใหม่ และภูเก็ต ​ส่งมอบให้กับชุมชนที่ต้องการ โดยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบัน อาหารกว่า 18,000 กิโลกรัมได้ถูกส่งต่อไปยังชุมชนที่ขาดแคลน และมูลนิธิสตาร์บัคส์ ยังได้บริจาคเงินอีกกว่า 1.45 ล้านบาท (44,620 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) สนับสนุนโครงการครัวรักษ์อาหาร (SOS Rescue Kitchen) เพื่อส่งเสริมโภชนาการอาหารในชุมชนอีกด้วย

นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ยังได้ร่วมงานกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (Books for Children) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ผ่านกิจกรรมการอ่านในชุมชน การจัดสรรมุมหนังสือ และห้องสมุดให้กับชุมชนมาอย่างยาวนาน  และเมื่อเร็ว ๆนี้ โครงการเงินช่วยเหลือชุมชนทั่วโลก (Global Community Impact Grants) จากมูลนิธิสตาร์บัคส์ ก็ได้สนับสนุนการขยายโครงการ Reading Hero สู่เยาวชนและครอบครัวในชุมชนด้อยโอกาส อีกด้วย

วางกรอบขับเคลื่อนร้านกาแฟสีเขียว (Starbucks Greener Store)

นอกจากมิติทางด้านสังคมแล้ว สตาร์บัคส์ ประเทศไทย มุ่งมั่นส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนผ่านการลดการปล่อยคาร์บอน น้ำเสีย และของเสีย โดยเริ่มจากการปฏิบัติตามแนวทาง ร้านกาแฟสีเขียว (Starbucks Greener Store) ในประเทศไทย  ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund – WWF) ​ประกอบด้วยชุดมาตรฐานที่อิงตามผลการปฏิบัติงาน 25 ชุด ที่ครอบคลุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายด้าน เช่น ประสิทธิภาพพลังงาน การดูแลน้ำ และการแยกของเสีย ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ร้านสาขาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง และสนับสนุน เป้าหมายปี พ.ศ. 2573  ของสตาร์บัคส์ ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการผลิตหรือการให้บริการ (Carbon Footprint)  พร้อมลดการใช้น้ำและของเสียลง 50%

ปัจจุบัน สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ได้รับรองร้านกาแฟสีเขียวทั้งหมด 3 แห่ง ที่ดำเนินการโดยใช้ไฟฟ้าที่มีความสามารถในการตรวจสอบพลังงานที่แม่นยำ เพื่อระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System – EMS) อย่างละเอียด ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์เพื่อรักษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้พลังงานในระดับสูง ระบบนี้จะช่วยให้ร้านค้าสามารถระบุจุดการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมช่วยควบคุมและอนุรักษ์การใช้พลังงานต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ยังสนับสนุนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นให้กับลูกค้าผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการบรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ในร้าน (For-Here-Ware) และการรณรงค์การใช้ Reusable Cup โดยลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้านจะได้รับส่วนลด 10 บาท รวมถึง โครงการ Grounds for Your Garden ที่ลูกค้าสามารถรับถุงกากกาแฟไปบำรุงสวนที่บ้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น

ในภาพจากซ้าย – คุณไมเคิล แมนน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน, คุณสุมนพินท์ โชติกะพุกกณะ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร สตาร์บัคส์ ประเทศไทย, คุณเนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย และคุณเจมส์ เลย์สัน กรรมการผู้จัดการมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์
Stay Connected
Latest News