เยอรมนีขาดแคลน​พลาสติกรีไซเคิล วงการเครื่องดื่มร้องขอสิทธิ์การซื้อลำดับแรก หวั่นกระทบเป้าหมายใช้ rPET ผลิตบรรจุภัณฑ์

วงการเครื่องดื่มในเยอรมนี กำลังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์​ พร้อมเรียกร้องให้มอบสิทธ์การซื้อพลาสติก PET รีไซเคิล ก่อนอุตสาหกรรมอื่นๆ

ภายใต้ข้อกำหนดของสหภาพยุโรป ได้ระบุให้การผลิตขวด PET จำเป็นต้องมีสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนผสมในการผลิตอย่างน้อย 65% ภายในปี 2040 ขณะที่เสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ประกอบการในวงการเครื่องดื่มของเยอรมนีมีความกังวลที่จะขับเคลื่อนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

โดยสาเหตุสำคัญไม่ได้มาจากความติดขัดใดๆ จากทางผู้ประกอบการ แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงกว่าอยู่บ้าง แต่มาจากการขาดแคลนวัตุดิบพลาสติก PET รีไซเคิล ทำให้อาจจะไม่สามารถหามาวัตถุดิบมาใช้ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่มในเยอรมนี ให้ข้อมูลถึงความยากลำบากในการวัตถุดิบสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม โดย Mr.Roel Annega ผู้บริหารบริษัทน้ำแร่ ที่มียอดจำหน่าย​สูงสุดในประเทศอย่าง Gerolsteiner กล่าวว่า “โดยปกติเราใช้พลาสติก PET ชนิดรีไซเคิล (rPET) ถึง 75% ในการผลิตขวดน้ำ แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราต้องลดสัดส่วนดังกล่าวลงเหลือ 30% เพราะขาดแคลน rPET ขณะที่ราคาวัตถุดิบก็สูงขึ้นมาก ซึ่งในบางเวลามีราคาสูงกว่าการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในการผลิตถึง 2 เท่า ขณะที่ในปัจจุบัน rPET มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมราว 40% ซึ่งส่งผลต่อสายการผลิตอย่างมาก”

พร้อมเรียกร้องถึงการ​​พิจารณาเพื่อมอบสิทธิ์ตามกฎหมายให้กับกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่ม​สามารถซื้อพลาสติก rPET ได้ก่อนอุตสาหกรรมอื่นๆ ​เนื่องจากอาจจะเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม สามารถบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ตามที่เคยให้คำมั่นไว้

ด้าน Mrs.Isabell Schmidt ผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก หรือ IK​​ (Industrievereinigung Kunststoffverpackungen) ​ออกมายืนยันถึงปัญหาดังกล่าวว่า “การแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบจากการรีไซเคิลเริ่มหนักขึ้น” ทำให้พลาสติก PET ชนิดรีไซเคิลมีราคาสูงกว่าพลาสติกแบบใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว ​ขณะที่ปริมาณการผลิตขวด PET ทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นนั้น มีเพียง ​45% เท่านั้น  ที่สามารถนำกลับมาเข้าระบบรีไซเคิลเพื่อใช้เป็นขวดได้อีกครั้งหนึ่ง

เนื่องจาก มีหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่ใช้พลาสติก PET มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า ฟิล์มห่อของ ผ้าหรือแผงหน้าปัดรถยนต์ เพื่อปรับปรุง Carbon Footprint ของตนให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อนำพลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นสินค้าอย่างอื่นไปแล้ว จะไม่สามารถนำกลับมาผลิตเพื่อเปลี่ยนเป็นขวดได้อีก ซึ่ง Mr.Roel Annega เสริมว่า  ทันทีที่ขวด PET ออกจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ได้อีก ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สามารถนำกลับมาผลิตซ้ำได้ จึงจำเป็นต้องสร้างให้เกิด Closed-loop ขึ้นภายในอีโคซิสเต็ม

พร้อมกันนี้ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดของรัฐบาลในการกำหนดกฏหมายการรับคืนขวดในปี 2003 ที่ได้ให้สิทธิ์ผู้ที่ให้ราคาประมูลสูงสุดได้สิทธิ์ในการซื้อขวดพลาสติก PET รีไซเคิล  ซึ่งทาง Gerolsteiner ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ออกมาขอสิทธิ์ในการซื้อพลาสติก PET รีไซเคิล  เนื่องจากยังมีข้อมูลว่า Mr.John Galvin ผู้บริหารบริษัทผู้ได้รับสิทธิ์ในการบรรจุเครื่องดื่มของ Coca-Cola ได้เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไว้ว่า  “ผู้ผลิตเครื่องดื่มอย่างเราต้องการสิทธิ์ในการเข้าถึงขวดพลาสติก PET รีไซเคิลก่อน เพื่อที่จะสามารถนำวัสดุที่เคยเป็นขวดกลับมาทำขวดได้อีกครั้ง”

ข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ​กรุงเบอร์ลิน

Stay Connected
Latest News