TCP ประกาศเลิกใช้ PETสี พร้อม​อัพเดทแผนบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เล็งศึกษาเชิงลึกปัญหาขวดแก้ว ​ซัพพลายขาด ราคารับซื้อสูง แต่ทำไมคนยังทิ้ง?

หนึ่งข้อมูลที่​น่าสนใจจากงาน TCP Sustainability Forum 2023 ซึ่งเป็นการจัดประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition…From Commitment to Action : การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง​ ประสบการณ์ รวมทั้งข้อมูลเชิงลึกอย่างรอบด้าน​ และสร้างการมีส่วนร่วมสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย Net zero ในปี 2065 ของประเทศไทย จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวถึงแนวคิดการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ตามกรอบความยั่งยืน โดยตามเป้าหมายตั้งเป้าให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดสามารถรีไซเคิลได้ทั้ง 100% ภายในปีหน้า ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้าเป็นไปได้ตามแผน โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มสามารถรีไซเคิลได้ครบแล้วทั้ง 100%

ขณะที่แนวทางอื่นๆ ที่จะขับเคลื่อนเพิ่มเติมทั้งการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อใช้เทคโนโลยีให้บรรจุภัณฑ์มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยให้ใช้วัตถุดิบน้อยลง แต่มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยสามารถทำได้ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทั้งกระป๋องอะลูมิเนียมที่ลดลง 10% ฝาอะลูมิเนียมลดลง 7%  ขวดแก้วลดน้ำหนักลง 21% และขวดพลาสติก PET 9% รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนโครงการที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค (EPR) เพื่อเพิ่มความสามารถในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ได้มากขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกันจะเดินหน้าการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ขวด PET​ แบบสี ​แม้ทางการตลาดอาจจะยังมีความเชื่อว่า การใช้ขวดเครื่องดื่มพลาสติกแบบสี จะสามารถสร้างข้อได้เปรียบทางการตลาดได้​มากกว่าการใช้ขวดใส แต่ก็มีข้อจำกัดในการนำกลับเข้าระบบการรีไซเคิลของ PET สีที่ยุ่งยากมากกว่า ประกอบกับ​ในความเป็นจริง การตัดสินใจซื้อของลูกค้าขณะที่อยู่หน้าตู้แช่เครื่องดื่ม ​เรื่องของสีขวดไม่ได้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อมากนัก ดังนั้น เชื่อว่าความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ การทำตลาด และการสื่อสาร จะส่งผลให้ TCP ยังสามารถรักษายอดขายไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก

“บรรจุภัณฑ์แต่ละประเภท มีจุดเด่นมีข้อดีต่างกัน และไม่สามารถทดแทนกันได้ทั้งหมด ขณะที่ผู้ผลิตเองก็พยายามให้มีสินค้าที่หลากหลายและตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มของ TCP หากแยกตามประเภทของบรรจุภัณฑ์จะสามารถแบ่งสัดส่วนได้เป็น​กระป๋องอลูมิเนียม 60-65% ขวดแก้ว 30-35% และ PET ประมาณ 5% ขณะที่สัดส่วนการใช้ Recycle Content ยัง​อยู่ในกลุ่มขวดแก้วเป็นหลัก แต่มีความพร้อมที่จะเพิ่มเติมในกลุ่มอื่นๆ หากมีซัพพลายวัตถุดิบในตลาดมากพอ”​

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ทาง TCP ต้องกลับไปศึกษาต่อเกี่ยวกับปัญหา​ของบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ที่ในมิติของสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาเนื่องจาก เป็นกลุ่มที่ตกค้างอยู่ในธรรมชาติค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ประกอบกับในแง่ของการขนส่งเองก็มีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องใช้พลังงานในการขนส่งมากกว่าบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ทำให้มีการสิ้นเปลืองพลังงานรวมทั้งยังสร้างคาร์บอนสูงกว่าบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ด้วย ทำให้เริ่มมีมุมมองจากนักวิชาการมองว่าไม่ควรนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มเช่นกัน

“ปัญหาเรื่องขวดแก้ว อาจจะต้องมีการศึกษารายละเอียดอย่างจริงจังเพราะในความเป็นจริงแล้ว ขวดแก้วสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด และยังไม่มีประเด็นเรื่องขวดสีเหมือน PET รวมทั้งในอุตสาหกรรมหลอมแก้วเอง ก็จำเป็นต้องใช้เศษแก้วมาเป็นส่วนประกอบ ทำให้โรงงานแก้วบางแห่งถึงกับต้องตั้งบริษัทรับซื้อขวดแก้วเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งยังพร้อมจ่ายในราคาที่ค่อนข้างสูง แต่กลับมีขวดกลับเข้าสู่ระบบน้อยมาก ซึ่งอาจต้องไปศึกษาแนวทางความร่วมมือด้าน EPR เพื่อสื่อสารไปถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น เพื่อสามารถเพิ่มสัดส่วนการเก็บกลับได้ดีขึ้น และเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เราต้องกลับไปพูดคุยกับทุกภาคส่วนเพื่อเข้าใจปัญหาได้อย่างเท้จริง”​

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแม้จะมีกฏระเบียบจากภาครัฐมาช่วยขับเคลื่อนในเรื่องของการจัดการบรรจุภัณฑ์ในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในมุมหนึ่งอาจจะช่วยสร้างมาตราฐานให้ทุกคนในตลาดปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันได้ เช่น เรื่องการยกเลิก PET สี หรือ EPR เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์แบรนด์ของตัวเองหลังการบริโภค แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่า ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมด เพราะในบางประเทศ แม้มีกฏหมายบังคับใช้ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ สิ่งที่จำเป็นมากกว่า คือการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ธุรกิจ ภาคสังคม โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักผ่านผู้บริโภคให้เห็นความสำคัญของการแยกขยะ และทิ้งขยะให้ถูกที่ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดเป็นขยะตกค้าง และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในการ​นำขยะทั้งหมดกลับเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Stay Connected
Latest News