‘วิจัยกรุงศรี’ คาดตลาดคาร์บอนเครดิตไทยจะเผชิญภาวะ Supply Shortage ​ชี้แม้มีการรับรองเพิ่มมากขึ้น แต่ช่วยลด​ก๊าซเรือนกระจกลงได้เพียง 1.2% ของปริมาณการปล่อย

วิจัยกรุงศรี เผยแพร่รายงาน ‘คาร์บอนเครดิต กลไกพิชิตเป้าหมายความยั่งยืน’ โดยอัพเดทต​ลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลก ตามรายงาน​ State and Trends of Carbon Pricing 2023 ของธนาคารโลก ระบุว่า ปริมาณคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในช่วงปี 2561-2565 โดยอยู่ที่ 475 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ในปี 2565

ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหน่วยงาน​​รับรองมาตรฐานของเอกชน (เช่น VCS และ GS) มากที่สุด ส่วนมาตรฐานระหว่างประเทศ และมาตรฐานภายในประเทศก็มีสัดส่วนการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกได้จัดตั้งกลไกคาร์บอนเครดิตภายในประเทศอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ทั้งนี้ พบว่าคาร์บอนเครดิตของโลกมาจากการใช้พลังงานทดแทนเป็นหลัก ​คิดเป็น 55% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตในปี 2565 แต่คาดว่าคาร์บอนเครดิตจากพลังงานทดแทนอาจมีความสำคัญลดลง เมื่อองค์กร​ต่างๆ หันมาลงทุนด้านพลังงานทดแทนเองแทนการซื้อคาร์บอนเครดิต ในทางกลับกัน คาร์บอนเครติตจากการดูดกลับและกักเก็บโดยธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า มีแนวโน้มจะทวีความสำคัญขึ้น สะท้อนจากโครงการที่ขึ้นทะเบียนใหม่ในปี 2565 มาจากโครงการป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดินถึง 54%

ขณะที่สถานการณ์คาร์บอนเครดิตในประเทศไทยนั้น ก็มีทิศทางเติบโตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ​โดยเฉพาะในปี 2565  มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจาก อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)) สูงถึง 4.7 ​MtCO2e  จาก 59 โครงการ และเพิ่มเป็น 16.1 MtCO2e ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ขณะที่จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเป็น ​298 โครงการ โดยโครงการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มการพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานชีวภาพ ชีวมวล และแสงอาทิตย์ รองลงมาคือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ที่น่าสนใจคือ ในปี 2566 มีโครงการจัดการของเสีย และการปลูกป่าได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นมาก สอดคล้องในทิศทางเดียวกับการรับรองคาร์บอนเครดิตของโลกเช่นกัน

ปริมาณการรับรองจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย(T-VER)

สำหรับปริมาณการซื้อขายคาร์บอนในปี 2565 นั้น ​อยู่ที่ราว 1.2 MtCO2e ​​หรือคิดเป็น​ 1 ใน 4 ของปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 4.7 ​MtCO2e  แต่ถือว่ามีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก กระแสความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น หลังการประชุม COP26  รวมทั้งการประกาศเป้าหมายความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศ รวมทั้งในระดับองค์กร ที่มีการตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ​มากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการเติบโตและความเคลื่อนไหวในตลาดคาร์บอนเครดิตจะขยายตัวได้ดี แต่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ในปี 2565 คิดเป็นเพียง 1.2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเท่านั้น ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดมาจาก 1. การตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กร 2. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว และ 3. การขยายตัวของอุปสงค์และอุปทานในตลาดคาร์บอนเครดิต

ส่วนความท้าทายของตลาดนี้ มีทั้ง 1. เรื่องของต้นทุนและความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ 2.ความพร้อมด้านระบบนิเวศ มาตรฐานและการกำกับดูแลตลาด รวมทั้ง 3. การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายสีเขียว โดยทางวิจัยกรุงศรีมองว่า ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยจะมีแนวโน้มอยู่ในภาวะขาดแคลนอุปทาน หรือ Supply Shortage โดยสะท้อนจากปริมาณคาร์บอนเครดิตที่คาดว่าจะผลิตได้ในปี 2573 ซึ่งจะมีเพียง 6.86 MtCO2e/ปี แม้ว่าในระยะถัดไปคาร์บอนเครดิตจะมาจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน การขนส่ง เกษตรกรรมและป่าไม้ โดยเฉพาะภาคป่าไม้ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งสร้างคาร์บอนเครดิตในปริมาณและคุณภาพสูง

แต่ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนที่สูงของโครงการคาร์บอนเครดิต ทำให้เป็นอุปสรรคของผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่ ที่อาจต้องใช้เงินลงทุนต่อหน่วยสูงในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การกำกับดูแลราคาที่เหมาะสมที่ช่วยให้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงแพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายยังเป็นช่องว่างที่อาจทำให้ผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตยังไม่ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดนั่นเอง​​

Stay Connected
Latest News