‘The New Chapter of SDGs’ มองมุมใหม่เรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ผ่านเลนส์จาก 2 ผู้เชี่ยวชาญ ​ร่วมหาโซลูชันหยุดวิกฤต​โลก

การขับเคลื่อนวาระด้านความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ​ หรือ Sustainable Development Goals 2030 (SDGs) ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายได้เพียง 15% เท่านั้น ​ขณะที่วิกฤตของโลกไม่ได้บรรเทาลง แต่กลับเลวร้ายมากขึ้น จนขยับระดับจากภาวะโลกร้อน เข้าสู่​ภาวะวิกฤตโลกเดือด (Global Boiling)

ดังนั้น การขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนในมิติเดิมๆ แบบที่เคยทำมา อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นำมาสู่การร่วมหาทางออกผ่านเวทีสัมมนาจากงาน  Sustainability Expo 2023 ที่ได้นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนเพื่อแก้วิกฤตให้มีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง ภายใต้หัวข้อ “The New Chapter of SDGs” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความท้าทาย และปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนในอนาคตได้อย่างเท้จริง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แชร์มุมมองและข้อเสนอแนะในการผลักดัน SDG ของโลก โดยมองว่า 4 โจทย์ใหญ่ ที่ทุกฝ่ายต้องกลับมาทบทวน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนในเรื่องของความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

1. ทุกประเทศต้องมองว่าจะทำให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจังได้อย่างไร (Strong Execution)

2. แม้มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (Common Goal) แล้ว แต่ยังขาดความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย (Common Ground) เพราะแต่ละประเทศมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกัน แม้จะมีเจตจำนงร่วมกันแต่โอกาสจะให้เกิดแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action) มีน้อยมาก

3. วิกฤตระดับบุคคล เนื่องจากทุกคนยังมีความเห็นแก่ตัวกันอยู่มาก ไม่ว่าจะในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ทำให้มองเป็น Short-Termism และเกิดเป็น Tragedy of the Commons หรือ โศกนาฏกรรมในการต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งถือเป็นปัญ​ที่เกิดขึ้นในระดับบุคคล แต่ถ้ามองในระดับประเทศ ยังมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic Disparity)

4. ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จากการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืนและนำมาสู่ความขัดแย้งของแต่ละประเทศ และหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็มีโอกาสน้อยที่จะสร้างให้เกิดความร่วมมือกันได้

นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ ยังได้เสนอ​ให้มองเป้าหมายด้านความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ เป็นแบบองค์รวม โดยจัดเป้าหมายออกเป็น 5 คลัสเตอร์ ​

กลุ่มแรกจะเป็นมิติด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Common ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Climate Action, Life Below Water, Life on Land ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยตัวเอง จะต้องใช้ Strong Execution อย่างรุนแรงและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด

สอง มิติในเชิงสังคม ถ้าสังคมโลก สังคมแต่ละประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ มีสันติภาพ ยุติธรรม และองค์กรต่างๆ มีความเข้มแข็ง จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

สาม มิติในเรื่องของความมั่นคงทางอาหารและน้ำ   สี่ มิติในการขับเคลื่อน​อุตสาหกรรมและการพัฒนาเมือง ทั้งการพัฒนานวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน การผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ สมาร์ทซิตี้ ตลอดจนระบบสื่อสารที่ยั่งยืน และกลุ่มสุดท้าย มิติในเรื่องคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี เพื่อทำให้คนไม่อดอยาก สุขภาพดี ไม่มีความยากจน การศึกษามีคุณภาพ และมีความเท่าเทียมทางเพศ

“สำหรับประเทศไทยสามารถสร้างโมเดลการเติบโตอย่างสมดุลได้บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือ SDG และมีความเห็นพ้องกันคือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งการพัฒนาความยั่งยืนจะกลายเป็น Soft Power ได้ในอนาคต” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ด้าน ผศ.ชล บุนนาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ SDG Move ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ​เสนอแนะเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อน SDG ให้เกิดผลสำเร็จต้องติดกระดุมให้ถูก หากเป็นบุคคลธรรมดา กระดุมเม็ดแรกคือ Act to Reduce Harm แต่ละคนต้องตรวจสอบว่า สิ่งที่ตนเองทำไปนั้นได้สร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือไม่อย่างไร ข้อนี้ทุกคนทำได้ และองค์กรควรจะทำมากให้ที่สุด ถ้าเห็นองค์กรไหนไม่พูดเรื่องนี้เลยว่าจะทำและลดผลกระทบอย่างไร ก็สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นการฟอกเขียว (Greenwashing)

เม็ดที่สองคือ Benefit Stakeholders ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนทำงาน ชุมชน คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกี่ยวโยงกับซีเอสอาร์ เม็ดที่สาม คือ Contribute to Solutions โดยบริษัทต่างๆ ต้องตั้งเป้าหมายสูงว่าจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างไร เช่น การลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

พร้อมเนะนำ​รัฐบาลขับเคลื่อน​ 2 ประเด็น เพื่อขับเคลื่อน SDGs ได้มากขึ้น 1. รัฐบาลต้องทำในรูปแบบ Whole Government Approach ถ้าเป็น Whole Society Approach ได้ก็จะยิ่งดี โดยรัฐบาลต้องทำเรื่องหลักการของความยั่งยืนในทุกนโยบาย ตั้งแต่เรื่องความมั่นคง มาจนถึงนโยบายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดคือ อยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชน

ส่วนอีกประเด็นคือ รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้กำกับนโยบายไปเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยทำให้ทุกพลังในสังคมมาทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืน เพราะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่รัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นพระเอก ดังนั้น  ภาครัฐควรสร้างแพลตฟอร์มที่จะให้ทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันได้ และมาเสริมซึ่งกันและกันในการพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น

“แม้ประเทศไทยจะทำเรื่อง SDG อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้นำ SDG มาเป็นเครื่องมือในการผลักดันวาระที่ยั่งยืนขององค์กรและชุมชนได้ เพราะ SDG เป็น Global Norms ซึ่งเป็นพลังแฝง โดยประเทศไทยสามารถเป็นตัวอย่างของโลกผ่านการเล่าเรื่องในภาษา SDG และไปสร้างความร่วมมือใหม่ๆ กับคนที่ทำ SDG ได้ ซึ่ง​ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งมีสิ่งที่เป็นแก่นแท้ (Essence) และกรอบความคิด (Mindset) ที่จะขับเคลื่อน SDG ได้คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราตีโจทย์กันไม่ออกว่า จริงๆ คือความสมดุล ความพอดี คือความลงตัว เมื่อไม่พอก็รู้จักเติม เมื่อเกินก็ต้องรู้จักปัน ประเทศไทยจะเดินหน้าเพื่อถักทอให้เรื่อง BCG, SDG and SEP (Sufficiency Economy Philosophy) ไปด้วยกันได้อย่างไร สิ่งที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกทำกันอยู่ในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่การ Transition แต่สุดท้าย จะต้องทำเป็น Systematic Transformation ด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลก จึงจะบรรลุเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลให้โลกอนาคตได้” ผศ. ชล กล่าว

Stay Connected
Latest News