ถึงเวลาพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ

จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ WALHI องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย เผยกรณีศึกษาโรงเรียนสอนปลูกกาแฟภาคสนาม (Coffee Field School) กับการทำเกษตรอินทรีย์ที่ช่วยพลิกฟื้นวิถีชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ อย่างยั่งยืนในการปรับปรุงคุณภาพดินและดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยลดรายจ่ายจากการงดใช้ปุ๋ยเคมี  เพิ่มรายได้จากการจำหน่ายกาแฟออร์แกนิคที่ผู้บริโภคถวิลหา

ความดื่มด่ำในรสชาติของกาแฟในอาเซียนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ตลาดกาแฟพร้อมดื่มจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความหลงไหลในกาแฟสดก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นกันที่ผ่านมาตลาดกาแฟของไทยและในตลาดโลก ยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการเติบโตดังกล่าวไม่ได้สะท้อนว่า คุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะดีขึ้น

สำหรับภูมิภาคอาเซียนนั้น กาแฟเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจท้องถิ่น ไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกร กลิ่นหอมของการคั่วเมล็ดกาแฟ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์ของเกษตรกร ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กาแฟออร์แกนิค ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ เป็นหนึ่งในแนวทางยกระดับภาพลักษณ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากกาแฟออร์แกนิค สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่ากาแฟทั่วไปหลายเท่าตัว ส่งผลให้กาแฟออร์แกนิคเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของผู้ปลูกกาแฟในอินโดนีเซีย

“คาซิโม” เป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจำนวนมากที่เมืองนากิริ ลูเบ็ก กาเดง (Nagari Lubuk Gadang) ในเกาะสุมาตราตะวันตก  ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟโซลก (Solok) ที่ขึ้นชื่อของอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาพวกเขาทำการเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมีและยาฆ่าแมลง จึงมีภาระรายจ่ายและต้นทุนการเกษตรที่สูง ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ราคาเมล็ดกาแฟตกต่ำเหลือเพียง 9.09 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรต้องประสบปัญหาค่าครองชีพอย่างรุนแรง

คาซิโมและเกษตรกร 24 คนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “Kopi Rakyat” หรือกาแฟประชาชน โดยร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียที่ชื่อ WALHI (Wahana Lingkungan Hidup Indonesia) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้ดีขึ้น

WALHI พัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้ผู้ปลูกกาแฟ

แวงกี เพอวันโต้ (Wengki Purwanto) กรรมการบริหารของ WALHI สุมาตราตระวันตก กล่าวว่า WALHI ได้เปิดโรงเรียนสอนปลูกกาแฟภาคสนาม (Coffee Field School) ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านอาหารอย่างยั่งยืนในเมืองลูเบ็กกาเดงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับปรุงสภาพของดินและพื้นที่เพาะปลูก ผ่านการแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ เช่น การเพาะเมล็ดพันธุ์กาแฟ การทำปุ๋ยอินทรีย์ การควบคุมแมลงศัตรูพืช และสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด โดยโรงเรียนสอนปลูกกาแฟนี้ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในเมืองโซลก และเพิ่มองค์ความรู้ในการปรับปรุงสภาพดินและพื้นที่เพาะปลูก ให้เกษตรกรตามแนวทางของเกษตรอินทรีย์

โครงการโรงเรียนสอนปลูกกาแฟของ WALHI ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์ มีการใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าปุ๋ยเคมี แต่ให้คุณค่าที่ดีกว่าใน 2 ประการ คือ ทำให้สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น และช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะปุ๋ยอินทรีย์สามารถอุ้มน้ำได้ดีกว่าถึง 5 เท่า จึงช่วยฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกที่แห้งแล้ง ปรับปรุงความสมบูรณ์ของดิน ช่วยการดูดซึมสารอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรับประกันความยั่งยืนทางการเกษตร  

คาซิโม กล่าวว่า การปลูกกาแฟแบบเกษตรอินทรีย์ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก  การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ส่งผลให้คุณภาพกาแฟดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น และยังช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แม้จะยังไม่ได้รับรางวัลระดับ prestigious label ใดๆ แต่ คาซิโม มั่นใจว่าทุกสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะปัจจุบัน Kopi Rakyat ได้รับการประเมินคุณภาพในระดับ 80 คะแนน และได้รับการยกย่องให้เป็นกาแฟออร์แกนิคระดับพรีเมี่ยมของโซลกอย่างภาคภูมิใจ

“การทำเกษตรอินทรีย์ เพาะปลูกกาแฟแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่เพียงแต่ทำให้เรามีผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาผืนดิน รักษาสิ่งแวดล้อม และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรามุ่งมั่นที่จะรักษาการเติบโตและดึงดูดการเงินทุน ภายใต้แนวคิด จากฟาร์มสู่ตลาด  เรามุ่งมั่นแสวงหาการลงทุนในด้านอุปกรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพของกาแฟให้ดีขึ้น เพื่อให้กาแฟของเราได้รับการยอมรับ เป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและระดับโลก” คาซิโม กล่าว

WALHI ไม่เพียงแต่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนของการเพาะปลูกและการแปรรูปกาแฟ ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ การตลาด การค้า และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟ ทำให้ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

แวงกี เพอวันโต้ กล่าวว่า WALHI มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ควบคู่กับการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับผู้เพาะปลูก เพื่อให้แน่ใจว่ากาแฟทุกแก้วจะบอกเล่าเรื่องราว คุณค่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเสมอภาค แหล่งกำเนิด และสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วน

Stay Connected
Latest News