ก่อนแก้ขยะอาหารต้องแก้อะไรก่อน? SCB EIC แนะแนวแก้ปัญหา Food Waste​ พร้อมชี้โอกาสธุรกิจจากขยะอาหารของไทย

รายงานดัชนีขยะอาหาร  (Food waste index report) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) พบว่า ในปี 2019 ปริมาณขยะอาหาร (Food waste) ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 931 ล้านตัน หรือคิดเป็น 17% ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก

โดยเกิดขึ้นจากภาคครัวเรือนเป็นหลักราว 61% ถัดมาเป็นธุรกิจบริการอาหาร (Food service) 26% และธุรกิจค้าปลีกอาหาร (Food retails) 13%

UNEP ประเมินว่า ปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากต้นทุนการผลิตอาหารที่สูญเสียไปกับอาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะ และต้นทุนจากการจัดการขยะอาหารที่เกิดขึ้นอีกด้วย

ขยะอาหารยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก ทั้งนี้ยังไม่รวมผลกระทบจากก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาหากฝังกลบเศษอาหารไม่ถูกวิธี ซึ่งก๊าซมีเทนส่งผลเสียต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

ประเทศไทยเองก็ เผชิญกับปัญหาขยะอาหารที่ต้องเร่งจัดการเช่นกัน โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในปี 2021 ภาคครัวเรือนไทยมีปริมาณขยะอาหารถึง 5.47 ล้านตัน หรือ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่ง​เป็น​ขยะอาหารในภาคครัวเรือนถึง 22% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด

ทิศทางการแก้ปัญหาขยะอาหารในไทย 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) จัดทำรายงานเรื่อง  Food waste : วิกฤตปัญหาหรือโอกาสทางธุรกิจ ระบุว่า ปัญหาขยะอาหารแม้จะเป็นวิกฤตที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข แต่ยังมีโอกาสสำหรับภาคธุรกิจที่สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้ โดยความท้าทายหลักที่จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาขยะอาหาร คือ

1. การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน เนื่องจาก ในปริมาณขยะ​อาหารทั้งหมด ​ยังมีส่วนของอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ที่ไม่ใช่ขยะที่ไม่สามารถบริโภคได้ แต่เป็นการผลิตหรือซื้อมาเกินกว่าความต้องการ ซึ่งส่วนนี้สามารถนำไปบริโภคต่อได้แต่กลับถูกทิ้งรวมเป็นขยะด้วย นอกจากนี้ ยังมีขยะอาหารบางประเภท ที่สามารถแปลงเป็นทรัพยากรหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ หากมีการจัดเก็บและคัดแยกอย่างถูกวิธี

2. การกำหนดแนวทางการจัดการขยะ เนื่องจากขยะอาหารส่วนใหญ่มักจะถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ทำให้ขั้นตอนการคัดแยกและกำจัดขยะทำได้ยากลำบากขึ้น จึงจำเป็นต้องวางแนวทาง​แก้ปัญหาขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในหลายมิติ เช่น

– ตั้งเป้าหมายและวางแผนจัดการขยะอาหารแบบองค์รวม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน โดยภาครัฐจะเป็นกำลังหลักในการกำหนดนโยบายและวางแผน​​ตั้งแต่การลดขยะ จนถึงการแยกและจัดการขยะ พร้อมวางระบบการแยกเก็บขยะ​แต่ละประเภท ​รวมถึงลงทุนเพิ่มขึ้นในหลายด้าน เช่น รถจัดเก็บขยะแบบแยกประเภท การจัดรอบเก็บขยะ พื้นที่ของโรงเก็บขยะในแต่ละประเภท รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการประชาสัมพันธ์แนวทางการจัดการขยะ

ขณะที่ภาคเอกชนและภาคครัวเรือน ซึ่งถือเป็นต้นน้ำ ต้องให้ความร่วมมือ​ในการลดและแยกขยะ พร้อม​ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะของภาครัฐ และการตั้งศูนย์รีไซเคิลแปลงสภาพขยะอาหารที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาใช้ประโยชน์

 – กำหนดแนวทางการจัดการขยะอาหารที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยฐานข้อมูลขยะของภาคเอกชน เนื่องจากขยะอาหาร​แต่ละพื้นที่มีปริมาณและลักษณะไม่เหมือนกัน โดยข้อมูลขยะอาหารจากภาคเอกชนจะช่วยให้การวางแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยภาครัฐในการ​ออกมาตรการแก้ไขปัญหาขยะที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ได้​ด้วย

–  สร้างแรงจูงใจให้เกิดการปฏิบัติตามอย่างจริงจัง โดยบางพื้นที่แม้จะมีการจัดทำถังขยะแยกประเภทแต่เมื่อถึงขั้นตอนการจัดเก็บ ขยะส่วนใหญ่จะถูกนำไปรวมกัน จึงทำให้การกำจัดขยะมีประสิทธิภาพลดลงและขยะบางประเภทก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

นอกจากการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารแล้ว การป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหารเกินความจำเป็นตลอด Supply chain ก็เป็น​วิธี​ช่วยลดวิกฤตปัญหาขยะอาหารได้ด้วย เช่น ธุรกิจอาหารควรมีระบบสั่งซื้อวัตถุดิบที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า หรือภาคครัวเรือนควรซื้ออาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภค เป็นต้น

โ​อกาสทางธุรกิจ​จากขยะอาหาร

ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายกลุ่มเห็นโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจจากขยะอาหารมากขึ้น ทั้งในส่วนของขยะอาหารที่ไม่สามารถบริโภคต่อได้ และอาหารส่วนเกินที่ยังสามารถบริโภคได้

โอกาสจากขยะอาหาร การเพิ่มมูลค่าจากขยะอาหารถูกนำไปเป็นไอเดียในการต่อยอดทางธุรกิจ เช่น บริษัทสตาร์ตอัปในสิงคโปร์นำกากธัญพืชมาทำบรรจุภัณฑ์อาหาร จากที่ก่อนหน้ากากธัญพืชเหล่านี้มัก​ถูกนำไป​ทำอาหารสัตว์ ปุ๋ย หรือกำจัดทิ้ง ทำให้นอกจากช่วยลดขยะอาหารแล้วยังช่วยขยะพลาสติกจากการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกด้วย

โอกาสจากอาหารส่วนเกิน ​การต่อยอดสู่​​แพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงผู้มีอาหารส่วนเกินกับผู้ที่ต้องการอาหาร​ให้มาเจอกัน เช่น

1. แพลตฟอร์มการบริจาคอาหารส่วนเกินให้แก่ผู้ยากไร้ เช่น แพลตฟอร์ม คลาวด์ ฟู้ด แบงก์ หรือธนาคารอาหารออนไลน์ที่ร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ หรือ SOS Thailand รับบริจาคอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ภัตตาคาร หรือจากร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อส่งต่อไปยังชุมชนขาดแคลน ผู้ด้อยโอกาส และองค์กรสาธารณะให้สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ แต่ยังพบจุดอ่อนของโมเดลกที่อาจยัง​ไม่สามารถสร้างแจงจูงใจมากพอให้ภาคเอกชน​ เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีมาตรการทางภาษีมาช่วย เช่นในสหรัฐฯ ที่มีการลดหย่อนภาษีให้​ผู้ประกอบการที่บริจาคอาหารให้​องค์กรสาธารณกุศลไม่เกิน 15% ของเงินได้สุทธิ หรือแคนาดาที่ให้เครดิตภาษีเงินได้แก่บุคคลหรือผู้ประกอบการไม่เกิน 25% ของมูลค่าที่บริจาค เป็นต้น

2. แอปพลิเคชันจำหน่ายอาหารส่วนเกินจากโรงแรมและร้านอาหาร ที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าด้วยการลดราคาอาหารลงจากราคาปกติเกินครึ่ง โดยในไทยมีแอปพลิเคชันยินดี (Yindii) และแอปพลิเคชัน OHO! ที่เป็น Partner กับทั้งร้านอาหาร โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ในการจำหน่ายอาหารส่วนเกินให้กับลูกค้า หรือในต่างประเทศมี Platform e-commerce ชื่อว่า Misfits Market ที่พัฒนามาช่วยผู้ผลิตที่ไม่สามารถขายผลผลิตที่มีรูปลักษณ์หรือคุณภาพด้อยกว่าแต่ยังสามารถบริโภคได้ให้กับลูกค้าที่ไม่เน้นรูปลักษณ์ของผลผลิตในราคาพิเศษ

3. การพัฒนาเทคโนโลยี AI มาช่วยประเมินความต้องการวัตถุดิบ​จาก​ Big data ที่มีอยู่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้ธุรกิจได้ เช่น กลุ่มบริการอาหารและธุรกิจค้าปลีกอาหาร ​รวมทั้งยังสามารถรักษาคุณภาพอาหารให้​ลูกค้าได้ เช่น ร้าน Sushiro ของญี่ปุ่นได้นำข้อมูลจาก Tag IC ใต้จานซูชิมาวิเคราะห์ว่าควรทำซูชิชนิดใดด้วยปริมาณเท่าไร ซึ่งจะส่งผลให้ซูชิบนสายพานมีความสดใหม่อยู่เสมอ และสามารถลดขยะอาหารของร้านซูชิได้จาก 10% เหลือ 4% อีกด้วย

Stay Connected
Latest News