‘วัฒนธรรมเสื้อผ้ามือสอง’ กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนหนุ่มสาวญี่ปุ่น ปริมาณนำเข้าทะลุ 1 หมื่นตัน พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

“วัฒนธรรมเสื้อผ้ามือสอง” กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาวญี่ปุ่น ส่งผลให้ราคาเสื้อผ้ามือสองพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากอุปทานไม่ได้เพิ่มขึ้นมากพอเท่ากับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีปัญหาโควิดแพร่ระบาด แต่จำนวนร้านเสื้อผ้ามือสองยังเติบโตต่อเนื่องจาก 40 แห่ง เป็น 50 แห่ง ​โดย​ปัจจุบันมีร้านค้าเกือบ 200 แห่ง ขณะที่ปริมาณ​นำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วของญี่ปุ่นในปี 2022 มีมากกว่า​ 10,000 ตัน ถือว่าสูงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองจากสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในประเทศ จะมีลักษณะ​ที่คล้ายกัน ​ทำให้แฟชั่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นที่นิยม และหันมาเลือกซื้อสินค้ามือสองจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้การแข่งขันด้านการจัดซื้อมีความรุนแรงขึ้น และต้นทุนด้านราคาก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ​จากข้อมูลสถิติการค้าพบว่า ราคานำเข้าต่อกิโลกรัมในปี 2022 เพิ่มขึ้นประมาณ​​ 30% เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าวินเทจ เช่น สินค้าจากปี 1940 และ 1950 ที่อาจมีราคาสูงขึ้นถึง 10 ล้านเยน  รวมถึงข้อมูลของ Aucfan ซึ่งดำเนินการเครื่องมือวิเคราะห์ราคา ให้ข้อมูลราคาประมูลที่สำเร็จโดยเฉลี่ยในการประมูลออนไลน์อยู่ที่ 6,347 เยนสำหรับเสื้อผ้าผู้ชาย (การสำรวจเดือนกันยายน) ซึ่งสูงกว่า 5 ปีก่อน ประมาณ 10%

ทั้งนี้ สาเหตุการปรับขึ้นของระดับราคาก็มาจากเหตุผลด้านอุปทานเช่นกัน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกล่าวว่า ในปี 2023 ​จำนวนเสื้อผ้ามือสองลดลงทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก โดยพบว่า ครัวเรือนมักจะขายเสื้อผ้ามือสอง หลังจากซื้อไปแล้ว 2- 3 ปี ขณะที่การ​แพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้าใหม่ในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เสื้อผ้ามือสองกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทำให้มีผู้จัดซื้อจากหลายชาติทั้งจากยุโรปและจีนเข้ามาร่วมวงเพิ่มมากขึ้น และแม้ว่าราคาเสื้อผ้ามือสองในตลาดโลกจะสูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะส่งต่อราคาที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ไปยังราคาร้านค้าในญี่ปุ่นได้มากนัก ​ส่งผลให้ผู้จัดซื้อญี่ปุ่นไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับบริษัทจัดซื้อจากทางยุโรปที่สามารถขยับราคาขายปลีกได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันเงินเยนที่อ่อนค่าลง ก็สามารถดึงดูดผู้ซื้อชาวต่างชาติให้ซื้อสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เสื้อผ้ามือสองที่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นซื้อ คิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเสื้อผ้าทั้งหมดที่มีการผลิตขึ้น แม้ว่ามีแนวโน้มการนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น แต่ธรรมชาติในการจำหน่ายเสื้อผ้ามือสอง ก็มักจะจำหน่ายในกลุ่มเสื้อผ้ายอดนิยมที่​อยู่ในสภาพดีเพียงบางรายการเท่านั้น แม้ว่าการเติบโตของฟาสต์แฟชั่นอาจจะช่วยเพิ่มอุปทานให้เสื้อผ้ามือสอง จากการที่มีผู้นำ​เสื้อผ้ามือสองมาจำหน่ายเพิ่มขึ้น แต่เสื้อผ้าดังกล่าวมักจำหน่ายไม่ค่อยได้ราคามากนัก

สำหรับขนาดของตลาดเสื้อผ้ามือสอง​ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่คาดว่าปริมาณการส่งออกในปี 2022 ที่ผ่านมา มีจำนวนมากถึง 220,000 ตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณการนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ ​ ขณะที่เสื้อผ้าใช้แล้วส่วนใหญ่ ที่ไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่มักจะมองหาเสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ส่วนมากมักจะถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศกำลังพัฒนาในราคาที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะแถบประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Stay Connected
Latest News