อึ้ง! คนไทยก่อขยะอาหารปีละเกือบ 10 ล้านตัน!! เร่งสร้างแนวร่วมจัดการ Foodwaste​ ระดับชาติ วางโรดแม็พ 3 ปี ลดการสูญเสียอาหาร 25%

สสส. ผนึก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)  กรมควบคุมมลพิษ กรมโลกร้อน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กทม. และ 14 ศูนย์อาหารทั้งภาครัฐและเอกชน นำร่องลดขยะอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบาง ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง พร้อมวางโรดแม็พตั้งเป้าลดขยะอาหารลง 25% ภายในปี 2570 

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การจัดการขยะอาหารและปัญหาอาหารส่วนเกินเป็นหนึ่งในวาระระดับโลก ทาง UN จึงกำหนดหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการ​ลดปริมาณขยะอาหารในระดับค้าปลีกและการบริโภคทั่วโลกลง 50% ภายในปี 2573 (จากปีฐาน 2558)  เช่นเดียวกับปัญหาในประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ที่มีคนอาศัยหนาแน่น และขาดพื้นที่จัดการอาหารส่วนเกิน จึงเกิดการทิ้งอาหารส่วนเกินทั้งจาก​บ้านเรือน ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร รวมท้ังไม่มีการนำไปจัดการอย่างถูกต้อง ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางแหล่งกำเนิด​ พร้อมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงส่งต่อให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อช่วยลดทั้งปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ​​ลดมลพิษและการสร้างก๊าซเรือนกระจก  ​รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมืองด้วย

คุณปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหารประมาณ 9.7 ล้านตัน หรือราว 146 กิโลกรัม/คน/ปี โดยแหล่งกำเนิดสำคัญของขยะอาหาร ประกอบด้วย ตลาดสด ซึ่งมีสัดส่วนขยะอาหารถึง 77.26% จากปริมาณขยะทั้งหมดภายในตลาด ตามมาด้วย​ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ มีสัดส่วนขยะอาหาร 54.94% จากปริมาณขยะทั้งหมด อาคารสำนักงาน มีสัดส่วนขยะอาหาร 41.41%  คอนโดมิเนียม 40.998%  โรงแรม 37.03%  ซึ่งสถานประกอบการต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะมีศูนย์อาหาร​อยู่ด้วย และถือเป็นจุดสำคัญที่สร้างให้เกิดขยะอาหาร ที่จำเป็นต้องเข้ามาจัดการดูแล เพื่อมุ่งสู่​เป้าหมายที่ทาง UN ได้วางไว้ 

“ทั้งนี้ โรดแม็พเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารให้ลดลงครึ่งหนึ่งตามเป้าหมายในปี 2573 ​ได้​วาง​ Action Plan ​เป็น 2 ระยะที่ ซึ่งระยะแรก ระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อวางกรอบและทิศทางการ​แก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนจากแหล่งกำเนิด มุ่งเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบอาหาร รวมทั้งผู้บริโภค ตามวิถีการบริโภคที่ยั่งยืน ทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง การลดขยะอาหาร การนำไปใช้ประโยชน์ต่ออย่างคุ้มค่า เพื่อให้เหลือปริมาณส่วนน้อยที่สุดสำหรับ​นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง โดยมีเป้าหมายลดขยะอาหารลงมากกว่า 25% ภายในปี 2570 และระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2571 -2573 ในรูปแบบของการขยายผลเพื่อลดปริมาณขยะอาหารลงให้เพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2573” 

ขณะที่กำแพงสำคัญของประเทศในการบริหารจัดการขยะอาหาร ดร.วิจารย์ อินทรกำแหง ผอ.ส่วนบริการจัดการมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ เสริมว่า ​มาจาก​ 10 ปัญหาต่อไปนี้ คือ 1. ขาดข้อมูลขยะอาหารของแต่ละภาคส่วน 2.การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภต (การบริโภค -การทิ้ง) 3.ไม่มีแนวปฏิบัติในการป้องกัน ลด การใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร 4. การบริจาคและส่งต่ออาหารส่วนเกินยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ 5.ไม่มีมาตรฐานกลางในการดูแลอาหารส่วนเกิน 6.ขาดแรงจูงใจ เครื่องมือ กลไกให้ภาคธุรกิจปฏิบัติ 7.นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการกำจัดอาหารยังมีราคาแพง 8. ไม่มีระบบคัดแยกและจัดเก็บขยะมูลฝอย 9. ขาดระบบจัดเก็บและรายงานข้อมูลขยะอาหาร และ 10. ขาดศูนย์ความรู้กลางด้านการจัดการขยะอาหาร

‘ศูนย์อาหาร’ แหล่งกำเนิดหลักขยะอาหาร

คุณณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ปริมาณขยะอาหารเกือบ 10 ล้านตัน ในปี 2565 ที่ผ่านมา คิดเป็น 38% ของขยะมูลฝอย 26 ล้านตัน ที่เกิดภายในชุมชน ซึ่งเกือบ 90% ที่นำไปเทกองและฝังกลบ และราว 10% ที่มีการนำไปจัดการภายในครัวเรือน และนำไปทำปุ๋ยหมัก ขณะที่ศูนย์อาหารเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ​มักจะมีวัตถุดิบที่เหลือทิ้งทั้งจากขั้นตอนการเตรียมอาหาร  ที่อาจมีการสูญเสียวัตถุดิบ จากการจัดเก็บไม่ได้คุณภาพทำให้เสียหรือหมดอายุ รวมทั้งจากการตัดแต่งเพื่อนำไปก่อนนำไปปรุง ขณะที่ในการปรุงอาหาร ที่อาจจะมีการเตรียมในปริมาณมากเกินไป ทำผิด หรืออาหารไหม้ หรืออาหารที่ลูกค้ารับประทานเหลือ รวมไปถึงขยะอื่นๆ ภายในครัวที่มักจะทิ้งรวมๆ กันไป ทำให้ปริมาณขยะทั้งในครัวและที่เหลือภายในจานมีปริมาณมากพอๆกัน

“การจัดการขยะอาหารภายในศูนย์อาหารจะใช้หลักการทั้งการป้องกัน การลด เพื่อให้เกิดการสูญเสียอาหารให้น้อยที่สุด รวมทั้งการนำส่วนที่รับประทานไม่หมดมาแปรรูป หรือแปลงสภาพ​เพื่อให้มีส่วนที่เหลือมา​กำจัดให้น้อยที่สุด และนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง  ภายใต้ความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับทั้งผู้บริหารองค์กร ผู้จัดการศูนย์อาหาร ที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการขับเคลื่อนของพนักงาน หรือในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารหรือผู้ปรุงอาหาร ที่ต้องคำนวณวัตถุดิบในการนำมาใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดเก็บ และการใช้วัตถุดิบ หรือการตักอาหารให้ลูกค้าในขณะจำหน่าย จากการสังเกตุพฤติกรรมของลูกค้าหรือจำนวนยอดขายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ในส่วนของพนักงาน ก็ต้องให้ความสำคัญกับการแยกประเภทขยะแต่ละประเภทโดยไม่ปะปนกัน รวมทั้งในส่วนของลูกค้าเองก็สามารถบอกปริมาณที่ตัวเองต้องการ หรือไม่รับอาหารที่ไม่ทาน เพื่อป้องกันการเกิดขยะ และหากมีอาหารเหลือก็ให้แยกทิ้งออกจากอาหารประเภทอื่น”​

ดร.ภานุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนนโยบาย ‘ไม่เทรวมของ กทม.’ ส่งผลให้ปริมาณขยะของ กทม. ในปี 2566 ลดลงจากปี 2665 จำนวนเฉลี่ย 204 ตันต่อวัน จาก 8,979 ตันต่อวัน เหลือ 8,775 ตันต่อวัน ​​หรือลดลงได้มากกว่า 74,460 ตัน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บลงได้มากกว่า 140 ล้านบาท ขณะที่ขยะอาหารเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดถึง​ 48%  จากขยะ 14 ประเภทตามชนิดของวัสดุ ซึ่งทาง กทม. ​ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป เพื่อนำไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ภายใต้การจัดการขยะของ กทม. ที่เน้นการจัดเก็บอย่างครอบคลุมเพื่อไม่มีขยะตกค้าง และกำจัดขยะที่จัดเก็บให้หมดวันต่อวัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด โดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือน และแหล่งกำเนิดขยะใหญ่ ๆ เช่นโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ตลาด วัด ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาเก็ต โรงพยาบาล ธนาคาร สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ร้านอาหาร ลดและคัดแยกขยะตามหลักการ 3R คือ Reduce ลดการใช้ ลดการผลิตขยะ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ โดยขยะรีไซเคิล จะนำไป​ส่งขาย ขยะอินทรีย์ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิด ขยะอันตราย แยกขายใช้ประโยชน์หรือส่งกำจัด ส่วนที่เหลือคือขยะทั่วไป ซึ่งจะมีการส่งกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การประกาศเจตจำนงความร่วมมือจัดการขยะอาหารจากศูนย์อาหาร จะเป็นการนำร่องความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินของประเทศ มีความร่วมมือสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. สนับสนุนให้ศูนย์อาหารและหน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูลและกำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยระบบคัดแยกและรวบรวมให้เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างเหมาะสม 2. ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน  3. ส่งเสริมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับผู้ประกอบอาหารและผู้จำหน่ายอาหารในการป้องกัน ลด คัดแยก และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน  4. พัฒนาและขยายผลรูปแบบที่เหมาะสมและแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินจากศูนย์อาหาร และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่แหล่งกำเนิด  5. ขับเคลื่อนนโยบายและแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ และการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง

“​​สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มุ่งสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบ สนับสนุนทางวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูล และผลักดันให้เกิดการจัดการขยะอาหารจากแหล่งอาหารอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย

Stay Connected
Latest News