ภารกิจ ‘รียูนิโคล่’ ​ขับเคลื่อน ‘วัฒนธรรรมไม่ทิ้งเสื้อผ้า’ ในสังคมไทย มุ่งสร้างดีมานด์ หวังเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยซ่อมแซมเสื้อผ้ามากขึ้น

ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจผ่านปรัชญา ‘LifeWear’ ของบริษัทแม่มาอย่าง​ต่อเนื่อง สำหรับ ยูนิโคล่ ประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืนในการขับเคลื่อนธุรกิจ​ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมให้ยั่งยืน ภายใต้ความเชื่อว่า เสื้อผ้ามีพลังที่สามารถทำให้ชีวิตจของผู้คนดีขึ้นได้ หรือ THE POWER OF CLOTHING โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการ RE.UNIQLO (รียูนิโคล่) ​ที่ปัจจุบันมีโมเดล​ขับเคลื่อน​ 4 รูปแบบ ประกอบด้วย

– Reuse :  รูปแบบการใช้ซ้ำ โดยรับบริจาคเสื้อผ้าใช้แล้วสภาพดี เพื่อส่งต่อให้ผู้ขาดแคลน

– Repair :  การซ่อมแซมเสื้อผ้าตัวโปรด เพื่อให้สามารถใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น

– Remake : ​การแปลงโฉมหรือตกแต่ง เพิ่มสไตล์ใหม่ๆ ให้เสื้อผ้า​ที่มีอยู่

– Recycle : การสร้างประโยชน์ให้​เสื้อผ้าที่เสื่อมสภาพ หรือชำรุด เพื่อเป็นเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม หรือเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่  รวมทั้งต่อยอดสู่การผลิตสินค้าอื่นๆ

ผู้บุกเบิก วัฒนธรรมไม่ทิ้งเสื้อผ้า ในประเทศไทย 

เป้าหมายสำคัญของรียูนิโคล่ คือ การยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าที่ผลิตออกมาแล้วให้ได้นานที่สุด ทั้งการใช้งานเองหรือการส่งต่อให้ผู้ที่มีความต้องการนำไปใช้งานต่อ หรือแม้แต่การใช้ประโยชน์จากเสื้อผ้าที่ชำรุดแล้วเพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะไปสู่หลุมฝังกลบ สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนของ SDG โดยเฉพาะ ข้อ 3 เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี  ข้อ 14 เพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และข้อ 15 เพื่อดูแลทรัพยาการบนบก รวมทั้งการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

คุณเขมจิรา เทศประทีป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า RE.UNIQLO เริ่มขับเคลื่อนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2015 และได้​บริจาคเสื้อผ้าให้องค์กรการกุศลเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการแล้วมากกว่า 2 แสนตัว โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มียอดผู้บริจาคเสื้อผ้ามากกว่า 9.4 หมื่นตัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 4 เท่า ซึ่งทางยูนิโคล่ได้คัดแยกเสื้อกันหนาว เสื้อแขนยาว และเสื้อผ้าประเภทอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพดีเพื่อส่งต่อให้ผู้ขาดแคลนแล้วกว่า 2.4 หมื่นชิ้น และจะเดินหน้าบริจาคให้ครบ 5 หมื่นชิ้น ภายในต้นปี 2567

พร้อมเดินหน้าขยายผลโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อรวบรวมเสื้อผ้าทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ด้วยการเพิ่มจุดตั้งกล่องรับบริจาคทั้งจากพนักงาน ร้านสาขายูนิโคล่ หรือห้างร้าน อาคารสำนักงานต่างๆ พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ อาทิ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิบ้านร่มไทรร และ UNHCR ประเทศไทย เพื่อส่งมอบเสื้อผ้าช่วยเหลือกลุ่มที่มีความต้องการ ทั้งจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น หรือกลุ่มผู้ประสบภัยต่างๆ สอดคล้องกับเป้าหมายที่บริษัทแม่อย่างฟาสต์ รีเทลลิ่ง ตั้งเป้าหมายบริจาคเสื้อผ้าทั่วโลกให้ได้ 10 ล้านชิ้นภายในปี 2025

“สำหรับ​​ RE.UNIQLO Studio ​ที่เปิดให้บริการสาขาแรกของประเทศไทยไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดี และจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญที่​ช่วยทั้งการ Educated และสร้างพฤติกรรมในการซ่อมแซมเสื้อผ้าให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในสังคมไทย ผ่านการให้บริการ Remake และ Repair ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจไม่เคยซ่อมแซมเสื้อผ้ามาก่อน ซึ่งยูนิโคล่จะมุ่งมั่น​สร้าง ‘วัฒนธรรม​การไม่ทิ้งเสื้อผ้า’ ให้ค่อยๆ เติบโตขึ้นในสังคมไทย เนื่องจากต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่นิยมซ่อมแซมเสื้อผ้าเก่า จากหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็น อยากได้เสื้อผ้าใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเสื้อผ้าในประเทศไทยที่ราคาไม่แพงมาก ทำให้การซ่อมแซมเสื้อผ้าเก่าอาจมีราคาไม่ต่างจากการซื้อใหม่ ซึ่งเชื่อว่าโมเดลต่างๆ ของรียูนิโคล่จะสามารถลดกำแพงเหล่านี้ลงได้ ทั้งจากการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย ในระดับราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้แม้ในปัจจุบันอาจจะยังไม่ใช่ดีมานด์หลักในตลาด แต่ยูนิโคล่จะค่อยๆ ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตเพิ่มขึ้นอนาคต”  

ตอกย้ำ LifeWear ลด Waste ​ทั้งห่วงโซ่ 

นอกจาก​โครงการรียูนิโคล่​แล้ว ยูนิโคล่ ประเทศไทย ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจตามปรัชญา LifeWear ที่เน้นการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ทั้งการออกแบบให้เรียบง่าย ​มีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ เพื่อให้สามารถใช้งานเสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นมาได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด รวมไปถึงปริมาณการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน และบริหารจัดการสินค้าและช่องทางขายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถขายสินค้าที่ผลิตออกมาได้ท้ังหมดโดยไม่มีการนำไปทำลายทิ้ง

“ยูนิโคล่รับฟังเสียงลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลออกแบบสินค้าให้ตรงความต้องการของลูกค้าและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการในตลาด ขณะที่สินค้าที่ผลิตออกมาแล้วก็จะมีการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งหมดโดยไม่มีสินค้าเหลือเพื่อนำไปทำลาย ประกอบกับการมีโครงการรียูนิโคล่​ ที่มีโมเดลบริหารจัดการเสื้อผ้าใช้แล้วครอบคลุมทั้ง Reuse Repair Remake และ Recycle รวมทั้งในญี่ปุ่นยังมีการทดลองโมเดลใหม่ ภายใต้โครงการรียูนิโคล่อย่าง Resale ที่นำสินค้ามือสองมาจำหน่าย และได้รับการตอบรับจากตลาดอย่างดี ซึ่งหลังจากการศึกษาผลตอบรับอย่างชัดเจนมากขึ้น อาจ​​ขยายการทดลองไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มแนวทางการสร้างประโยชน์จากเสื้อผ้าได้ในหลากหลายมิติเพิ่มมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ​ในธุรกิจแฟชั่น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับนโยบายด้านความยั่งยืน และมองการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยของการตัดสินใจซื้อ ขณะที่ยูนิโคล่นับเป็นแบรนด์แรกๆ ของตลาดที่พยายามจะบุกเบิกวัฒนธรรมใหม่ๆ ในธุรกิจแฟชั่น เพื่อเปลี่ยนจากการถูกมองว่าเป็น Fast Fashion และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก นำมาสู่การขับเคลื่อนธุรกิจตามปรัชญา LifeWear และมีนโยบาย RE.UNIQLO เพื่อสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งจากกระบวนการผลิตและภายในซัพพลายเชน โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี 2030

Stay Connected
Latest News