ท่ามกลางกระแสแบน และความกังวลต่อ Fast Fashion แต่ SHEIN ยังเติบโตต่อเนื่อง พร้อม​วางระบบการผลิตป้อนตลาด​แต่ละปี​มากกว่า 1 ล้านชิ้น

SHEIN ก่อตั้งขึ้นในนครหนานจิง เมื่อปี 2555 โดย มร.ซู่ หย่างเทียน ที่​เคยทำธุรกิจด้านการค้าต่างประเทศ และจำหน่ายชุดแต่งงาน แว่นตา ​สินค้าในกลุ่มแฟชั่นไอเท็มต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางเข้ามาสู่วงการค้าปลีกแฟชั่น จนกลายเป็นหนึ่งใน​แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น และแพลตฟอร์ม​ช้อปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ชั้นนำของโลก​ ที่มีการเติบโตได้อย่างโดดเด่น และน่าจับตา ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น

สำหรับแบรนด์ SHEIN ​(She-in) สะท้อนถึงกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ที่เน้นตลาดแฟชั่นสำหรับผู้หญิงเป็นหลัก โดยมีจุดเด่นที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มาจากการนำเสนอสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ๆ ​อย่างรวดเร็ว ภายใต้ราคาขายที่ต่ำกว่าคู่แข่งหลักๆ ในกลุ่มฟาสต์แฟชั่น​ ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความคุ้มค่ามากขึ้น ​

ข้อมูลจาก Zhongjin Research ระบุว่า SHEIN ใช้เวลาเพียง 7-15 วันในการออกแบบและเปิดตัวสินค้าใหม่ หรือมีการเสนอสินค้าใหม่มากกว่า 1 ล้านรายการทุกปี ​เทียบกับ​แบรนด์อื่นๆ ในตลาดอย่าง  ZARA ที่เปิดตัวสินค้าใหม่ในแต่ละปี​​ประมาณ 12,000 รายการ หมายความว่า อัตราการเสนอสินค้าใหม่ของ SHEIN ​สูงกว่า ZARA ประมาณ 100 เท่า และมี​​ราคาจำหน่าย​ถูกกว่า ZARA อย่างมาก

ขณะที่ข้อเปรียบเทียบในเรื่องของคุณภาพ จากความเห็นของบรรดา KOL หรือนักรีวิวต่างๆ ที่ให้ความเห็นไว้บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ขณะที่ราคานั้นแตกต่างกันเฉลี่ยเป็นเท่าตัว

ส่วนสาเหตุที่ SHEIN สามารถออกสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีจำนวนมากนั้น มาจากการสร้างความแตกต่างในระบบ Supply Chain หรือห่วงโซ่การผลิต ที่กระบวนการทั่วๆ ไป มักจะมี Economy of Scale ต้องมีปริมาณการสั่งซื้อในระดับที่มากพอจึงจะเริ่มทำการผลิตสินค้า แต่กลยุทธ์ของ SHEIN จะมีความแตกต่างกันออกไป เพราะจะวางปริมาณการสั่งซื้อขั้นต่ำกับทางโรงงานที่เพียง 100-200 ชิ้นก่อน และจะทำการเช็คความนิยมของสินค้าแต่ละชิ้น​จากแพลตฟอร์มแบบเรียลไทม์​  เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับปริมาณการสั่งผลิตในขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง

ภาพ : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (https://tech.caijing.com.cn/20240402/5001604.shtml)

ความแตกต่างในการบริหารกระบวนการผลิตและซัพพลายเชน ทำให้ SHEIN สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด พร้อมช่วยลดต้นทุนการผลิต และส่งผลต่อความสามารถในการวางราคาจำหน่ายในตลาดให้สามารถเอื้อมถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดย SHEIN ได้ร่วมมือกับโรงงานมากกว่า 3,000 แห่งในจีน ทั้งในพื้นที่​นครกวางโจว เมืองฝอซาน มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และนครเซี่ยงไฮ้

​​SHEIN เติบโตและได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ จากข้อมูลของ Coresight ระบุว่า ในปี 2565 SHEIN มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 หรือราว 20% ​ของตลาดฟาสต์แฟชั่นทั่วโลก ​แซงหน้าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่อย่าง H&M ที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 5%​ และ ZARA ที่มีประมาณ 15%​ ประกอบกับรายได้ของบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตามข้อมูลที่เคยระบุไว้ พบว่า  SHEIN เคยเปิดเผยยอดจำหน่าย​ในปี 2562 ที่ทำได้มาก​กว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ​ ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา มีการระบุ​ว่า บริษัท​ประสบความสำเร็จด้านผลกำไรสูงสุดเท่าที่เคยดำเนินธุรกิจมา

ความสำเร็จของ SHEIN ยังทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน มังกร 4 ตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ตามมูลค่า​ GMV (Gross Merchandise Volume) หรือปริมาณยอดขายทั้งหมดที่สามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา SHEIN เป็นแบรนด์ที่อยู่ในอันดับสูงสุด และไม่เพียงแค่รักษาการเติบโตของรายได้เท่านั้น แต่ยังสามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการเข้าไปซื้อกิจการ Forever 21  แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นของอเมริกา รวมทั้ง Missguided จากอังกฤษ และยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ​ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา (2556 -2566) SHEIN สามารถรับการระดมเงินทุนได้ถึง ​9 รอบ  จากกลุ่มนักลงทุนรวมถึงสถาบันการลงทุนที่มีชื่อเสียง เช่น IDG Capital/Hongshan China และ Tiger Global Management และเป้าหมายสำคัญในปี 2567 นี้ SHEIN กำลังให้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสำเร็จและการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมา SHEIN ต้องเผชิญกับอุปสรรคในหลากหลายด้าน เช่น ความท้าทายในการควบคุมต้นทุน​ ​​การแข่งขันอย่างรุนแรงในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ​รวมทั้งการมีข้อพิพาทด้านการละเมิดทั้งจากแบรนด์แฟชั่นหรือศิลปินอิสระต่างๆ โดยช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 SHEIN ถูกฟ้องในข้อหาละเมิดโดย Fast Retailing Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ Uniqlo) รวมทั้ง​แบรนด์แฟชั่นของอเมริกา For Love & Lemons นอกจากนี้ แบรนด์ Levi’s และ Ralph Lauren ยังได้ขึ้นศาลกับ SHEIN ในข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้า รวมทั้งยังกลายเป็นกระแสถูกต่อต้าน #แบนSHEIN จนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครเชิงตู  กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Stay Connected
Latest News