ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายภาคต่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย ต้องทำอย่างไร?

หลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch Center) ให้ข้อมูลเบื้องต้นเรื่องคาร์บอนเครดิต เพื่อทำความเข้าใจว่า คาร์บอนเครดิตคืออะไร มีอยู่กี่ประเภท นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นำไปซื้อขายได้อย่างไร รวมถึงสามารถทำกำไรได้หรือไม่

ล่าสุด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและโฟกัสมาที่เรื่องของ ‘คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย’ พร้อมให้ความกระจ่างถึงเงื่อนไขและปัจจัยที่ต้องพิจารณาถึงการ​ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต รวมทั้ง​ข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย
การดำเนินการที่ลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจก จะต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยงานรับรองตามระเบียบหรือเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อขึ้นทะเบียนโครงการและได้รับคาร์บอนเครดิต

โดยในประเทศไทยมีการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ชื่อว่า Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER ซึ่งมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนโครงการและให้การรับรองคาร์บอนเครดิต โดยเป็นกลไกคาร์บอนเครดิตในรูปแบบ Governmental Crediting Mechanism

ทั้งนี้ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต จะครอบคลุมการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ CO2 CH4 และ N2O แต่ต้องเข้าข่าย 7 ประเภทโครงการหลักตามที่ อบก. กำหนด ดังนี้

1. Renewable Energy

2. Factory

3. Transport

4. Waste

5. Energy Efficiency

6. Land Use

7. Carbon Capture Utilization and Storage

โดยมีตัวอย่างโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการแล้ว ตามตารางที่ 1

พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร?

1.  ขั้นตอนแรกก่อนเริ่มพัฒนาโครงการ ผู้พัฒนาโครงการจำเป็นต้องประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ เพื่อทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยสามารถวัดได้ในรูปแบบของคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร (CFO) หรือ คาร์บอนฟุตพรินท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) เพื่อประเมินหากิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก หรือ Emission Hotspots

2. จากนั้นจะเป็นการหาแนวทางเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมนั้น ๆ ผ่านการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตได้ผ่าน อบก. ตามระเบียบ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องที่ อบก. กำหนด

3. ​ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER เพื่อการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเมื่อดำเนินโครงการสำเร็จจึงสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก.


ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้พัฒนาโครงการต้องพิจารณาในการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต ได้แก่

1. ต้นทุนการดำเนินโครงการ เช่น ต้นทุนค่าธรรมเนียมโครงการ T-VER แก่ อบก. ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนโครงการ 5,000 บาทต่อโครงการ และค่าธรรมเนียมขอรับรองคาร์บอนเครดิต 5,000 บาทต่อคำขอ รวมถึงต้นทุนค่าดำเนินงานอื่น ๆ เช่น เงินลงทุนการเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น

2. ต้นทุนแก่ผู้ประเมินประเมินภายนอก (Third Party Verification) ได้แก่ ต้นทุนตรวจสอบโครงการ และปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขึ้นอยู่กับความซับซ้อน และแตกต่างไปตามประเภทของโครงการ ซึ่งอาจอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 65,000 บาทต่อโครงการ (รายชื่อผู้ประเมินภายนอกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อบก.)

3. ข้อจำกัด เช่น โครงการประเภทป่าไม้จะมีข้อกำหนดขนาดแปลงขั้นต่ำ 10 ไร่ การถือครองเอกสารสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน ข้อกำหนดรอบตัดฟันไม้ในพื้นที่โครงการระยะเวลา 10 ปี หรือโครงการประเภทอื่นๆ ต้องเป็นกิจกรรมที่เพิ่มเติมจากการดำเนินการในรูปแบบปกติ (Additionality) จึงจะสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้

กรณีต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต

อีกกรณีหนึ่ง คือการซื้อคาร์บอนเครดิต หากการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตยังไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ โดยผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์สามารถเปิดบัญชี T-VER Credit ในระบบทะเบียน (Registry) ของ อบก. เพื่อใช้สำหรับเก็บบันทึกปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองมาแล้ว และตัดออกจากบัญชีเมื่อมีการใช้งานคาร์บอนเครดิต

โดยช่องทางการซื้อขายสามารถดำเนินการผ่านการติดต่อกับผู้ขายโดยตรง (Over-the-Counter) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ FTIX ในประเทศไทย หรือสามารถเปิดบัญชีกับ Platform Trading Carbon Credit ของต่างประเทศ เช่น CBL Xpansiv, Air Carbon Exchange, Carbon Trade Exchange เป็นต้น เพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมได้

ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER

ประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ ปี 2559 โดยข้อมูลที่ถูกบันจนถึง เมษายน 2567​ อยู่ที่จำนวน 3,258,033 tCO2eq มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท คิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาท

ทั้งนี้ ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา (รูปที่ 3) ตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ปริมาณการซื้อขายยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด  ซึ่งอาจจะยังห่างไกลจากเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2593

เมื่อพิจารณาข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากตารางที่ 2 พบว่า ประเภทโครงการที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดเป็นโครงการประเภทชีวมวล (41% ของปริมาณการซื้อขายรวม) เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ง่าย แต่ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าโครงการประเภทอื่นที่ 36 บาทต่อตัน

แต่ที่น่าสนใจคือ ราคาคาร์บอนเครดิตในโครงการประเภทป่าไม้มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 290 บาทต่อตัน (และเฉลี่ย 510 บาทต่อตัน ในปี 2567) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมโดยเป็น 23% ของ เครดิตทั้งหมด ในปี 2657 ทำให้การเลือกประเภทโครงการคาร์บอนเครดิตเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพราะราคาที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อกระแสเงินสดที่จะได้รับจากโครงการ 

ท้ายที่สุด ประเด็นด้านต้นทุนการดำเนินการ ต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงข้อจำกัดในการทำโครงการต่าง ๆ คงเป็นปัจจัยที่ยังคงเหนี่ยวรั้งการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ

โดยเฉพาะจากผู้พัฒนาโครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน แต่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะภาคป่าไม้ที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาปิดช่องว่างเหล่านี้ ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยน่าจะก้าวทันโลก และมีส่วนช่วยให้ตอบโจทย์การเป็นประเทศปลอดคาร์บอนในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศไทยอย่างแน่นอน

Stay Connected
Latest News