วิศวะ จุฬาฯ มุ่งยุทธศาสตร์ SDGs [PR.NEWS]

ทิศทางของมหาวิทยาลัยยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องไปกับทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่ วิศวะฯ จุฬา ก็เช่นกัน

ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาประกาศจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ควบคู่กับการนำเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย มาเป็นกรอบแนวคิดที่จะผลักดันดำเนินการเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ภายใต้กรอบแนวคิด “เติบโต สมดุล ยั่งยืน” เพื่อส่งต่อความยั่งยืนให้แก่ลูกหลาน

จากงานเสวนาในหัวข้อ “ศาสตร์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาประเทศในยุค 4.0” ในงานวันอรุณ สรเทศน์ รำลึก โดย รศ. ดร.สุธา ขาวเธียร , รศ. ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ และรศ. ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้กล่าวถึงการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ผ่านมาที่มุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มุ่งการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการบริโภคของประชากรภายในประเทศให้สูงขึ้น การพัฒนาดังกล่าวจึงเป็นการเร่งรัดให้มีการนาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็ว ทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รวมถึงก่อให้เกิดปัญหามลพิษ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น

ปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเครื่องมือการจัดการสิ่งแวดล้อม จึงได้ถูกให้ความสำคัญเพื่อรองรับกับปัญหาข้างต้น โดยการเปลี่ยนแปลง กระบวนการผลิตไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเป็นกลไกที่เน้นย้ำความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในยุค 4.0

ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงต้องเป็นโมเดลที่มีการพัฒนาที่สมดุล ระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกลไกการขับเคลื่อนหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย 4.0 คือ Green Growth Engine การสร้างความมั่งคั่งของประเทศไทยในอนาคต จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

วิศวกรสิ่งแวดล้อมจึงมีบทบาทและเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในยุค 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่อยากเห็น

การเดินตามกรอบแผนยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2579

Stay Connected
Latest News