เปิดอาณาจักร“ศูนย์ฝึกคนพิการอาเซียน” ความหวังของคนพิการ

แม้คณะนักปั่น “คนตาดี ช่วยคนตาบอด” 40 กว่าชีวิต จะเข้าเส้นชัย “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน”  มิใช่แค่ว่า “คนพิการทำอะไรได้มากกว่าที่คิด” หากมุ่งสู่เป้า “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” อำเภอเชียงดาว อาณาจักรที่ทุกคนจะใช้ชีวิตเท่าเทียมกัน

 

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิเพื่อคนพิการ สรุปโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน ว่าได้ยอดบริจาคทั้งสิ้นเกือบ 30 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ 67 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี 2561 โดยจะใช้นักปั่นทีมเดิมแต่จะเปลี่ยนรูปแบบการรณรงค์ให้เล็กลงคือปั่นรับบริจาคครั้งละ 2 จังหวัด จนกว่าจะถึงสิ้นปี โดยเงินบริจาคทั้งหมดที่ได้มานี้จะนำไปสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนแห่งใหม่ บนพื้นที่ 33 ไร่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กับโมเดล ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน(Asian Disability Training Center)

 

ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดือนมิถุนายน 2560 พบว่ามีผู้พิการทั่วประเทศที่จดทะเบียน 1,802,375 คน หรือ2.72 % ของประชากรทั้งประเทศ โดยคนพิการอยู่ในวัยแรงงานมีจำนวน 802,058 คน ในจำนวนนี้มีผู้พิการที่ทำงาน 227,924 คน มีผู้พิการที่สามารถทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ 455,990 คน ที่เหลือคือผู้พิการที่รุนแรงไม่สามารถทำงานได้และต้องพึ่งพาผู้ดูแล จำนวน 574,134 คน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร
จะเห็นได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่ตามหมู่บ้านและชนบท และประกอบอาชีพการเกษตรและรับจ้างทั่วไปเป็นหลัก ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้

ด้วยเหตุนี้ทางมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงมุ่งเน้นไปที่เพิ่มขีดความสามารถของผู้พิการ (Empowerment) ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้คนพิการมีรายได้ เพื่อช่วยเหลือให้เขาสามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้เพียงพอและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน”(Asian Disability Training Center)

 

ลุงแอร์ ผู้เข้าฝึกอบรมอาชีพรุ่นที่1 ออกมาเลี้ยงจิ้งหรีด ทำแบรนด์ “จิ้งหรีดยิ้มสู้” ขาย

ศูนย์ฝึกแห่งนี้ เกิดจากแนวคิดของศ.วิริยะที่มองเห็นทางออกที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการได้ทั่วประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถก้าวข้ามความยากจนได้ จะต้องให้ผู้พิการและครอบครัวได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคงและเป็นอาชีพที่ทำได้จริงด้วยตนเอง จึงได้ตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.แม่ริม ที่ผ่านมามีการฝึกหลักสูตรอาชีพให้กับคนพิการจบไปแล้ว 3 รุ่น โดยฝึกอาชีพ 3 ด้านคือเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะเห็ดภูฐาน และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรอบการผลิตต่ำใช้เวลาเพียง 45 วันก็เก็บผลผลิตได้ขณะเดียวกันก็เป็นที่ต้องการของตลาดสูง

 

เอกชัย ลิ้นทอง คนพิการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้ทำงานอยู่ในศูนย์ฯ มีรายได้เดือนละ 9 พันบาท

ลุงแอร์- ทวีศักดิ์ อินทรชัย ผู้เข้าฝึกอบรมอาชีพรุ่นที่ 1 ซึ่งป่วยเป็นโรคกระดูกเอวซ้ายยุบ ทำงานหรือเดินไม่ค่อยไหว จึงเกิดความเรียดหันไปกินเหล้า แต่หลังจากได้เข้ารับการฝึกอาชีพที่ศูนย์ฯ ลุงแอร์เลือกเป็นเจ้าของ”ฟาร์มจิ้งหรีดยิ้มสู้” สร้างรายได้เดือนละหลายหมื่น ชีวิตความเป็นอยู่ทั้งครอบครัวดีขึ้นมาก

ขณะที่เอกชัย ลิ้นทอง ซึ่งพิการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็ญ เดิมมีอาชีพขายล็อตตารี่แต่มีความเสี่ยงสูง จึงเลือกเข้ารับการฝึกอาชีพที่ศูนย์แห่งนี้จบรุ่นที่ 1 ปัจจุบันเอกชัย มาเป็นครูผู้ฝึกสอนให้กับศูนย์ ซึ่งสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองเดือนละ9 พันบาท

อาณาจักรของคนพิการ

ปัจจุบันศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการฯ ที่อ.แม่ริม มีพื้นที่คับแคบ และไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่าง ๆ ให้กับคนพิการ จึงมีแผนสร้างศูนย์ฝึกอาชีพฯแห่งใหม่ที่อ.เชียงดาว บนพื้นที่ 33 ไร่ ซึ่งสามารถรองรับผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นต้นแบบของศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการในระดับภูมิภาคอาเซียน

ศ.วิริยะ กล่าวถึงเงินบริจาค 30 ล้านบาทที่ได้มาจากโครงการปั่นไม่ทิ้งกันว่าได้นำเงินมาเริ่มปรับภูมิทัศน์รอบ ๆ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่ อ. เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย อาคารสำหรับฝึกอาชีพ 5 หลัง โรงอาหารและใช้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพด้านอาหาร อาคารที่ทำเป็นโรงแรม 50 ห้องพัก สาธารณูปโภค และภูมิทัศน์รอบ ๆ ศูนย์ฝึก

 

ดร.อธิป อัศวานันท์ จากเครือซีพี มาช่วยคนพิการด้านการตลาด

“ศูนย์ฝึกแห่งนี้ พื้นที่ทุกตารางนิ้วถูกออกแบบโดยวิศวกรและสถาปนิก จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการออกแบบจากการวิจัยของจริงโดยได้รับการออกแบบทั้งอาคารและภูมิสถาปัตย์เพื่อทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้จริง”

แบรนด์ “ยิ้มสู้” สู้เพื่อคนพิการ

แนวคิดในการสร้างอาชีพให้กับคนพิการนั้น ศ.วิริยะตั้งเป้าให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพได้ครบวงจรคือ การผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการตลาดเพื่อการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

“หลังจากสมาชิกคนพิการฝึกอบรมเสร็จจากศูนย์นี้แล้ว เราต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่าย สร้างฐานฝึกย่อย เพื่อให้เข้าถึงคนพิการได้เร็วขึ้น และที่สำคัญคือทำการตลาดรองรับ ตอนนี้ผลิตขึ้นมาพอขายในชุมชน แต่ในอนาคตถ้าเราขยายฐานการผลิตมากขึ้น สินค้าจะมีมาก ตอนนี้เราจึงจับมือกับกลุ่มซีพี ทำแบรนด์ยิ้มสู้ ขึ้นมา”

 

ผักไฮโดรโพนิค ติดแบรนด์ยิ้มสู้ ขายในแมคโคร

 

ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงบทบาทของเครือซีพีว่า

“ เรามองศูนย์ฝึกอาชีพฯเหมือนมหาวิทยาลัยสำหรับสร้างนักศึกษา เอาคนพิการมาฝึกให้มีความสามารถด้านต่าง ๆ ส่วนเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาเชื่อมต่อเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการตลาดที่ต้องร่วมมือกัน”

ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์มีโครงการความช่วยเหลือคนพิการหลายอย่าง ในเครือมีการจ้างงานคนพิการจำนวนพันกว่าคน ร้าน7-11 จ้างทหารผ่านศึกพิการมาเช็คสต็อก ซีพีเอฟจ้างคนพิการทางการเคลื่อนไหวมาทำงานในโรงงาน ส่วนTrue ให้โอกาสคนหูหนวกมาฝึกเป็นบาเรสต้า

“ ตอนนี้เราร่วมกับศูนย์ฝึกอาชีพฯทำแบรนด์ ยิ้มสู้ให้สามารถนำผลิตภัณฑ์จากศูนย์ฯภายใต้แบรนด์นี้มาจำหน่ายที่แมคโคร ปัจจุบันมีผักไฮโดรโพนิคแบรนด์ยิ้มสู้วางจำหน่ายแล้ว เราตั้งราคาให้เท่ากับคู่แข่ง เพื่อให้คนพิการได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพจะได้อยู่อย่างยั่งยืน”

ขณะนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ความสนใจให้ทุนในรูปแบบ Social Enterprise ซึ่งในส่วนนี้ทางเครือฯ อาจจะช่วยคนพิการด้านการลงทุนโดยไม่เน้นดอกเบี้ย แต่ต้องการให้คนพิการสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจเองได้

Stay Connected
Latest News