“เพาะพันธุ์ปัญญา” หว่านกล้าสู่ ”ไพรบึงวิทยาคม” ปูฐานการศึกษาอนาคต

“ตั้งแต่ได้เข้ามาในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของหนู จากคนไม่เอาไหน ก็กลายมาเป็นคนรับผิดชอบมากขึ้น”  

นี่คือหนึงในเสียงสะท้อนจากเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จ.ศรีสะเกษ ที่ได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นโมเดลการศึกษาแนวใหม่ที่ต้องการสร้างเด็กนักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการทำโครงงานฐานวิจัยภายใต้ชื่อ “ SEEEM Project” ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยจัดกิจกรรมเยี่ยมชมงาน ณ โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ต.ไพรบึง อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ เพื่อเยี่ยมชมแปลงทดลองแนวคิดการเกษตร SEEM เกื้อกัน ของนักเรียนชั้นมัธยมปี 4

 

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ กล่าวถึงที่มาของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ที่โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จ.ศรีสะเกษ

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเพาะพันธุ์ปัญญา ขยายความถึงความหมายของ “SEEEM” คือแนวการนำแนวคิดแบบ “สะเต็มศึกษา” ( STEM) คือแนวทางการศึกษาที่เน้นการนำความรู้ไปแก้ปัญหาในชีวิตจริง ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ( Science) เทคโนโลยี ( Technology) วิศวกรรมศาสตร์ ( Engineering) และคณิตศาสตร์ ( Mathematics) มาบวกรวมกับการเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหลัก 3 ประการคือ

1.ความสมดุลมวลสารและพลังงาน
2.มองพื้นที่ให้เป็นระบบ
3. เปลี่ยนมวลสารให้มีมูลค่า

สาเหตุที่ต้องเป็นแนวคิดแบบSEEEM เพราะ STEM ยังคงสอนเพียงด้านเดียว คือการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้เกิดกระบวนการ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ระหว่างชนบทกับเมือง ด้วยเหตุนี้จึงนำแนวคิดเป็นSEEEM มาใช้ในการขับเคลื่อนการทำงาน

“ ทำอย่างไรจึงจะแปลงแนวคิดกับสะเต็มให้มาอยู่ในการปฎิบัติของนักเรียน และที่สำคัญคือจะต้องทำให้เด็กนักเรียนปฏิบัติและเชื่อมโยงให้เด็กนักเรีบยนเกิดปัญญาให้ได้ นั่นคือหลักใหญ่ของ SEEEMคือทำให้เกิดกระบวนการคิดเชิงกลไก เข้าใจกฎธรรมชาติเพื่อจัดการ และเข้าใจความยั่งยืนของโลกอินทรีย์” รศ.ดร.สุธีระ กล่าว

 

โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม นำโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามาอยู่ในระบการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2557 โดยมีความโดดเด่นในเรื่องการทำงานเป็นทีมของครูแกนนำที่มีการทุ่มเท และมาจากหลากหลายสาระวิชา การสนับสนุนจากผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา รวมทั้งชุมชนที่เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักเรียน

อาจารย์ วิเชียร ไชยโชติ กล่าวสรุปถึงผลการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้แบบ SEEEM สู่เด็กนักเรียนของโรงเรียนไพรบึงวิทยาคมว่า “ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาของโรงเรียนไพรบึงวิทยาคมดำเนินมาเป็นปีที่ 5 เด็กนักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะความคิดเป็นระบบมากขึ้น มีความกล้ามากกว่าเดิม สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ทางโรงเรียนพยายามสอนให้เด็กนักเรียนเชื่อมโยงทุกอย่างด้วยกันทั้งหมด และสามารถพัฒนาความคิดเชิงระบบโดยการสอนจากรูปแบบของการเกษตร”

สำหรับโครงงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี 4 ทำงานภายใต้แนวคิด “ SEEEM เกื้อกัน” เป็นการทำการเกษตรโดยนำของเหลือกลับมาใช้ใหม่ แบ่งเป็น 10 โครงงาน เริ่มทดลองการทำปุ๋ยสูตรต่าง ๆ จาก น้ำหมัก จากเศษผักที่ทิ้งในตลาด ไข่เน่า รำข้าว ฝรั่ง ฯลฯ. นำปุ๋ยและน้ำหมักส่งต่อไปให้อีกกลุ่มนำมาทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอและปลาดุก และนำน้ำที่ถ่ายออกจากบ่อปลาไปปลูกพืชผักเช่นผักบุ่ง ผักกวางตุ้ง กล้วย ไผ่กิมซุง โดยทุกกระบวนการของการทำงานเด็กนักเรียนจะต้องแสวงหาความรู้จากสิ่งรอบตัว มาดัดแปลงทดลองเพื่อหาผลที่ดีที่สุด

 

 

ท้ายที่สุด นี่คือเสียงสะท้อนเล็ก ๆ จากเหล่าต้นกล้าของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่จะเติบใหญ่ไปช่วยกันสร้างสังคม SEEEM เกื้อกันให้กับศรีสะเกษ

“ เราไม่จำเป็นต้องนำของเหลือใช้ไปทิ้ง แต่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่”
“ ก่อนจะทำโครงงานปลูกผักบุ้ง หนูไปถามวิธีการปลูกจากตา แต่ตาใช้ปุ๋ยเคมีซี่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ พวกเราเลยเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยหมักจากเศษผักที่เหลืองทิ้งจากตลาด พวกหนูเลยนำไปปลูกผักเลี้ยงปลา”
“ได้แง่คิดจากโครงการหลายอย่าง มีความรู้จากการแสวงหาและนำไปปฏิบัติจริง ตอนนี้หนูเลี้ยงปลาเพื่อหารายได้เสริม และปลูกผักจากสวนหลังบ้านของยายที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า”
“ หนูไปซื้อเมล็ดผักกวางตุ้งมาแล้วขอยายใช้พื้นที่สวนหลังบ้านปลูก เก็บกินและแบ่งให้เพื่อนบ้านด้วย”
Stay Connected
Latest News