มีแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ความปลอดภัย อาหาร …ยังต้องการอะไรอีก?

ตอบไม่ยาก “ห้องน้ำ” ต้องสะอาด มีมาตรฐาน จากนี้ไปห้องน้ำ หรือ “ห้องสุขสโมสร” ถือเป็นส่วนช่วยให้ศักยภาพการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนด้วย เพราะรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ก่อสร้างและดูแลได้โดยคนในชุมชน ต่อยอดพื้นที่รอบข้างซึ่งเป็นร้านค้าท้องถิ่นช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย

มาดูตัวเลขปี 2560 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35.38 ล้านคน อุตฯท่องเที่ยวสร้างรายได้รวม 2.75 ล้านล้านบาท เฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็ต้องการ “ห้องน้ำสะอาด” ไม่แพ้คนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวกันเอง

นับเป็นเรื่องสำคัญของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งหอการค้าไทยจับมือภาคีเครือข่าย ที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดตัว “ห้องสุขสโมสร” โดย สันติ ป่าหวาย รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และรศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผู้บริหารหอการค้าไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมเปิด “ห้องสุขสโมสร” หลังแรก ไซส์ M ในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย…โดยผู้ตั้งชื่อ “ห้องสุขสโมสร” คือดร.ศิริกุล เลากัยกุล

“ห้องสุขสโมสร” สำหรับแหล่งท่องเที่ยวสาธารณะ จะเป็นห้องน้ำที่ถูกออกแบบให้ได้มาตรฐาน แข็งแรง มีรูปแบบเป็นสากล ใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม สำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Universal Design) ดูแลรักษาง่าย ก่อสร้างได้เองโดยช่างในท้องถิ่น มีแผนการบริหารจัดการและคู่มือการทำความสะอาดที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เน้นการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม

นอจากนี้ ยังเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเริ่มตั้งแต่การก่อสร้าง ไปจนถึงการบริหารจัดการ และการดูแลรักษา อีกทั้งการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบให้เป็นร้านค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่น สามารถนำสินค้าและบริการของท้องถิ่นไปถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนเป็นการกระจายรายได้ที่ยั่งยืนและมั่นคงอีกด้วย

หอการค้าไทย ได้ประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสำรวจแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในท้องถิ่นที่ต้องการห้องน้ำสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐาน เพื่อจะได้จัดส่งแบบก่อสร้างห้องสุขสโมสรจะเริ่มที่ 85 แห่งตามอายุของหอการค้าไทย และทางทท.เสนอพื้นที่ท่องเที่ยวของเมืองรอง 55 จังหวัดในการสร้าง “ห้องสุขสโมสร” ด้วย

ทั้งนี้ เอสซีจี ได้มอบหมายให้หน่วยงาน SCG Eldercare Solution เป็นผู้ออกแบบ“ห้องสุขสโมสร” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการออกแบบให้ฟรี  โดยผู้เชี่ยวชาญของเอสซีจีได้ใช้แนวคิด “การแบ่งปันพื้นที่แห่งความสุขเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม” ซึ่งมีจุดเด่น 5 ด้าน ได้แก่

1) เอื้อต่อการใช้งานของทุกคนที่มีความแตกต่างด้านร่างกาย ทั้งบุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุผู้พิการ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียม ตามหลัก Universal Design โดยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุระหว่างใช้งานด้วยการคำนึงถึงระยะและการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการจะมีทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ ไม่มีธรณีประตู และใช้ประตูแบบเลื่อนเปิด-ปิดเพื่อการเข้าออกที่สะดวก ขนาดของห้องน้ำมีขนาดกว้างพอสำหรับการกลับตัวของวีลแชร์ สุขภัณฑ์และอ่างล้างหน้ามีความสูงพอเหมาะ มีราวจับในตำแหน่งลุก-นั่งเพื่อช่วยพยุงตัว ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านปัดเปิด-ปิดง่าย และพื้นห้องน้ำทำจากวัสดุที่ไม่ลื่น เป็นต้น
2) งานโครงสร้างเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สอดคล้องกับสภาพชั้นดินในภูมิภาคต่างๆ ของไทย
3)แบบก่อสร้างง่าย ช่างท้องถิ่นสามารถทำได้ หรือสามารถเลือกปรับ Lay Out ให้เหมาะสมกับพื้นที่จริงได้ด้วยตนเอง
4) สะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ผ่านรูปแบบ สีสัน วัสดุธรรมชาติรอบตัว ที่สามารถตกแต่งเพิ่มเติมให้อาคารสวยงาม กลมกลืน และเหมาะสมกับสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง
5) ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการออกแบบอาคาร ให้สูงโปร่ง เพื่อการระบายอากาศที่ดี และมีช่องแสงธรรมชาติ โดยแบบห้องน้ำดังกล่าวจะมี 4 ขนาด คือ ขนาด S พื้นที่ 16 ตารางเมตร ขนาด M พื้นที่ 35 ตารางเมตร ขนาด L พื้นที่ 50 ตารางเมตร และขนาด XL พื้นที่ 105 ตารางเมตร เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่
“ห้องสุขสโมสร” มีราคาเริ่มต้น 3 แสนบาท ขนาดไซส์ S แต่อย่างไรก็ตามราคาการก่อสร้าง จะเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดของไซส์ การเลือกวัสดุ เช่นหากเลือกกระเบื้งติดผนัง ราคาจะสูงกว่าการเลือกใช้ปูน แล้วทาสี ฯลฯ

ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยสนับสนุนวงเงินสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ที่มีความต้องการปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่อยกระดับห้องน้ำให้มีความสะอาดปลอดภัยในระดับสากล ตามแบบห้องน้ำมาตรฐาน “ห้องสุขสโมสร”อาทิ

สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาววงเงิน 50,000ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 3% คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเพียงวันละ 460 บาทเท่านั้น และสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 วงเงิน 8,000 ล้านบาท จากกระทรวงอุตสาหกรรมสำหรับผู้กู้ที่ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 1% ผ่อนนาน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรกเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) ไม่ต้องใช้ บสย.ค้ำประกัน

เนื่องจากเป็นความตั้งใจของภาคีเครือข่ายที่จะให้ชุมชนดูแล “ห้องสุขสโมสร” ในพื้นที่ของตนเอง โดยมีรายได้มาจากส่วนนี้ ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็ได้มีแผนฯ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ชุมชนที่นำแบบห้องสุขสโมสรไปใช้ เพื่อสร้างรายได้ในท้องถิ่น และดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน เพราะการที่ชุมชนท้องถิ่นนำแบบ  “ห้องสุขสโมสร” ไปสร้างและดำเนินการดูแลด้วยคนในท้องถิ่นเองนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างรายได้ เพื่อให้โครงการ ”ห้องสุขสโมสร”เลี้ยงตัวเองได้ในแต่ละท้องถิ่น

คาดว่าการบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัย กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวตามนโยบายภาครัฐอย่างแน่นอน

เป็นความตั้งใจของหอการค้าไทย ที่จะขอความร่วมมือ ให้ห้องน้ำที่เลือกใช้แบบ “ห้องสุขสโมสร” ติดชื่อนีไว้ที่ห้องน้ำ เพื่อสื่อสารถึงห้องน้ำที่ถูกออกแบบให้ได้มาตรฐาน แข็งแรง มีรูปแบบเป็นสากล ใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม สำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการ สตรีมีครรภ์ และเด็ก เช่นเดียวกับสปอนเซอร์เริ่มต้นคือ ไทยน้ำทิพย์ และเมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งแบรนด์หลังก็ต้องเช็คข้อมูลจากม.หอการค้าไทยให้ชัดเจนว่า เมื่อสนับสนุนแล้ว ใครเป็นผู้ดูแล บริหาร ค่าน้ำไฟ ความสะอาด และมีในพื้นที่ใดบ้าง เพราะ“ห้องสุขสโมสร” ที่สนับสนุน จะต้องมีโลโก้ของแบรนด์อยู่
Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม