“เซินเจิ้น” เปลี่ยนจาก “สุดยอดเมืองฝุ่นละอองเยอะที่สุด”มาป็น “สุดยอดเมืองที่ยั่งยืน”

หลายปีมานี้ “เซินเจิ้น” พยายามต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าปวดหัวที่สุดของประเทศจีน ซึ่งในที่สุดก็ชนะจนได้กลายเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในการลดระดับหมอกควันพิษในอากาศ การันตีด้วยรางวัลเชิดชูเกียรติในฐานะเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลกจากองค์การสหประชาชาติในปี 2002

 

 

“เซินเจิ้น” ถูกวางตำแหน่งให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ของประเทศจีน เพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ จากฮ่องกง จากเมืองเล็ก ๆ ซึ่งเดิมมีประชากรเป็นชาวประมง เซินเจิ้นพัฒนาอย่างรวดเร็วกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจดีติดอันดับของประเทศ แต่ผลที่ตามมาคือทั้งเมืองมีแต่มลพิษทางอากาศ  รัฐบาลจีนใช้เวลาไม่ถึงทศวรรษในการลดระดับมลพิษทางอากาศลงถึง 50 % จน McKinsey & Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกได้ตั้งฉายาเมืองเซินเจิ้นว่าเป็นเมืองที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศจีนในปี 2016 ทั้งนี้เพราะรัฐบาลเซินเจิ้นได้ใส่ใจต่อความสะอาดและปฏิรูปให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำจัดมลพิษทางอากาศบนท้องถนนอย่างจริงจัง รวมถึงปลูกต้นไม้ตามริมถนนควบคู่กันไป

 

ยิ่งไปกว่านั้น เซินเจิ้นยังถือว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่แรกๆของโลกที่ผลักดันการใช้รถบัสพลังงานไฟฟ้าจำนวน 16,000 คัน ซึ่งมากกว่าจำนวนรถบัสไฟฟ้าของเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส โตรอนโต นิวเจอร์ซี และชิคาโก รวมกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีปัญหาเสียงรบกวนอีกด้วย ทั้งยังมีราคาถูกกว่าการใช้รถบัสที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลด้วยซ้ำ เนื่องจากการใช้รถบัสไฟฟ้าทุกๆ 1,000 คัน จะช่วยให้ประเทศชาติประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงดีเซลได้ถึง 500 บาร์เรล และยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เซินเจิ้นบรรลุเป้าหมายด้านคุณภาพอากาศในปี ค.ศ. 2016 และ 2017 อีกด้วย

 

 

ปัจจุบันยังมีการนำรถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้ามาใช้ราว 62.5 % และมีแผนที่จะใช้รถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนทั้งหมดภายในปี 2020 ซึ่งเป็นการแสดงถึงการน้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้งาน กอปรกับการคิดต่อยอดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพในเมืองเซินเจิ้น เฉกเช่นเดียวกับการประกาศสงครามต่อต้านมลพิษ ที่ส่งผลให้ระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเซินเจิ้น มีปริมาณลดลงถึง 30 % ในปี ค.ศ. 2013

ในปีที่ผ่านมาเทศบาลเมืองเซินเจิ้นยังสนับสนุนต่อเนื่องโดยการสมทบทุนจำนวน 3.3 พันล้านหยวน (หรือราว 514.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)สำหรับการลงทุน e-busses และสิ่งอำนวยความสะดวกในการสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ทั้งยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการแท็กซี่และนักลงทุนเอกชนให้เข้ามาลงทุนสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้าอีกด้วย

Stay Connected
Latest News