เปิดใจ เคส พิเทอร์ ราเดอ “ท่านทูตหัวใจสีเขียว” สะท้อนวิถีแนวความยั่งยืนของคนดัตช์

วันนี้ SDThailand.com ได้รับเกียรติอย่างสูงได้เข้าไปเยือน

สถานทูตเนเธอร์แลนด์ในซอยต้นสน ถนนเพลินจิต

สถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ป่าสีเขียวใจกลางมหานครกรุงเทพฯ 

หลังประตูบานใหญ่ที่ดูเหมือนเป็นปราการป้องกันภัยจากภายนอก

เมื่อประตูถูกเปิดออก เหมือนเราหลงเข้าไปอยู่ในสวนป่าที่เป็นอีกโลกหนึ่ง

ซึ่งมีเพียงประตูบานเดียวกั้นอยู่

พื้นที่ทั้งหมดของสถานทูตฯปกคลุมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ขนาดใหญ่

แซมด้วยสนามหญ้าสีเขียว มีลำธารเล็ก ๆ ไหลคดเคี้ยว

กลายเป็นแหล่งอาหารให้บรรดาสัตว์ใหญ่น้อยที่ถูกเบียดเบียนพื้นที่อาศัยไปทำคอนโด

ต้องหนีมาอาศัยพักพิงบนผืนป่ากลางกรุงแห่งนี้อย่างมีความสุข

บรรยากาศเช่นนี้ทำให้จิตใจของเรากลับเย็นสงบขึ้นมาทันที

 

ในฐานะคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศ ต้องขอบอกว่า “ขอบคุณที่ยังเก็บต้นไม้ใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน”

ฯพณฯ เคส พิเทอร์ ราเดอ (Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ในฐานะเจ้าบ้านมาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมพาเราเดินชมบริเวณรอบ ๆ สถานทูต ซึ่งนอกจากสวนป่าแล้วยังมีอาคารโบราณทีมีประวัติความเป็นมายาวนานและได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯเมื่อปี 2530

ไม่เพียงแต่สถานทูตที่เป็นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ท่านทูตเคส ก็เป็น “ท่านทูตหัวใจสีเขียว+ความยั่งยืน” ที่รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน sustainability เฉกเช่นเดียวกันคนเนเธอร์แลนด์ทั้งหลาย  ดังนั้นนอกจากบทบาทของการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศแล้ว

ท่านทูตเคสยังให้ความสนใจและมีบทบาทอย่างมากในเรื่องการสร้างความรู้ ความเข้าใจและเพิ่มบทบาทความยั่งยืนในประเทศไทยจนทำให้คนส่วนมากรู้จักท่านทูตและประเทศเนเธอร์แลนด์ในด้านความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยผ่านกิจกรรมสำคัญ อาทิ กิจกรรมปั่นจักรยานเยื่อกรุงเก่าอยุธยา เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบไม่สร้างมลภาวะ , การจัดงาน Dutch-Thai Sustainability Conference หรืองานประชุมสัมมนาเพื่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความยั่งยืน โดยเน้นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์อีกด้วย

รวมถึงการนำงานวิจัยด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาครัฐและเอกชนของไทย ผลักดันให้เกิดการพัฒนาและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและการรักษาสิ่งแวดล้อม

 

วันนี้ SDThailand.com ขอใช้เวลาช่วงสั้น ๆ พูดคุยกับท่านทูตเคส เพื่อเรียนรู้แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนในรูปแบบของคนเนเธอร์แลนด์ ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรหนาแน่น แต่เป็นผู้ส่งออกอาหารเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยยึดวิถีเกษตรยั่งยืน ภายใต้คำขวัญรณรงค์ว่า “ผลิตอาหารให้ได้เพิ่มขึ้นสองเท่า โดยใช้ทรัพยากรเพียงครึ่งเดียว”

พลังงานหมุนเวียน

ประเทศเนเธอร์แลนด์กำลังพัฒนาเรื่องพลังงานหมุนเวียน แต่รูปแบบการใช้ในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา อย่างไรก็ตาม เรามีแผนที่จะพัฒนาและตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก ตัวอย่างเช่น ยานยนต์ไฟฟ้าตอนนี้ได้รับความนิยมมากในเนเธอร์แลนด์ และเราเป็นอันดับสองหรือสามในสหภาพยุโรป ในเรื่องของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่เนเธอร์แลนด์มีสถานีชาร์จไฟรถ 40,000 แห่ง รถประจำตำแหน่งผมก็เป็นไฮบริดจอดอยู่ข้างล่าง และเราก็ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในกรุงเทพด้วย ผมคิดว่านี่คือจุดหนึ่งที่ไทยน่าจะพัฒนาได้เช่นกัน

เราตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบพลังงานหมุนเวียนมานานแล้ว เนเธอร์แลนด์ใช้พลังงานกังหันลม และตั้งฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่ง เน้นที่ทะเลเหนือ เพราะเรามีประชากรหนาแน่น จึงยากจะหาพื้นที่บนบกที่กว้างพอสำหรับกังหันขนาดใหญ่เหล่านั้น และประชาชนก็ไม่อยากมีกังหันอยู่ติดบ้าน เนื่องจากเสียงดังและอื่น ๆ เราจึงตั้งฟาร์มกังหันในทะเลแทน และใช้มาระยะหนึ่งแล้ว

 

 

งานวิจัยอื่น ๆ ในศูนย์ที่ทันสมัยของเนเธอร์แลนด์ มีถนนโซลาร์ ที่ต่อไปคุณจะขับรถบนแผงโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งยังอยู่ในขั้นทดลอง ซึ่งมีสองโมเดล คือคอนกรีตกับยางมะตอย โดยถนนจะเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ตอนกลางวันและนำมาใช้ตอนกลางคืน นอกจากนี้ ถนนยังทาด้วยสีสะท้อนแสง คุณจะมองเห็นทางได้ชัดโดยไม่ต้องมีไฟส่องถนน และรถยนต์ในยุโรปหลายประเทศจะชาร์จไฟได้ระหว่างที่แล่นไปบนไฮเวย์ โครงการยังอยู่ในขั้นทดลอง ยังไม่ได้ใช้ทางธุรกิจ ยังเป็นอนาคตที่ค่อนข้างไกล แต่ก็ถือว่ามีความหวัง   อีกการทดลองที่น่าสนใจคือรถขยะที่ปั่นไฟฟ้าได้ ทดลองใช้ในหมู่บ้านที่เนเธอร์แลนด์ ตอนกลางวันบ้านจะรับพลังงานแสงอาทิตย์ทางแผงโซลาร์เซล ส่วนตอนกลางคืนมีรถขยะเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรองครบวงจร ซึ่งยังอยู่ในขั้นวิจัยเช่นกัน

 

ขยะพลาสติก

ปัญหาของประเทศไทยที่ค่อนข้างรุนแรงคือเรื่องขยะพลาสติก อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมอันดับที่ 6 และ 80 % ของพลาสติกเหล่านั้นลงไปสู่มหาสมุทร เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ถือเป็นปัญหาวาระเร่งด่วนก็ว่าได้

ถ้าไปซูเปอร์มาร์เก็ตที่เนเธอร์แลนด์ คุณจะเห็นว่าแทบทุกคนนำถุงของตัวเองมาด้วย จะเป็นถุงผ้าฝ้ายหรืออะไรก็ตาม เพราะถ้าไม่นำถุงผ้ามาจะต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตใบละ 5-10 ยูโร ซึ่งผมเองก็รู้สึกว่าทำไมเราจะต้องใช้ใบใหม่แทนที่จะนำใบเก่ากลับมาใช้ ทุกวันนี้ผมจะมีถุงใบเล็ก ๆ เก็บในกระเป๋า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการตระหนักรู้ ที่หลายประเทศก็ตระหนักแล้ว

แต่เพียงแค่รู้หรือเห็นยังไม่เพียงพอ เพราะนี่คือเรื่องที่ต้อง “ตระหนัก” ด้วย และถึงตอนนี้ ผมคิดว่าในเนเธอร์แลนด์มีความตระหนักในประเด็นที่เกี่ยวกับถุงพลาสติกเกือบ 100% แล้ว ทุกคนเข้าใจว่าเราจะใช้ถุงพลาสติกใบใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ และหลายประเทศก็ทำสำเร็จ อย่างบางประเทศในแอฟริกา ห้ามใช้ถุงพลาสติกทั้งหมดอย่างเด็ดขาด

เมื่อไม่นานมานี้ผมไปกัมพูชา คนที่ร้านถามว่าผมต้องการถุงพลาสติกหรือไม่ ถ้าจะรับถุงผมจะต้องจ่ายแพง นั่นคือสิ่งที่ทำกันทั้งในเนเธอร์แลนด์และอีกหลาย ๆ ประเทศ เท่ากับยืนยันแล้วว่าเรื่องนี้ปฏิบัติได้จริง

 

 

สำหรับปัญหาขยะที่เนเธอร์แลนด์มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่ใช้คำว่า “ขยะ” (waste) อีกต่อไปแล้ว เพราะขยะไม่มีจริง ทุกอย่างเป็นแหล่งทรัพยากรที่ทำเงินได้ เรามีวิธีเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน 80-85 % เพื่อใช้ในระบบสาธารณูปการ เหลือพียง 10 – 15 % ที่ใช้ถมดิน จนตอนนี้ต้องนำเข้าขยะจากเยอรมนีเพราะขยะในเนเธอร์แลนด์ไม่พอใช้

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีหากภาคเอกชนเห็นด้วยกับมาตรการเหล่านี้แทนที่จะถูกบังคับ และตัดสินใจดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนมากขึ้นเอง เราอยากจะปรึกษาและชี้แนะ ให้ภาคเอกชนหันมาใช้วิถีทางยั่งยืน แทนที่จะต้องบังคับด้วยกฎหมาย แต่ถ้าจำเป็น ก็ต้องออกมาตรการบางอย่าง เช่น ประเด็นถุงพลาสติกที่ตัดสินเลยว่า ต่อไปนี้ทุกคนต้องจ่ายค่าถุง

ทุกวันนี้ ในเนเธอร์แลนด์ไม่มีการทิ้งขวดพลาสติกกันแล้ว ทุกคนแยกขวดและนำกลับไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งต้องมีหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการให้ถูกต้องด้วย เรามีศูนย์จัดเก็บและเปลี่ยนขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ตอนนี้ในยุโรปก็แยกขยะกันหมด ไม่ต้องสอนผู้บริโภคแล้ว

 

รถยนต์ไฟฟ้า

ในเนเธอร์แลนด์ รถยนต์ Tesla ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามีราคาแพงสูง แต่ถ้าคุณซื้อรถยนต์ยี่ห้อนี้ในเนเธร์แลนด์ คุณจะได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาล เช่นจ่ายภาษีน้อยลง แน่นอนหลายคนอาจมองว่า ส่วนใหญ่คนที่จะซื้อรถยนต์Tesla คือคนรวย เพราะเป็นรถราคาแพง ซึ่งทำให้ช่องว่างเรื่องความไม่เท่าเทียมของฐานะยิ่งขยายกว้าง แต่จะเป็นผลดีในแง่สภาพอากาศ ก็จะต้องมีการหารือกันในเรื่องแรงจูงใจแนวนี้

เรื่องที่ประเทศไทยน่าจะทำในเวลานี้คือการคมนาคมหันมาเพิ่มการ ใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ผมคิดว่ารัฐบาลก็ทราบเรื่องสภาพอากาศที่จะรุนแรงขึ้น ในเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2556 ก็ไม่มีรถใช้น้ำมันเชื้อเพลงให้ซื้อแล้ว และประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ก็มีเส้นตายที่จะเลิกใช้รถดีเซล เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น เรื่องเหล่านี้กำลังก็เป็นกระแสที่กำลังจะมา สำหรับประเทศผู้ผลิตรถยนต์ ถ้าเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ก็ถือว่าได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างเช่นประเทศจีนก็กำลังเปลี่ยนเช่นกัน

 

รถพลังงานไฟฟ้าเริ่มราคาถูกลงเรื่อย ๆ ตอนนี้เทสล่ามีโมเดลที่ 3 แล้ว ซึ่งถูกกว่ารุ่นแรกที่ราคาแพง และราคาก็จะลดลงเรื่อย ๆ ส่วนค่ายรถยนต์อย่าง โฟล์คสวาเก้น, BMW พวกเขาลงทุนเรื่องนี้หลายพันล้าน และระยะหลังมีรถอีวีพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ออกมาในตลาดมากมายในแต่ละปี เพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่าโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ

ถ้าคุณดูรูปถนน Fifth Avenue ในนิวยอร์ก เมื่อปี 1901 คุณจะเห็นว่ารถเกือบทั้งหมดเป็นรถม้า ใช้ม้าลาก มีรถยนต์แค่คันเดียว จากนั้นในปี 1912 บนถนนฟิฟธ์ อเวนิว แมนฮัตตันจุดเดียวกัน คุณเห็นแต่รถยนต์ มีม้าตัวเดียว ในเวลา 10 ปี โครงสร้างคมนาคมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ก็ต้องปรับตัว และถ้าเริ่มก่อนก็ทำเงินได้ ในยุโรป ผมเห็นที่ประเทศของผมเอง ทุกครั้งที่กลับไปอัมสเตอร์ดัม ผมจะเห็นสถานีชาร์จไฟและจุดจอดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มากขึ้นเรื่อย ๆ

 

เศรษฐกิจหมุนเวียน

ผมคิดว่ามีการวางแผนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน cirrcular economy อยู่ และเราตั้งใจจะประสานให้ผู้เชี่ยวชาญของไทยและเนเธอร์แลนด์ได้พบกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนา หลายบริษัทของเรามีแนวคิดสร้างสรรค์ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่เราพยายามผลักดันอย่างหนัก รัฐบาลของเราลงมติว่าจะใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในปี 2015 อย่างที่ผมบอกว่าโลกของเราควรจะเป็นอย่างไร เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากร เราจึงเลือกวัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

 

ตัวอย่างง่ายๆ คือ “โคมไฟ” เดิมเราซื้อโคมไฟมาใช้ในบ้าน พอแตกก็ซื้อใหม่ แต่ปัจจุบันบริษัทฟิลลิปส์ซึ่งเป็นบริษัทดัทช์ เปลี่ยนมาใช้ระบบ “เช่าโคมไฟ” โดยทำสัญญามาติดตั้งพร้อมทั้งดูแลซ่อมแซมโคมไฟ เพียงคุณจ่ายค่าบริการต่อเดือนเท่านั้น ถ้าไฟในบ้านเสีย ฟิลลิปส์ก็จะมาซ่อม

วิธีนี้ทำให้ฟิลลิปส์ต้องสร้างโคมไฟที่ทนทานขึ้น จากเดิมที่เสียแล้วลูกค้าซื้อใหม่ กลายเป็นเสียแล้วฟิลลิปส์ต้องมาซ่อม ซึ่งบริษัทก็จะมีค่าใช้จ่าย จึงต้องลงทุนทำผลิตภัณฑ์ให้ออกมาทนทานและใช้ได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากกระตุ้นให้เกิดขึ้น และเราก็พยายามประสานบริษัทดัทช์กับบริษัทไทย เพื่อเรียนรู้แบ่งปันแนวคิดนี้ให้แก่กัน

 

บริษัทยั่งยืน

แนวคิดเรื่องความยั่งยืนนั้นเป็นที่ยอมรับในธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ นอกจากเพื่อคนรุ่นต่อไปแล้ว ทางธุรกิจเองยังทำเงินได้มากกว่าด้วย ตัวอย่างเช่นยูนิลีเวอร์ ซีอีโอก็ผลักดันแนวทางความยั่งยืน เพราะสุดท้ายก็จะทำกำไรได้มากขึ้นด้วย ผลการวิจัยดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์พบว่าบริษัทระดับสูงที่ผลิตด้วยระบบยั่งยืนจะทำกำไรได้มากกว่า ตัวอย่างเช่น ไฮเนเก้น เนื่องจากการผลิตเบียร์ใช้พลังงานและน้ำมาก ถ้าใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด สงวนพลังงานได้มากที่สุด กำไรก็ย่อมเพิ่มขึ้น ความยั่งยืนจึงส่งผลดีต่อธุรกิจด้วย บางส่วนอาจจะลงทุนมาก แต่ก็เพื่อคนรุ่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในทางจริยธรรม ธุรกิจก็ควรมีแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ผมเพิ่งเข้าประชุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีผู้เข้าร่วม 1500 ราย ผู้แทนหลายคนมาจากาภคเอกชน พวกเขาบอกว่า ถ้า 10 ปีก่อนคุณถามถึงเป้าหมายของบริษัท พวกเขาจะบอกว่าเพื่อทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น แต่วันนี้จะพูดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้ บริษัทเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสังคมของเรา นอกจากทำกำไรยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ให้เด็กรุ่นต่อไปได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

 

 

อีกตัวอย่างหนึ่งในดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ คือ KLM ซึ่งเป็นสายการบินอันดับหนึ่งทางด้านความยั่งยืนมาตลอด สายการบินอื่น ๆ อาจจะมองว่าแปลก ที่ KLM บอกในโฆษณาว่าให้ “คิดก่อนบิน และบินเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น” ตัวอย่างเช่นจากอัมสเตอร์ดัม จะเดินทางไปปารีส, เบอร์ลิน หรือลอนดอน ทำไมไม่ใช้รถไฟแทนการนั่งเครื่อง? ซึ่งก็นับว่าแปลกสำหรับสายการบินที่จะโฆษณาให้คู่แข่ง แต่ KLM ทำเพราะตระหนักว่าสนามบินรองรับผู้โดยสารเต็มพิกัดแล้ว เราต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ และนั่นคือเหตุผลที่มีการผลักดันให้เกิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมากขึ้นในยุโรปเช่นเดียวกับในจีนที่พัฒนาอยู่ แทนที่จะบินจากอัมสเตอร์ดัมไปปารีส เราก็ใช้รถไฟแทน เรื่องความเร็วนั้นใกล้เคียงกัน เพราะรถไฟส่งในเมือง แต่ถ้าใช้เครื่องบิน คุณลงที่สนามบินแล้วต้องเดินทางเข้าปารีสอีก อุตสาหกรรมการบินต้องเปลี่ยนมุมมอง และใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ

 

ความร่วมมือระหว่างเนเธอร์แลนด์กับไทยด้านความยั่งยืน

ความร่วมมือระหว่างเนเธอร์แลนด์กับไทยเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา เรามีบริษัทไฮเทคของดัทช์ อย่างเช่น เดลต้า ที่ทำในเรื่องของน้ำ ทำวิจัยทั้งภายใน และร่วมกับ ONWR สำนักงานทรัพยากรน้ำ เรื่องนี้สำคัญเพราะมีภัยแล้ง เราได้ทำ MOU กับกระทรวงฯเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพราะแน่นอนว่าภัยแล้งคือผลกระทบรุนแรงจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
ในส่วนของภาคเกษตรกรรม เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีมหาวิทยาลัยชั้นของดัทช์ที่เป็นสุดยอดมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรของโลก และมีงานวิจัยมากมาย

ประเด็นหนึ่งทางด้านเกษตร คือพยายามสร้างแรงจูงใจให้ใช้น้ำน้อยลงในการเพาะปลูก ที่เนเธอร์แลนด์ ปลูกมะเขือเทศได้ผลผลิต 1 กิโลใช้น้ำเพียง 4 ลิตร แต่ที่สเปนหรือโปรตุเกสผลิตมะเขือเทศหนึ่งกิโลต้องใช้น้ำถึง 14 ลิตร เพราะเราพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนแล้งได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยน่าจะสนใจมาก เนื่องจากมีภัยแล้ง การพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อยลงได้ก็คงจะดี

อีกเรื่องที่เราสนใจในกลุ่ม 7 ประเทศ คือน้ำเค็มที่เข้ามามากขึ้นเพราะระดับน้ำทะเลสูงกว่าเดิม พืชหลายชนิดอยู่กับน้ำเค็มไม่ได้ แต่จะมีบางอย่างเช่นมันฝรั่งที่เติบโตได้ในดินเค็ม ที่เนเธอร์แลนด์เราทำวิจัยเรื่องนี้มาก และเราสามารถร่วมมือกับไทยในการช่วยพัฒนาสายพันธ์เหล่านี้ เราพยายามแบ่งปันประสบการณ์กับหลายบริษัท และอยากจะทำงานด้านเกษตรให้มากขึ้น ผมหวังว่าจะได้ไปเยี่ยมเยียนรัฐมนตรีเกษตรคนใหม่ของคุณด้วย

 

เราตระหนักว่าประเด็นความยั่งยืนนี้สำคัญมากสำหรับเนเธอร์แลนด์ เราหารือกันว่าต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ และต้องร่วมมือกันจึงจะสำเร็จ รวมทั้งแบ่งปันองค์ความรู้ อย่างเช่นเนเธอร์แลนด์วิจัยพลังงานลม ร่วมมือกันก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า สถานทูตเราอยากจะประสาทภาคเอกชนของไทยกับภาคเอกชนดัทช์ เพื่อหาทางร่วมมือกัน เราจัดงานหลายครั้ง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ มีงานจักรยาน, ประกวดผลงานศิลปะ

เราชวนศิลปินเยาวชนของไทยมาสร้างงานด้วยวัสดุของเรา และเราพอใจงานของผู้ที่ชนะการประกวดมาก เป็นเด็กหนุ่ม 2 คนที่ท่าทางดีและมีพลัง พวกเขาสร้างงานศิลปะที่ทำจากหลอด 38,000 ชิ้น ที่มาของตัวเลขนี้เพราะในชั่วชีวิตคนจะใช้หลอด 38,000 ชิ้นตามผลการวิจัย เป็นผลงานที่ทำให้รู้สึกว่า WOW!!! เราใช้หลอดมากขนาดนี้เลยหรือ เราจะตั้งแสดงชิ้นงานศิลปะนี้ไว้ที่ชั้นล่าง ตรงทางเข้าสถานทูต

งานใหญ่ของเราคือการประชุมที่เชิญอดีตนายกรัฐมนตรีของเรา ซึ่งทำงานด้านความยั่งยืน มาพบกับเอสซีจี, กลุ่มซีพีอี, อินโดรามา ทุกกลุ่มเข้าร่วมอย่างจริงจัง รวมทั้งบริษัทข้ามชาติของดัทช์ ยูนิลีเวอร์, เชลล์, ฟิลลิปส์, เคแอลเอ็มก้มาร่วมด้วย เป็นการหารือในระดับซีอีโอว่าทำอย่างไรอัมสเตอร์ดัมจึงใช้วิถีทางยั่งยืนมากขึ้น เนเธอร์แลนด์จะถ่ายทอดประสบการณ์อย่างไร และมีโครงการออกมาอย่างเช่นเรื่องถุงพลาสติก มีการแลกเปลี่ยนความคิด และหาวิธีว่าจะพัฒนาอย่างไรต่อไป ผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมารวมตัวกัน และจะบริหารจัดการโดยมีสถาบันวิจัย เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และพัฒนาในอนาคต เรายินดีที่ได้ประสานให้มาพบกัน แต่ในที่สุด ภาคเอกชน, ภาครัฐ และสังคมก็คือผู้ที่ต้องลงมือทำ

เวลา 1 ชั่วโมงกับบทสนทนาของท่านทูตหัวใจสีเขียวหมดไปอย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้น ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนไทยจะได้รับเมื่อเรียนรู้วิถีแนวความยั่งยืนของคนเนเธอร์และ และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งประเทศของเรา เมืองไทยจะน่าอยู่มากขึ้น

Stay Connected
Latest News