“อ่างเก็บน้ำคลองหลวง” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสุดท้ายในรัชกาลที่ 9

เมื่อก่อนนี้บริเวณพื้นที่เกาะจันทร์ พานทอง พนัสนิคม จ.ชลบุรี ในช่วงฤดูฝนเกิดอุทกภัยน้ำท่วมทุกปี ขณะที่ฤดูร้อนกลับแห้งแล้งไม่มีน้ำใช้ทำการเกษตร ทำให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวเดือดร้อนตลอดทั้งปี จนกระทั่งในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำ ซึ่งอ่างเก็บน้ำในโครงการฯแล้วเสร็จในปี 2559


นับแต่นั้นเป็นต้นมาพื้นที่บริเวณนี้ก็ไม่มีน้ำท่วมอีกเลย เพราะสามารถชะลอน้ำที่จะไหลลงไปยังพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนในช่วงฤดูน้ำหลาก ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่ 4 อำเภอคือ เกาะจันทร์ พนัสนิคม พานทอง และชลบุรี เสริมศักยภาพการใช้น้ำเพื่อเตรียมพร้อมรับ EEC นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำคลองหลวงยังเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านบริเวณรอบ ๆ ได้รับประโยชน์ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม การประมง และแหล่งท่องเที่ยว

ในโอกาสนี้มูลนิธิปิดทองหลังพระ ได้นำสื่อมวลชนไปชม “อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับแหล่งน้ำที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการสุดท้ายที่แล้วเสร็จในรัชสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 9 และสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่ประชาชนในพื้นที่

 

อ่างเก็บน้ำชุบชีวิต

 

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความบางตอนว่า…” อ่างเก็บน้ำคลองหลวง ความจุน้ำประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่กรมชลประทานจะก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำคลองหลวง ที่พิกัดที่ 47 PQQ 546- 804 แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง 5235 และมีระบบส่งน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำโดยตรงเพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 32,000 ไร่ ตามโครงการที่วางไว้ได้ จุดประสงค์หลักที่ได้วางโครงการก็เพื่อจะได้ก่อสร้างอย่างประหยัดและรวดเร็ว เป็นการแก้ไขการขาดแคลนน้ำและยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำได้อีกด้วย”

เดือนพฤษภาคม 2538 มีรายงานการทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 โดยอนุมัติในหลักการเพิ่มกรอบวงเงินจากเดิมอนุมัติ 6,700 ล้านบาท เป็นวงเงิน 9,341,364,700 บาท ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการจาก 7 ปี เป็น 10 ปี
โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดโครงการฯนี้

 

 

หลังจากที่อ่างเก็บน้ำคลองหลวงแล้วเสร็จ พื้นที่ส่วนล่างคือ 4 อำเภอคือ เกาะจันทร์ พานทอง พนัสนิคม และอำเภอเมือง ไม่มีน้ำท่วมอีกเลย

การประปาส่วนภูมิภาคได้เริ่มดำเนินการโครงการก่อสร้างขยายประปา สาขาบ้านบึง-พนัสนิคม ตั้งแต่ปี 2558 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2561 โดยก่อสร้างสถานีผลิตน้ำคลองหลวง มีกำลังผลิตน้ำประปาประมาณ 36,000 ลบ.ม./วัน โดยอ่างเก็บน้ำคลองหลวงจะจัดสรรน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาคประมาณ 13.0 ล้านลบ.ม./ปี สำหรับผลิตน้ำประปาให้ประชาชนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 ล้านบาทต่อปี

ตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำคลองหลวงเกิดขึ้น ได้เพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรเป็น 7 หมื่นไร่ สามารถสร้างอาชีพหลากหลาย ทำให้ชาวบ้านรอบ ๆ อ่างเก็บน้ำมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้คุณภาพชีวิตอยู่ดีมีแต่รอยยิ้ม

 

ลุงประจวบผู้เสียสละ

ลุงประจวบ สืบญาติ เป็นชาวบ้านอำเภอพานทอง และได้ย้ายมาทำกินที่บริเวณเกาะจันทร์เมื่อปี 2510 อาศัยปลูกอ้อยเลี้ยงชีพซึ่งได้ผลผลิตดีพอสมควร แต่ลุงประจวบต้องมาเจอปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำกินทุกปีสร้างความเสียหายอยู่เป็นประจำ

เมื่อทางกรมชลประทานมาสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงในบริเวณพื้นที่บริเวณอำเภอพานทองซึ่งกินพื้นที่ของลุงประจวบและราษฎรอีกหลายครัวเรือนที่จะต้องถูกเวนคืน แต่ลุงประจวบเป็นคนแรกที่ยอมเสียสละพื้นที่ทำกิน 380 ไร่ จากที่มีอยู่ 700 ไร่เพื่อให้กรมชลนำไปสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยลุงประจวบเปิดใจว่าเสียดายผืนดินที่นี่เพราะรุ่นแรก ๆ ที่มาบุกเบิกตั้งแต่ที่แห่งนี้ยังแห้งแล้วจนเริ่มดีขึ้น

“ ลุงตัดสินใจมอบที่ดินให้กับกรมชลเพราะนึกถึงพระมหากษัตริย์และบรรพบุรุษชาวไทยที่ช่วยเหลือประเทศชาติ เลยอยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน จึงยกที่ดินทำกิน 380 ไร่ให้กับกรมชลฯโดยไม่มีข้อแม้ ดีใจที่สุดที่ได้ช่วยให้พี่น้องชาวเกาะจันทร์มีน้ำใช้”

 

สวนเกษตรผสมผสาน

ชาวบ้านหลายครัวเรือนที่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปสร้างอ่างเก็บน้ำนั้น นอกจากได้เงินชดเชยแล้วทางกรมชลประทานยังมอบงบประมาณส่วนหนึ่งผ่านพัฒนากรเพื่อไปดำเนินการสอนให้ชาวบ้านพัฒนาอาชีพหลากหลายจากเดิมที่ปลูกอ้อยและสับประรดเป็นหลัก เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและมีอาชีพยั่งยืน

ลุงบุญมี สังวรณ์ ชาวบ้านหนองพังพอน หมู่ 10 ต.ท่าบุญมี เป็นตัวอย่างเกษตรกรที่ได้รับผลดีจากการสร้างอ่างเก็บน้ำจึงเปลี่ยนมาทำสวนเกษตรผสมผสาน โดยลุงบุญมีเล่าว่ามาอยู่ที่นี่เมื่อ 50ปีแล้ว เดิมทำนาและขุดบ่อเลี้ยงปลา แต่ทุกปีจะประสบปัญหาน้ำท่วม

“ เมื่อก่อนน้ำท่วมถึงเอวปีละ 2-3 ครั้ง ลำบากมาก ปลาตะเพียนที่เลี้ยงในบ่อพอเจอน้ำท่วมก็ว่ายหนีไปกับน้ำหมดบ่อ ข้าวในนาก็ถูกน้ำท่วมตาย เลยเลิกทำต้องออกไปรับจ้างทำงานก่อสร้างมีรายได้วันละ 150 บาท”

แต่ตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำคลองหลวงเกิดขึ้น นอกจากน้ำไม่ท่วมแล้วยังมีน้ำกินน้ำใช้ในการทำเกษตร ลุงบุญมีจึงกลับมาเป็นเกษตรกรปลูกพืชผสมผสานอีกครั้งในที่ดิน 20 ไร่ โดยปลูกข้าวหอมมะลิได้ผลผลิต 70 ถังต่อไร่ เลี้ยงปลาหลายบ่อและขยายไปทำ Fishing Park ปลูกกล้วย ปลูกผักสวนครัว รวม ๆ แล้วลุงบุญมีมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,500 บาท ทำให้สามารถส่งลูกเรียนหนังสือและปลดหนี้จาก ธกส.ได้

 

หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

หมู่บ้านหนองมะนาว เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านนี้ จึงได้รับเงินงบประมาณมาช่วยเรื่องฝึกอาชีพ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการแปรรูปสินค้า จนปัจจุบันหมู่บ้านมะนาวได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยแม่บ้านได้รวมกลุ่มกันสร้างอาชีพต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นอาชีพเสริม อาทิ กลุ่มการปลูกและขยายพันธุ์มะนาว กลุ่มแปรรูปสมุนไพรข้าวเกรียบ/ไข่เค็ม กลุ่มสตรีทำคุกกี้มะนาว/ฟักข้าว/เค้ก , กลุ่มการเลี้ยงไส้เดือนดิน ฯลฯ.

กันนิกา ทีปกากร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.เกาะจันทร์ เป็นประธานกลุ่มแปรรูป เล่าว่าหมู่บ้านหนองมะนาวเป็นหมู่บ้านที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมชลประทานให้ขับเคลื่อนเป็หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมมือกับกรมการพัฒนชุมชน มีการฝึกอบรมความรู้และพัฒนาตนเองเรื่องแนวการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหมู่บ้านที่ประกวดแล้วได้รางวัลที่ 1 มีการพัฒนาและรวมกลุ่มเพื่อทำอาชีพเสริมต่าง ๆ ขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

“ที่หมู่บ้านนี้ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้านได้เพราะเราสมามัคคีกัน”

ถึงแม้กลุ่มแปรรูปในชุมชนเพิ่งจะก่อตั้งและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปได้เมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ผลิตภัณฑ์หลายอย่างก็สามารถสร้างรายได้ให้ทางกลุ่มประมาณ 157,655 บาท ( ก.พ.-ต.ค. 2562 ) ซึ่งจะกลายเป็นอาชีพเสริมจากการทำการเกษตรของครอบครัวที่อนาคตมั่นคง

ตัวอย่างที่กลุ่มแปรรูปได้พยายามดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรรมที่มีอยู่คือ แต่เดิมชาวบ้านแถบนี้ไม่เคยปลูกมะนาวมาก่อน แต่หลังจากได้งบช่วยเหลือจากกรมชลประทานมาพัฒนาหมู่บ้าน จึงมีการซื้อกิ่งตอนมะนาวแจกลูกบ้าน และศึกษาดูงานจากพื้นที่อื่นที่ปลูกมะนาวสำเร็จ จนสามารถขยายการปลูกมะนาวได้หลายร้อยต้นในหมู่บ้าน

ป้าไสว ชังดี สมาชิกกลุ่มแปรรูปบ้านหนองมะนาว เป็นอีกคนหนึ่งที่มีรายได้จากการปลูกมะนาวเล่าว่าเดิมปลูกอ้อยกับมันสำปะหลังบนพื้นที่ 20 ไร่ เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยเหมาะสมกับสภาพในเวลานั้น แต่หลังจากมีอ่างเก็บน้ำคลองหลวงและมีการแจกกิ่งมะนาวบ้านละ 2 ต้น ป้าไสวสามรถขยายพันธุ์จนสามารถสร้างรายได้จากการขายกิ่งตอน จากนั้นก็เปลี่ยนมาปลูกเก็บผลขาย ป้าไสวและสามีช่วยกันทำสวนตามลำพัง และอยู่อย่างพอเพียง

 

 

“เมื่อก่อนต้องขุดน้ำบาดาลมาใช้ในการปลูกพืช ตั้งแต่สร้างอ่างเก็บน้ำทำให้มีน้ำกินน้ำใช้ สามารถปลูกมะนาวได้ผลดีเพราะมะนาวเป็นพืชต้องใช้น้ำมาก แล้วถ้าคิดจะปลูกผักอย่างอื่น ๆ ก็ทำได้แล้วเพราะมีน้ำเพียงพอ ทำให้มีรายได้ จากการขายกิ่งตอนมะนาว เก็บมะนาวอาทิตย์ละ 200 ลูก สามารถใช้หนี้ ธกส.ได้หมด”

 

น้ำมีปลา ในนามีข้าว

 

 

 

ตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำคลองหลวงเกิดขึ้น ป้าละอองศรี โคตรไสยา ชาวบ้านหมู่ 8 ยิ้มได้อย่างมีความสุขทุกวัน เพราะไปจับปลาในอ่างเก็บน้ำมาขายให้กับกลุ่มแปรรูปปลาครบวงจร บ้านหนองแฟบ มีรายได้วันละ 200 – 300 บาท

ป้าลออศรี เพิ่งจะหันมาเป็นประมงแพเล็ก ที่ไปจับปลาทุกวันในอ่างเก็บน้ำคลองหลวง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่รู้จักการจับปลาเพราะในน้ำไม่มีปลาเนื่องจากแห้งแล้ง แต่หลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง มีการปล่อยปลาหลากหลายสายพันธุ์ลงไป ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้อ่างเก็บน้ำได้อาศัยจับปลากินในครัวเรือน ต่อมาจึงขยายเป็นประมงแพเล็กเพื่อจับปลาในอ่างเก็บน้ำที่มีจำนวนมากเป็นอาชีพเสริม จนในที่สุดชาวบ้านได้รวมกลุ่มจัดตั้งแพปลาเป็นกลุ่มแปรรูปปลาครบวงจรบ้านหนองแฟบขึ้นเพื่อ โดยคนในหมู่บ้านมาเป็นสมาชิกถือหุ้น เพื่อรับซื้อปลาจากประมงแพเล็กที่จับปลาได้จากอ่างเก็บน้ำ และขายต่อให้กับลูกค้าทั่วไป และถ้าปลามีจำนวนมากก็นำมาแปรรูปเป็นปลาร้าและปลาส้ม

 

วันเพ็ญ มิ่งสอน พนักงานบัญชี กลุ่มแปรรูปฯ

วันเพ็ญ มิ่งสอน พนักงานบัญชี กลุ่มแปรรูปฯ เล่าว่าเดิมทำงานรับจ้างทั่วไปกินรายวันจึงทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน หลังจากมีกลุ่มแปรรูปฯจึงมาทำงานที่นี่ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ทำหน้าที่รับซื้อปลาจากชาวบ้านและจดบันทึกราคาปลาที่รับซื้อ วันเพ็ญเล่าว่ากลุ่มแปรรูปฯเปิดเมื่อปี 2558 วันแรกที่รับซื้อมีชาวบ้านจับปลามาขายได้ 1 – 2 ตัน ทำให้ปีแรกกลุ่มแปรรูปฯมีรายได้ 2.9 แสนบาท ซึ่งถือเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านได้ดี

 

ถึงแม้ในวันนี้เราจะไม่มีในหลวง รัชกาลที่ 9 อยู่กับพวกเราแล้ว แต่โครงการในพระราชดำริและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งหมดก็ยังประโยชน์ให้กับราษฎรทั้งประเทศได้มีที่ทำกิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการสืบสานพระราชปณิธาน ศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สืบต่อไป

Stay Connected
Latest News