นักวิจัยเผยพบสารเคมีจากพลาสติกสะสมในนกทะเล

แม้ว่าพลาสติกจะมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก แต่มันก็มีอันตรายที่แอบแฝงอยู่มากมายเช่นกัน เมื่อนักวิจัยได้ทำการทดลองให้อาหารที่ใส่ภาชนะพลาสติกแก่ลูกนกที่เลี้ยงไว้และพบว่าสารเคมีจากพลาสติกสะสมอยู่ในตับและเนื้อเยื่อไขมันของนกในระดับที่สูงกว่าปกติหลายพันเท่า และจากการตรวจสอบระดับสารเคมีในนกทะเลอย่างนกอัลบาทรอส (albatrosses) นักวิจัยก็พบผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกัน


การทดลองดังกล่าวนำโดย Shouta Nakayama จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น โดยเขาได้กล่าวว่า “การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่านกทะเลมีการสัมผัสกับวัตถุเจือปนในทะเล และเป็นการเน้นย้ำถึงผลกระทบของการบริโภคเศษขยะในทะเลซึ่งเป็นต้นตอของมลพิษทางสารเคมี”


นักวิจัยกล่าวว่าเกือบครึ่งหนึ่งของสายพันธุ์นกทะเลของโลกมีจำนวนลดลง และอีก 28% จัดอยู่ในประเภทที่ถูกคุกคามทั่วโลก และมลพิษทางสารเคมีก็นับว่าเป็นภัยคุกคามที่แพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยจากแนวโน้มในปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 นกทะเลจำนวน 99% จะกินขยะพลาสติกเป็นอาหาร เนื่องจากว่านกทะเลอาจจะเข้าใจผิดว่าขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในน้ำเป็นอาหารซึ่งจะส่งผลอันตรายต่อชีวิตของพวกมัน จากผลกระทบของสารเคมีที่เป็นพิษที่ร่างกายดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ยังเดินหน้าต่อไปเพื่อการค้นหาว่าสารเคมีในพลาสติกจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการสืบพันธุ์หรือการดำรงชีวิตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Dr. Samantha Patrick จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า “การศึกษาการตรวจสอบผลกระทบโดยตรงของการบริโภคมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจผลกระทบที่ซ่อนอยู่ของพลาสติกต่อนกทะเล”เธอยังเสริมว่า “การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าพลาสติกนำไปสู่การเพิ่มระดับของสารปนเปื้อนในลูกนกทะเล และนี่เป็นขั้นตอนสำคัญในการทำความเข้าใจถึงผลกระทบของพลาสติกต่อสัตว์ทะเลเช่นกัน”

Credit : www.bbc.com/news/science-environment-51285103

Stay Connected
Latest News