อินโดรามา อาสาสอนเด็กชาวมอแกนแยกขยะเพื่อรีไซเคิล

ห่างไกลจากชายฝั่งจังหวัดระนองเพียง 20 นาทีด้วยเรือหางยาว คณะเดินทางกลุ่มเล็กๆ ของอินโดรามา เวนเจอร์ส มูลนิธิแจนแอนด์ออสการ์ และหน่วยงานท้องถิ่น จ.ระนอง ก็มาถึงเกาะเหลา ซึ่งเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่อาจจะไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม แต่บนเกาะแห่งนี้มีชุมชนชาวมอแกนอาศัยอยู่กว่า 200 คน เราเดินทางต่อไปยังโรงเรียนบ้านเกาะเหลา ซึ่งเป็นจุดหมายแรกของการเดินหน้าปฏิบัติภารกิจในฐานะครูพี่เลี้ยงสอนเด็กๆ ที่นี่ให้เข้าใจการคัดแยกขยะรีไซเคิล

“เอิ้ว!!!” ครูเหมียว หรือ สยุมพร เหล่าวชิระสุวรรณ พร้อมด้วยทีมซีเอสอาร์ จากบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ซึ่งวันนี้มารับบทคุณครูพี่เลี้ยงสอนเด็กๆ กว่า 50 คน ณ โรงเรียนบ้านเกาะเหลา กล่าวทักทาย “มอแกนไม่มีคำกล่าวว่า สวัสดี ขอบคุณ และไม่มีคำบอกลา พอเจอหน้ากันก็แค่ส่งเสียงไปให้รู้ว่าเราต้องการทักทาย เด็กๆ ส่งเสียงตอบรับแขกแปลกหน้ากันเจี๊ยวจ๊าวน่าดู”

“น้องๆ รู้มั้ยคะว่า ขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากไหน” ครูเหมียว เปิดการสอนด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย พร้อมสื่อประกอบการเรียนรู้ทั้งวีดีโอและการ์ตูนน่ารักๆ พร้อมเรื่องราวสนุกสนาน “ขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถุงพลาสติก ขวดเครื่องดื่ม โฟม เป็นต้น ถัดมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น ยังไม่รวมขยะอื่นๆ ที่พบได้ในทะเล เช่น เศษบุหรี่ รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ จากบ้านเรือนของเราเอง แต่ขยะไม่ได้เหมือนกันทั้งหมดนะคะ บางชนิดที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างพลาสติกประเภท PET ที่มักจะนำไปผลิตเป็นขวดใสๆ นับเป็นพลาสติกที่มีคุณค่า เพราะเรายังสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ใหม่ 100% สามารถผลิตเป็นเส้นใยเส้นด้ายผลิตเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่างๆ หรือแม้จะกระทั่งนำไปผลิตเป็นขวดใบใหม่ที่ใสสะอาดพร้อมใช้งานอย่างปลอดภัยได้อีกด้วย ดังนั้น ถ้าเราคัดแยกขยะพลาสติก PET ออกมา เรายังสามารถเอาไปขายและนำเงินไปซื้อของใช้ หรือใช้จ่ายในครอบครัวได้นะคะ”

 

 

แล้วทำไมเราต้องมาสอนเด็กๆ และชุมชนที่นี่? ดร. ไมเคิล พาโดส ผู้จัดการมูลนิธิแจนแอนด์ออสการ์ (Jan&Oscar Foundation) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ร่วมทริป บอกว่า “ชาวมอแกนส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเรือ ยังชีพด้วยการหาปลา งมหอย จับปู และสัตว์ทะเลต่างๆ ในทะเลอันดามันมาหลายรุ่น ทุกวันนี้อวนของพวกเขาเต็มไปด้วยขยะทะเล ซึ่งกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เราจึงเริ่มเดินหน้าโครงการพลาสติกทางทะเลและชุมชนชายฝั่ง เพื่อขับเคลื่อนชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมแนวคิดด้านการแยกขยะและรีไซเคิลให้กับเด็กๆ ชาวระนอง และชาวมอแกน ตลอดจนปลูกฝังแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยมีเป้าหมายในการการกำจัดขยะออกจากทะเลอันดามัน แม่น้ำ หรือลำคลองที่ไหลลงสู่ทะเล และการนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้กลับเข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสม เพื่อลดปริมาณขยะที่ลงสู่ท้องทะเล โดยจัดตั้งองค์กรชุมชนที่ส่งเสริมการแยกขยะและแนวคิด 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle ผ่านโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัดระนอง และหมู่บ้านมอแกน”

“เรามีความหวังว่า จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ และชุมชนชาวมอแกนในการเชื่อมโยงประเพณีกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ในขณะที่ต้องจัดการกับปัญหาเรื่องขยะทะเลในปัจจุบัน ชาวมอแกนมีความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากและจะไม่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้คุณค่า ซึ่งแนวคิดนี้นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ และสามารถต่อยอดเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง” ดร. ไมเคิล กล่าว

 

 

ครูเหมียว เสริมว่า “การให้ความรู้ตั้งแต่วัยเด็กให้สามารถตระหนักถึงปัญหา และเข้าใจว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ การให้น้องได้เห็นและเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จะช่วยให้เด็กๆ มีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของพลาสติกและวัสดุชนิดต่างๆ อย่างรู้คุณค่า สามารถใช้งานอย่างมีประโยชน์สูงสุด และแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้ อีกทั้งยังส่งต่อความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ให้กับครอบครัวและชุมชนของพวกเขาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”

หลังจากจบการเรียนรู้ที่โรงเรียนบ้านเกาะเหลานี้แล้ว ทีมงานยังได้ลงพื้นที่สอนและให้ความรู้กับเด็กๆ และชาวบ้านในชุมชนมอแกนเกาะพยาม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกาะพยาม รวมถึง โรงเรียนเทศบาลเขานิเวศน์ รวมทั้งหมดกว่า 430 คน ซึ่งการลงพื้นที่ให้ความรู้ในแต่ละครั้ง ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียน และคุณครู รวมทั้งนำพาการเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่โรงเรียนและชุมชน

“เราต้องขอขอบคุณทีมงานของไอวีแอลที่มาให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะรีไซเคิลกับเด็กๆ และพวกเรา เรามีเป้าหมายในการทำงานด้านให้ความรู้ชุมชนเกี่ยวกับเรื่องรีไซเคิลที่สอดคล้องกัน ซึ่งเรามองว่านี่เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มาก ทางไอวีแอลเป็นผู้ดำเนินงานด้านรีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งมีความพร้อมด้านทีมผู้สอน และคู่มือการเรียนการสอนที่มีมีเนื้อหาสนุกสนาน เข้าใจได้ง่าย เหมาะกับเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะนำให้เห็นคุณค่าของทรัพยากรว่าสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนได้ หากรู้วิธีจัดเก็บที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็ก และชุมชนที่เค้าอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน” ดร. ไมเคิล กล่าวส่งท้าย

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม