TCP กลุ่มกระทิงแดงมอบเครื่องตรวจหาเชื้อโควิดแบบเร็วและแม่นยำมูลค่า 15 ลบ.ให้รพ.จุฬา

TCP ทุ่มเงิน 15 ล้านบาท ซื้อเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อหาเชื้อโควิด-19 จากโรชเป็นเครื่องแรกที่ตรวจเร็วและแม่นยำได้วันละ 1,440 ราย เพื่อมอบให้แก่ รพ.จุฬา สภากาชาดไทย และคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬา

กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และซันสแนค เสริมศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการส่งมอบเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่เกิดจาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 15 ล้านบาท เครื่องแรกให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการเพิ่มความเร็วและความแม่นยำในการตรวจหาเชื้อ ช่วยให้ประเทศไทยลดการแพร่ระบาดโดยเร็ว

 

“ประเทศไทยและโลกกำลังเผชิญวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายพยายามช่วยกันเพื่อเอาชนะโรคระบาดในครั้งนี้ ผมและพนักงานกลุ่มธุรกิจ TCP ทุกคนพร้อมให้ความช่วยเหลือในทุกวิถีทางเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวเสริม “สิ่งสำคัญที่สุด คือ การที่บุคลากรทางการแพทย์มีเครื่องมือในการวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ และประชาชนคนไทยได้รับการตรวจคัดกรองที่รวดเร็ว ช่วยลดโอกาสของการแพร่เชื้อได้มากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่กลุ่มธุรกิจ TCP มุ่งหวัง”

เครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็นเครื่องมือที่สามารถตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563* ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ที่ใช้เทคนิค Real time PCR ซึ่งเป็นเทคนิคมาตรฐาน และได้รับการยอมรับในการวินิจฉัยจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ สามารถรับรองการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถึงวันละ 1,440 ราย

ช่วยลดระยะเวลาการวินิจฉัยโรค มีความแม่นยำในการประเมินผลสูงถึง 99.8%* และด้วยระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ จึงช่วยลดการปนเปื้อนและความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไปเครื่องมือดังกล่าวยังสามารถใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคที่อาจอุบัติใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย

ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มอบเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในสภาวะที่เร่งด่วนเช่นนี้ เครื่องตรวจนี้นอกจากจะมาช่วยเสริมความมั่นใจ ลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ยังเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกด้วย นั่นคือ ยิ่งเราทราบหรือวินิจฉัยผู้ติดเชื้อได้เร็วเท่าใดยิ่งดี จะทำให้เกิดการป้องกันได้เร็ว ลดการแพร่เชื้อ ลดการแพร่ระบาดได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพของเครื่องตรวจนี้ จึงทำให้เราสามารถรับตรวจเชื้อจากโรงพยาบาลต่างๆ ได้อีกด้วย”

กลุ่มธุรกิจ TCP หวังว่าเครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เครื่องแรกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รับมอบไปนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อพลังให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตไปได้โดยเร็ว

ต้องขอขอบคุณ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป สาย G2 และหัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าภาคจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงคณะแพทย์ เจ้าหน้าที่ภาค จุลชีววิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยทุกท่าน ทีมงานจากบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน เพื่อให้ประเทศไทยได้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มาใช้งานอย่างทันท่วงที

Stay Connected
Latest News