ททท.ปลูกป่า”ห้วยฮ่องไคร้” ฟื้นฟูธรรมชาติ สู่เป้าหมายรณรงค์ท่องเที่ยวแบบไร้คาร์บอน

ภาครัฐและเอกชนผนึกกำลังทำโครงการ Climate Festival ส่งเสริมแนวคิดท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนไปพร้อมกัน ชูงานเทศกาลสภาพภูมิอากาศ หรือZero Emission  พร้อมรวมพลังจิตอาสา 4 ภาคส่วนคือ ชนเผ่า ชุมชน ประเทศ และ โลก เพื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการนำพาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Lifestyle โดยมีเป้าหมาย Zero Emission

นพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. แพนเค้ก-เขมนิจ และรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าเชียงใหม่ ( จากซ้าย 2,3,4)

นพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจ โดยเฉพาะปัญหาจากขยะพลาสติก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากฝุ่นละอองและจากการเผาป่าที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ โครงการเทศกาลสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Festival จึงเริ่มต้นที่เชียงใหม่เพื่อรณรงค์วิถีชีวิตคาร์บอนต่ำในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและปลูกต้นไม้เพิ่มเติมเพื่อบรรเทาปัญหาสิ่ง แวด ล้อม”

ซึ่งกิจกรรมที่เชียงใหม่ใช้ชื่อว่า โครงการ Climate Festival @ North พลัง เหนือ ธรรมชาติ เริ่มต้นด้วยการปลูกป่าที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ต่อด้วยกิจกรรมคอนเสิร์ตออนไลน์จาก 2 ศิลปินชื่อดัง วงลิปตา และ วงมายด์ เพื่อระดมทุนสนับสนุนการปฏิบัติงานของเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า และเครือข่ายแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และ กิจกรรมสุดท้ายจัดขึ้นวันที่ 13 มิถุนายน 2563 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเด็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันปลูกป่าอีกครั้ง โดยมีรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยจิตอาสาจากหลายภาคส่วน

ประสิทธิ์ ศิริ (กลาง)  นำทีมหนุ่มสาว ชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มาร่วมปลูกป่า

“กิจกรรม CSR ปลูกป่าที่พวกเราได้ร่วมทำกันในวันนี้ก็เพื่อรักษาธรรมชาติซึ่งจะเป็นการเพิ่มผืนป่าให้กับจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหมอกควัน เป็นพลังเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปีและมีความรุนแรงขึ้น จํานวนป่าไม้สัตว์ป่า ถูกทําร้ายมากขึ้น ททท. เชื่อมั่นว่าการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสําหรับนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ได้เดินทางท่องเที่ยว พร้อมทั้งดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ของประเทศไทยให้คงอยู่ต่อไป” รองนพดลกล่าวสรุป

ส่วน รัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทางจังหวัดเชียงใหม่มียุทธศาสตร์ในการจัดการมาโดยตลอดถือเป็นสิ่งสําคัญที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งเป้าในการแก้ไข ปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาไฟป่า และ ปัญหาหมอกควันฝุ่น ละออง PM 2.5 มีการสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน ถึงความสําคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ป่า กิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่จะช่วย ส่งเสริมและสร้างจิตสํานึกในการดูแลธรรมชาติ พื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมที่ดี ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบต่อธรรมชาติ”

โครงการ Climate Festival ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐเเละเอกชน อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ กองทัพบก กองทัพเรือ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือที่ 1 เชียงใหม่ บริษัทนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด Forest Heroes ผู้ใหญ่บ้าน ปรีชา ศิริ หนึ่งในห้าวีรบุรุษโลก ที่ได้รับรางวัลวีรบุรุษผู้ดูแลป่าจากองค์การสหประชาชาติ พร้อมด้วย Influencer ด้านการท่องเที่ยว จิตอาสาในพื้นที่ และเซเลปนักแสดงจิตอาสาชื่อดัง แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

สำหรับโครงการ Climate Festival เป็นเทศกาลที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการรณรงค์จิตสำนึกและผลักดันให้เกิดการลงมือทำจริงด้วยตนเองในการกอบกู้สภาพแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีการปลูกต้นไม้ 1 ร้อยล้านต้นทั่วประเทศและรณรงค์ให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำอย่างแพร่หลายมากที่สุดในสังคมไทย


กฤษณ์ คุนผลิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิกเนเจอร์ โรโบติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมทำโครงการนี้ กล่าวว่า  “เป้าหมายของโครงการนี้คือใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการนำพาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Lifestyle โดยมีเป้าหมาย Zero Emission เราจึงมีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้เพื่อให้ดูดซับคาร์บอนและคายออกซิเจนออกมาให้กับโลก กิจกรรมนี้จึงส่งเสริมให้มีการปลูกต้นให้ได้ประมาณ 1 ร้อยล้านต้น ซึ่งกิจกรรมในวันนี้สามารถปลูกได้ 6,000 ต้น เป็นพวกไม้ป่าขนาดใหญ่เพื่อเป็นการซ่อมแซมพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ป่า ซึ่งจากนี้ไปเราจะเดินหน้าปลูกต้นไม้ไปตามภาคต่าง ๆ เช่นภาคใต้ปลูกป่าชายเลย ปลูกปะการัง พร้อมกับปลูกจิตสำนึกคนไทยให้หันมาปลูกต้นไม้กันมากขึ้น”

Stay Connected
Latest News