ดอยคำจับมือมช.รีไซเคิลน้ำเสียเป็นพลังงานเพื่อชุมชน สร้างต้นแบบ“เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข”

2 เมษายน 2564 เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านจำนวน 280 หลังคาเรือนในชุมชนบ้านนางอยและบ้านโพนปลาไหล ตำบลนางอย อำเภอเต่างอย จ.สกลนคร มีโอกาสได้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มาจากการกำจัดของเสียของบ่อบำบัดจากโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 ( เต่างอย)

“ดีใจที่มีโครงการนี้ค่ะ ก่อนหน้านี้ใช้แก๊สเป็นถัง ๆ ละ 400 บาท ตอนนี้เลยประหยัดมาก ”
พรรณทิพย์ ชาวบ้านในชุมชนนางอยกล่าวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มในวันที่ “ผู้ใหญ่” หลาย ๆ คนมาร่วมกันทำพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ร่วมกับหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ด้วยการนำน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการผลิตภายในโรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร มาผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทน

แม้โครงการนี้จะเป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ แต่ถือว่าได้สร้างประโยชน์ถึง 4 ประการด้วยกัน คือ 1. กำจัดน้ำเสียของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 ( เต่างอย) 2.รีไซเคิลน้ำเสียมาผลิตก๊าซหุงต้มให้ชุมชน 3.ช่วยให้ชุมชนประหยัดทั้งเงินและพลังงาน 4.รักษาสิ่งแวดล้อม
และยิ่งไปกว่านั้นถ้าโครงการนี้สำเร็จจะมีการต่อยอดสู่ “เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข” ซึ่งเป็นการสืบสานปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตั้งบริษัทดอยคำเพื่อเป็นต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม ดำเนินงานตามศาสตร์พระราชา ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะและของเสียต่างๆ

อนาคตของดอยคำคือ”พลังงานทดแทน”

“ผมมาที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 ( เต่างอย) ทุกเดือน เห็นเขาจุดก๊าซที่ออกมาจากโรงบำบัดน้ำเสียทิ้งแล้วเสียดายมาก พอได้รู้ว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำโครงการใช้พลังงานจากมูลหมูมาทำเป็นก๊าซหุงต้มให้ชาวบ้านใช้ ผมเลยไปชวนทาง มช.มาร่วมกันทำโครงการนี้ที่เต่างอย”

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เกริ่นถึงที่มาของการ่วมมือในโครงการนี้ พร้อมกับโยงถึงนโยบายในอนาคตของดอยคำที่ดำเนินตามรอยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเน้นเรื่องพลังงานทดแทนในอนาคตที่เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบันโรงหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ริเริ่มโครงการ Solar Roof เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้แทนพลังงานในโรงงาน และในอนาคตอันใกล้นี้จะขยายผลไปสู่โรงงานหลวงอีก 2 แห่งด้วย รวมถึงการขยายผลพลังงานสะอาดสู่ชุมชนรอบ ๆ โรงงานด้วย

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

ขณะที่น้ำเสียของโรงงานที่ได้รับการบำบัดและแยกก๊าซไบโอมีเทนเพื่อมาใช้ในการหุงต้มได้สำเร็จ แต่พิพัฒพงศ์ในฐานะผู้บริหารก็ยินดีจะส่งมอบก๊าซที่ได้ทั้งหมดนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนรอบ ๆ โรงงาน

“ เราไม่นำก๊าซไบโอมีเทนนี้มาใช้ในโรงงานเลย ช่วงแรกจะให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซนี้ก่อน เราจึงมีนโยบายขายก๊าซในราคาต่ำกว่าราคาตลาดเพื่อให้ชุมชนรอบ ๆ โรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

และเพื่อให้โครงการนี้เกิดความยั่งยืนจึงมีการต่อยอดไปสู่ “เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข” เพื่อเปิดพื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์ศึกษาดูงาน “ ผมอยากเห็นโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลาย ๆ แห่งที่มีน้ำเสีย สามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ประโยชน์ให้กับชุมชนที่อยู่รอบ ๆ เรายินดีให้มาศึกษากับเราได้”

 

โรงจ่ายก๊าซ “ศิลาธรหิรันย์”

ผศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ

 

“ต่อจากนี้ไปเราจะไม่เรียกว่าน้ำเสียอีกแล้ว เพราะมันคือวัตถุดิบที่นำไปผลิตก๊าซหุงต้มที่มีประโยชน์ ไม่ต้องเผาทิ้งอีกต่อไป” ผศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ รอง ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวด้วยใบหน้าที่บ่งบอกถึงความสุข หลังจากที่ดร.หนุ่มทุ่มเทให้กับโครงการนี้มานานถึง 3 ปี

ปฐมบทของโครงการนี้เกิดจากการที่จากสถาบันฯ ได้คิดค้นวิจัยในการดำเนินการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ซึ่งเป็นก๊าซได้พัฒนานำก๊าซชีวภาพมาปรับปรุงคุณภาพ โดยการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และความชื้นออกจากก๊าซชีวภาพเพื่อให้ได้ก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซ NGV (Natural Gas for Vehicles) สามารถนำไปใช้สำหรับยานยนต์ และนำไปบรรจุถังสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านราคา และมีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ในปี 2561 ทางสถาบันฯได้ทำการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับดอยคำเพื่อนำน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการผลิตภายในโรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร มาผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทน เพื่อแยกเป็นก๊าซหุงต้มให้แก่ชุมชนรอบ ๆ โรงงานฯ 280 หลังคาเรือน
“ โครงการนี้แล้วเสร็จในปี 2564 มีการทำประชาพิจารณ์ในชุมชน 2 ครั้ง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นมีเพียงเรื่องการวางท่อก๊าซที่ส่งไปตามบ้านที่จะต้องขุดถนนของกรมทางหลวงชนบท”

โรงจ่ายก๊าซ “ศิลาธรหิรันย์”

สถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) หรือ โรงจ่ายก๊าซ “ศิลาธรหิรันย์” ที่ โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร บริษัท ดอยคำ เป็นการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิตแปรรูปมะเขือเทศ มาผ่านกระบวนการของระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน (Membrane System) สามารถผลิตได้ 262.81 kg Biomethane/day เมื่อเดินระบบเป็นเวลา 10 hr/day

โดยมีราคาต้นทุน 12 บาทต่อกิโลกรัม สามารถมาทดแทนก๊าซหุงต้มได้ถึงประมาณ 75,000 กิโลกรัม/ปี (ที่การเดินระบบเป็นเวลา 10 hr/day) คิดเป็นมูลค่าถึง 1,668,000 บาท/ปี (คิดที่ราคา LPG 22.24 บาทต่อกิโลกรัม , ม.ค. 64) และจากการทดสอบก๊าซ CBG พบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับก๊าซ LPG สามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มแจกจ่ายให้กับชุมชนบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) จำนวน 280 ครัวเรือน

 

โมเดลCBG สร้างสุขเพื่อความยั่งยืน

“เราสร้างโมเดลCBG สร้างสุขขึ้นมาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกันเองภายในชุมชน” พิพัฒพงศ์ กล่าวถึงแผนการต่อยอดการใช้ก๊าซอย่างยั่งยืน โดยการจดทะเบียนตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนพลังงานไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล” โดยมีดอยคำและสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ เป็นทีปรึกษา

ส่วนหน้าที่ของวิสาหกิจชุมชนฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการมาบริหารจัดการสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด โดยเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดการบริหารทั้งกระบวนการ มีการกำหนดกฎระเบียบสำหรับผู้ใช้ก๊าซ มีทีมบริหารจัดการดูแลระบบ เพื่อบริหารกองทุนก๊าซ CBG อย่างเป็นรูปธรรม บริหารพลังงานทดแทนด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่มั่นคงในขณะนี้

ทั้งนี้ดอยคำขายก๊าซไบโอมีเทนให้แก่วิสหกิจชุมชนฯในราคาต้นทุนกิโลกรัมละ 12 บาท ด้านวิสาหกิจชุมชนจะขายก๊าซให้ชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ขณะที่ก๊าซLPG ที่ในชุมชนชนใช้ตกถึงละ 400 บาท (ถังละ 15 กิโลกรัม) ทำให้ชาวบ้านมีก๊าซหุงต้มที่ถูกกว่าเดิมมาก สำหรับส่วนต่าง 3 บาทใช้เป็นเงินทุนในการบริหารจัดการในวิสาหกิจฯ” ผศ.ดร.สิริชัย กล่าวสรุป

จากนี้ไปชาวบ้านเต่างอยจะมีพลังงานทดแทนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้ และเป็นฐานสู่ เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ในการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียมาผลิตพลังงานเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด ทดแทน LPG เพื่อใช้ในชุมชน

Stay Connected
Latest News