เต็ดตรา แพ้ค เปิด ‘เทรนดิพีเดีย 2022’ ฉายภาพ 3 เทรนด์ผู้บริโภคยุค Post-covid พร้อมแนะแบรนด์เป็น Gateway ขับเคลื่อนความยั่งยืน

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดและความกังวลต่อโควิด-19 ของผู้คนทั่วโลก อาจจะเบาบางลง และกำลังขับเคลื่อนสู่ยุคของ Post-covid  แต่โดยภาพรวม ทุกคนยังตระหนักดีว่า กำลังอยู่ในโลกของความไม่แน่นอน โลกสามารถเกิดอะไรที่ไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา และส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเป็นตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง รวมไปถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนไปอย่างถาวร

เต็ดตรา แพ้ค ผู้นำเสนอโซลูชันการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก ได้เผยรายงานฉบับสรุป เทรนดิพีเดีย 2022เพื่อสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค Post-covid  ทั้งมุมมอง​ รวมทั้งคาดหวังต่างๆ ที่มีต่อแบรนด์ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด ผ่าน 3 เทรนด์น่าสนใจ ได้แก่ Stay in Control , Break Out & Re-Experience  และ Explore OMNI-Spaces  

คุณสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้

Mood of the World : คุณสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด 

– ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย เพราะระลึกอยู่เสมอว่าอยู่ภายใต้โลกที่มีความผันผวนไม่แน่นอน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อ ที่กลายมาเป็นปัจจัยที่ผู้คนกังวลสูงสุดในขณะนี้ และไม่ทราบว่าจะจบเมื่อไหร่ รวมทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ความยากจน การว่างงาน ที่มีความกังวลในระดับสูงเช่นกันในระดับกว่า 30% ขณะที่ประเด็นความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด -19 กลายมาเป็นปัญหาที่คนกังวลน้อยที่สุดเพียงแค่ 12% เท่านั้น

– นอกจากนี้ มีคนไทยเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่าน้ัน ที่ให้ข้อมูลว่า สถานะการเงินยังแข็งแรง ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่เหลือกว่า 75% ได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และขาดกำลังซื้อ ซึ่งสุดท้ายก็จะกระทบต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Stay in Control : คุณปองสงวน จีระเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยด้านไลฟ์สไตล์ ในประเทศอินเดียและประเทศไทย ของบริษัท มินเทล (ประเทศไทย) จำกัด

– เป็นหนึ่งเทรนด์ที่เด่นชัดของผู้บริโภคยุค Post-Covid ที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัย จากการสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้  เพราะตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน และความไม่ปลอดภัย มาเป็นระยะเวลานาน ผู้บริโภคจึงต้องการ Sense of Control ในการสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะจาก 3 ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งผู้บริโภคมองว่า เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบในการดำเนินชีวิตมากที่สุด ได้แก่ สุขภาพ ส่ิงแวดล้อม และค่าใช้จ่าย  ผู้บริโภคจึงหันมาใส่ใจอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้ ​ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก  พร้อมทั้งมองปัจจัยเรื่องของการดูแลโลก การเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อม หรือพยายามลดการสร้างขยะอาหาร หรือลดการใช้พลาสติก แต่อย่างไรก็ตาม จะเน้นการซื้อที่ชาญฉลาดมากขึ้น มีการเปรียบเทียบราคา มองหาโปรโมชั่น และมี​ความ Price Sensitive มากขึ้น แบรนด์เองจึงต้องมีความโปร่งใสและให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ​

Break Out & Re-Experience : คุณสุทธินันท์ เตชะทยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด  

 

–  เมื่อวิกฤตจากโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย สถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างโหยหาการเข้าสังคมและการใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่อกลับไปรู้สึกถึงความสมดุลในชีวิตอีกครั้ง เพื่อต้องการหลุดออกจากกรอบเดิมๆ และค้นหาประสบการณ์ใหม่ ที่ทำให้ชีวิตมีความสุขและสนุกสนานมากขึ้น ​ แบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม ที่เข้าใจพฤติกรรมสามารถตอบโจทย์ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ผ่านรสชาติ หรือ Collaboration กับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อความตื่นเต้น สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการบริโภค หรือการทำกิจกรรมการตลาดที่แตกต่างไปจากเดิม ผสมผสานเทคโนโลยี เพื่อสร้างที่สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ผ่านทางผลิตภัณฑ์ หรือ Connected Package เป็นต้น ​

คุณสุทธินันท์ เตชะทยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

Explore OMNI-Spaces : คุณแสงโสม บัวลำใย ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ธุรกิจ บริษัท อิคาโน่ (ประเทศไทย) จำกัด (อิเกีย)

– การล็อกดาวน์เป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้น บ้านมีความหมายและความสำคัญมากขึ้น และทำให้คนเริ่มมองหาความหมายในการอยู่บ้าน บ้านจึงต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน คนเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดพื้นที่ภายในบ้านเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตต้ังแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้านมากขึ้น การที่แบรนด์จะสามารถเข้าไปถึงผู้คนที่อยู่ภายในบ้าน จึงไม่สามารถมีช่องทางเดียวในการเข้าถึงผู้บริโภคได้อีกต่อไป การมีช่องทางที่หลากหลายในการเข้าถึงผู้บริโภคที่สดอคล้องกับ Customer Journey  จึงมีความสำคัญอย่างมาก

คุณแสงโสม บัวลำใย ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ธุรกิจ บริษัท อิคาโน่ (ประเทศไทย) จำกัด (อิเกีย)

คนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่เชื่อว่าตัวเองเปลี่ยนโลกได้

ยังมีหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจภายในงานเสวนาครั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลจาก Sustainability Barometer  ซึ่งให้ข้อมูลว่า ผู้บริโภคคนไทยเกือบ 2 ใน 3  ไม่เชื่อว่า พฤติกรรมของตัวเองจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้ มีเพียงแค่ 1 ใน 3 (37%) ที่เชื่อเช่นนั้น แต่ขณะเดียวกันมีคนไทยมากถึง 62% ที่ตระหนักถึงความสำคัญ​ และมองว่าถึงเวลาที่ทุกคนต้องหันกลับมามองปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม และควรเริ่มลงมือในทันที ซึ่งสัดส่วนของประเทศไทย เมื่อเทียบจาก 16 ประเทศ ที่ทำการสำรวจ ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่สูงมาก เทียบเท่าได้กับกลุ่มประเทศชั้นนำของโลก อาทิ  แคนาดา (65%)  อิตาลี (64%)​ บราซิล (64%)  สเปน (63%) และจีน (62%)​ แต่ทุกประเทศสัดส่วนของสองประเด็นดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เหลือที่ตัวเลขในการเห็นความสำคัญยังมีคะแนนที่ไม่สูงนัก  มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่ความแตกต่างของสองประเด็นนี้ แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

คุณปองสงวน จีระเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยด้านไลฟ์สไตล์ ในประเทศอินเดียและประเทศไทย ของบริษัท มินเทล (ประเทศไทย) จำกัด

คุณปองสงวน จีระเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยด้านไลฟ์สไตล์ ในประเทศอินเดียและประเทศไทย ของบริษัท Mintel ผู้ให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าว ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทย เพราะสะท้อนว่าคนในชาติมีความตระหนักรู้เทียบเท่าในยุโรป จีน หรืออเมริกา แต่มองว่าการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง อาจจะไม่สามารถสร้างอิมแพ็กได้มากนัก ทำให้ไม่เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม​ หรือ อาจจะยังมองเห็นประเด็นอื่นสำคัญมากกว่า ทำให้ยังไม่มีการใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างจริงจัง

“สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง ​เช่น บางคนอยากแยกขยะ  แต่ไม่รู้ว่าถังขยะแต่ละประเภทต้องทิ้งอย่างไร เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทำให้ไม่สามารถ Action ได้ถูก จึงไม่เกิดการขับเคลื่อนในภาพรวม ซึ่งมีอินไซต์ที่น่าสนใจมากสำหรับพฤติกรรมในการดูแลสิ่งแวดล้อมของคนไทย โดยกลุ่มคนอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มเจน X จะเป็นกลุ่มที่ Action ต่างๆ ด้วยตัวเองมากที่สุด เช่น การลดใช้พลาสติก Single use การแยกขยะ ขณะที่กลุ่มเจน Z กลุ่มมิลเลเนียล มักจะใช้วิธีการเลือกใช้วิธีการสนับสนุนแบรนด์ที่มีความรักษ์โลกแทน”​

ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ จึงมีหน้าที่สำคัญในการเป็น Gateway เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจภายในแนวทางที่ยั่งยืน​ ทั้งจากการพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืน รวมไปถึงการพัฒนาแพกเกจเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดความตระหนักด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งการให้รายละเอียดสินค้าว่ามีการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกระบวนการผลิตอย่างไร หรือการใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ตามแนวทางความยั่งยืนต่างๆ รวมไปถึงการมี QR Code เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพื่อช่วยลดกำแพงสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่แม้จะตระหนักถึงความสำคัญ แต่ยังไม่มีการแอคชั่นอย่างจริงจัง ทั้งการขาดความรู้  ความยุ่งยากในทางปฏิบัติ รวมทั้งเรื่องของราคาแพกเกจหรือสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ยังสูงกว่าสินค้าปกติอยู่มาก ซึ่งหากแก้ไขกำแพงต่างๆ เหล่านี้ลงได้ ก็เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มีความตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว

Stay Connected
Latest News