‘ESG ไม่ใช่งานแถม’ ดีลอยท์ ชี้ จะขับเคลื่อนให้ได้ผลต้องกำหนดเป็น KPI​ เมื่อความยั่งยืนไม่ใช่การสร้างภาพ แต่เป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยรายงานผลการสำรวจ Thailand ESG and Sustainability Survey Report 2022 พบว่า ESG มีความสำคัญต่อการพัฒนาภูมิทัศน์ทางธุรกิจมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดการวางมาตรฐานในการวัดผลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจตามหลักเกณฑ์ด้าน ESG นอกจากนี้ ความสนใจของนักลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่มีการดำเนินการตามเป้าหมาย ESG อย่างจริงจังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

คุณกษิติ เกตุสุริยงค์ Sustainability & Climate Leader และ ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients and Markets จากดีลอยท์ ประเทศไทย ร่วมกันให้ข้อมูลจากการสำรวจ Thailand ESG and Sustainability Survey Report 2022  สะท้อนถึงการรับรู้และความคิดเห็นของผู้บริหารระภายในองค์กรชั้นนำของประเทศไทย ในประเด็นด้าน ESG เพื่อสะท้อนภาพธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน โดยไ้ด้สำรวจในระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 ผ่านองค์กรจำนวน  106 บริษัท ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรมหลัก เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ และอื่นๆ

โดยพบประเด็นสำคัญจากการสำรวจในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1. ผู้นำส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสร้างการตระหนักรู้ด้าน ESG ในองค์กร และการบูรณาการ ESG เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร โดยมีมุมมองต่อการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้มองว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการวางกลยุทธ์ที่สามารถผลักดันศักยภาพในการเติบโตให้ธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

2. การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG ให้ได้ผลดีจำเป็นต้องกำหนดเป็น KPI และมอบหมายผู้ดูแลให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ ‘ESG ถูกมองว่าเป็นงานแถม งานงอก’ ทำให้ไม่มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีเจ้าภาพ บางคนมองว่ามีเวลาว่างค่อยทำ ทำอย่างอื่นไปก่อน ทำให้การขับเคลื่อนไม่ได้ผล ขณะที่ปัจจุบัน 34% ขององค์กรทที่สำรวจ มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืนเพื่อกำกับดูแล และขับเคลื่อนวาระ ESG ในองค์กรแล้ว และบางบริษัทได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบด้าน ESG ให้กับคณะกรรมการบริหาร เพื่อผลักดันประเด็นความยั่งยืนของบริษัท

3. ขณะที่การใช้งบประมาณเพื่อผลักดันโครงการด้าน ESG ไม่ใช่การเพิ่มค่าใช้จ่าย หรือเป็นการใช้งบเพื่อเสริมภาพลักษณ์องค์กรในมิติของสังคม หรือ CSR แบบเดิมๆ  แต่เป็นเหมือนการลงทุน ที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก 3 ประการ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การช่วยลดต้นทุน รวมไปถึงช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายแล้ว จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับธุรกิจได้

4. ผู้บริหารระดับสูง (C-Level) มีแนวโน้มที่จะเน้น การรายงาน ESG ให้สอดคล้องกับกรอบการรายงานของ56-1 One Report’ ที่ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการเปิดเผยข้อมูล โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจตามกรอบของ ESG

5. ความยั่งยืนเข้ามามีบทบาทต่อสายงานในภาคการเงินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก สายงานบัญชีและการเงินจะเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนต่างๆ ในฐานะเป็นผู้ดูแลจัดสรรงบประมาณของบริษัท รวมทั้ง CFO จะมีส่วนในการวางกลยุทธ์ในการเติบโต ก็จะผนวกแผนงานด้านความยั่งยืนให้อยู่ในกลยุทธ์องค์กร ทำให้มีถึง ​85% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมีส่วนสำคัญด้านการเงิน ทั้งในมิติของการจัดทำรายงานทางการเงิน การจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการระดมทุนหรือการกู้ยืมของบริษัท เพราะมุมมองของนักลงทุนจากนี้จะไม่ได้มองแค่ความสามารถในเชิงธุรกิจ แต่จะมองนโยบายด้านความยั่งยืนประกอบไปด้วย

CFO หรือคนดูแลด้านการเงิน ​จำเป็นต้องมีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดหรือให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้าน ESG ได้ เพราะถือว่า​เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทางด้านการเงิน”

6. บางบริษัทใช้มุมมองด้านความยั่งยืนยังมาช่วยขับเคลื่อนโปรดักต์ทางการเงิน หลายบริษัทมีแผนนำแนวคิดเรื่องนี้มาต่อยอดภายในอีก 2 ปีจากนี้  ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของโลก โดยพบว่า ปี 2021 มีการระดมทุนผ่านผลิตภัณฑ์การเงินด้านความยั่งยืน เช่น Green Bond, Social Bond หรือ Sustaibability Link Bond ทั่วโลกมากกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในไทยก็มีตัวเลขอยู่ที่ราว 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีดีลใหญ่ๆ ของภาคธุรกิจที่มีการระดมผ่านผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน  โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและทรัพยากร โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน เป็นอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือสินเชื่อสีเขียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมุ่งเน้นนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอีกด้วย ซึ่งอาจเป็นผลจาก Social License to Operate ผลักดันให้ดำเนินการ เนื่องจากการดำเนินการของกลุ่มนี้อาจก่อผลกระทบทางลบทางสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจะโฟกัสในเรื่องของ Supplay Chain ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

7.  ในอนาคตรายงานด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Report จะมีความสำคัญกับภาคธุรกิจไม่ต่างกับการจัดทำรายงานด้านการเงิน หรือรายงานผลประกอบการประจำปี  ซึ่ง​ปัจจุบัน 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ESG และมีตัวชี้วัดเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานตามรอบการจัดทำรายงาน แม้แต่บริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่มีการบังคับให้ต้องจัดทำ บางส่วนก็มีการจัดทำเพื่อการมอนิเตอร์ หรือวัดผลภายในองค์กรของตัวเอง แต่พบว่า องค์กรราว 1 ใน 4​ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้าน ESG แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ เพราะไม่มั่นใจว่าเก็บข้อมูลได้ถูกต้องหรือมีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่

8. ในส่วนของ ความท้าทายในการขับเคลื่อนด้าน ESG ไม่ต่างกับหลายๆ การเปลี่ยนผ่าน คือ การขาดเทคโนโลยีสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การขาดความสามารถและทักษะภายในองค์กร และการไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ โดยเฉพาะการหาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ​โดยพบว่าส่วนใหญ่ยังมีการจัดเก็บข้อมูลแบบ Manual ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะผิดพลาดได้ง่าย รวมทั้งความจำเป็นในการมีผู้สอบทานความถูกต้องในการจัดทำรายงานเช่นเดียวกับทางธุรกิจ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการกำหนดให้เป็นอีกหนึ่งข้อบังคับที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า​ โดยปัจจุบันองค์กรราว 1 ใน 4 ที่ยังไม่มีแผนในการหาคนมาสอบทานข้อมูลด้านความยั่งยืน

9. ความจำเป็นในการทำความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรฐานหรือกรอบการขับเคลื่อนตามหลักสากล ซึ่งในอนาคตอาจกลายมาเป็นข้อบังคับให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม ​ซึ่งผลสำรวจพบว่า บริษัทของผู้ตอบแบบสำรวจใช้กรอบการรายงานสากลที่พัฒนาโดย GRI (Global Reporting Initiative) เป็นมาตรฐานหลักในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และใช้กรอบตัวชี้วัด ESG ภายในองค์กร (Internal ESG KPI) มากำหนดโครงสร้างรูปแบบหลักสำหรับการรวบรวมข้อมูลในองค์กร

“การขับเคลื่อนนโยบาย ESG ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การสร้างแบรนดิ้งที่ทำชั่วคราว แต่เป็นกลยุทธ์ที่สร้างให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน และมากกว่าแค่การสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถผลิตสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับกิจการที่ดีด้วย โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอย่างพนักงาน​โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มองประเด็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ของบริษัทที่ทำงานหรือเลือกจะไปสมัครงานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ​ธุรกิจควรจะเริ่มบูรณาการ ESG ให้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ กำหนดเป้าหมายและกระบวนการความยั่งยืนขององค์กรเพื่อดำเนินการด้าน ESG และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่จะกลายเป็นข้อบังคับสำหรับองค์กรธุรกิจในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การดำเนินการบนพื้นฐานของความยั่งยืนจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติต่างๆ และปรับตัวให้พร้อมรับกับดิสรัปชั่นในอนาคต “

Stay Connected
Latest News