เอสซีจี ทุ่ม 1 แสนล้าน ขับเคลื่อนช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจ โชว์โซลูชันเพื่ออนาคต ผ่าน 3 แกนหลัก ‘ลูกค้า เทคโนโลยี ความยั่งยืน’ คาดปี 2030 มีสัดส่วนพอร์ตใหม่ 20-25%

SCG ประกาศขับเคลื่อนธุรกิจสู่ The Next Chapter ​รับมือโลกใบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม ทั้งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและมีความกังวลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ​ต้นทุนพลังงาน ​การแข่งขันที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ ขณะที่ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง​ บริบทใหม่ๆ ของโลกที่ให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงนำมาสู่การปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกใหม่นี้ ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี อธิบายเพิ่มเติมถึงความหมายของ​ ‘SCG : The Next Chapter‘ คือ ความมุ่งมั่น หรือ Passion ของ SCG ในการเป็นผู้ส่งมอบโซลูชันให้ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ทั้งกับลูกค้า สังคม รวมทั้งผู้คนทั่วไปในสังคมให้ดีขึ้นได้ และอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป​ อาทิ การพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์ ดิจิทัลโลจิสติกส์ นวัตกรรมกรีน สมาร์ทลีฟวิ่ง และหุ่นยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น

โดยมี 3 แกนหลัก​สำคัญที่ต้องคำนึงถึงในทุกๆ การขับเคลื่อน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาสินค้า บริการ หรือโซลูชันต่างๆ ออกมาในอนาคต​ ได้แก่

1. Customer โดยเอสซีจีจะขยับเข้ามาสร้างความใกล้ชิดลูกค้าในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปหรือกลุ่ม B2C มากขึ้น รวมทั้งยังคงรักษาลูกค้าในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่ง​เป็นกลุ่มในฟาก B2B ซึ่ง​เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในช่วงก่อนหน้านี้ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

2. Technology การพัฒนาเทคโนโลยีมีความสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนในอนาคตของเอสซีจี เพื่อสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งความสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยลดต้นทุนทั้งในการอยู่อาศัย หรือการดำเนินธุรกิจได้

3. Sustainability กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งบริบทสำคัญที่ผู้ทำธุรกิจไม่สามารถละเลยได้ เมื่อทุกภาคส่วนมีเป้าหมายขับเคลื่อนโลกไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีจากนี้ไปที่ต้องตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

ทั้งนี้ SCG ได้วางงบประมาณในช่วง 5 ปีแรกของการเปลี่ยนผ่าน ไว้ที่ 1 แสนล้านบาท เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายในเข็มไมล์แรก ที่วางไว้ภายในปี 2030 ​กับความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้ลดลง 20% รวมทั้งการก้าวสู่การเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงที่สามารถตอบสนองตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดโลกในอนาคต

“เอสซีจีได้จัดสรรงบประมาณ​ในสัดส่วนราว 60% สำหรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของกลุ่มธุรกิจเดิม ให้สามารถลดต้นทุนและประหยัดพลังงานรวมทั้งทรัพยากรต่างๆ ลงได้มากขึ้น  ขณะที่อีก 40% จะใช้ในการพัฒนาโอกาส และสร้างโซลูชันใหม่ๆ ให้ธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานสะอาด หรือ SCG Cleanergy เช่น นวัตกรรมอากาศสะอาด ที่สามารถผลิตอากาศที่ดีให้กับผู้บริโภคไปพร้อมๆ กับมีความสามารถในการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะมีทั้งโซลูชั่นส์สำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสำหรับผู้บริโภคทั่วไปซึ่งมีพฤติกรรมในการทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้บ้านเป็นมากกว่าแค่ที่อยู่อาศัย แต่มีบทบาททั้งในการทำงานและรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่มากขึ้นของเอสซีจีด้วยเช่นกัน  รวมไปถึงการพัฒนาสินค้ากรีนโพลีเมอร์ในกลุ่มนวัตกรรมสีเขียว ที่สามารถพัฒนาพลาสติกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถย่อยสลายได้ง่าย​ เป็นต้น โดยคาดว่าในอนาคต กลุ่มธุรกิจใหม่จะมีสัดส่วนได้ราว 20-25% ภายในปี 2030″​ 

สำหรับนวัตกรรมและโซลูชันส์ต่างๆ ที่อยู่ในไปป์ไลน์ ของเอสซีจี ประกอบด้วย

1. โซลูชันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด​ (Energy Transition Solutions)

– พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) สำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัย SCG Solar Roof Solutions สำหรับโรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ โรงพยาบาล ​โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ด้วยโซลูชันพลังงานสะอาดครบวงจร ในรูปแบบ Smart Grid Smart Platform ปัจจุบันมีกำลังการผลิตกว่า 195 เมกะวัตต์ พร้อมตั้งเป้า 3,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี

– นวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง (Heat Battery) พัฒนานวัตกรรม Heat Battery หรือ Thermal Energy Storage ประสิทธิภาพสูง สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จาก solar เป็นพลังงานความร้อน กักเก็บความร้อนไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดด เพื่อให้โรงงานมีพลังงานไว้ใช้ ป้องกันปัญหาพลังงานขาดแคลน

– มุ่งพัฒนาพลังงานชีวมวลคุณภาพสูง (Biomass และ Biocoal) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงจากขยะ (Refused Derived Fuel : RDF) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในโรงงานซีเมนต์ มุ่งสู่ Net Zero นอกจากนี้ ยังพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) เพื่อสร้างโอกาสให้ไทยเป็นผู้ส่งออกเชื้อเพลิงสะอาดภายในปี 2027

– แพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้า (EV Solution Platform) ได้แก่ อะเซทิลีนแบล็ค (Acelylene Black) ใช้เป็นส่วนประกอบในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเป็นวัสดุผลิตสายส่งไฟฟ้าแรงสูง  EV Fleet Solution ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การจัดหายานยนต์ไฟฟ้า ประกันภัย ซ่อมบำรุง สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเช่า ขนส่งสินค้าและรับ-ส่งพนักงาน  โดยตั้งเป้าส่งมอบรถ EV ในปีนี้​ 492 คัน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6,400 ตัน และในปี 2023 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม​เป็น 9,600 ตันต่อปี

2. โซลูชันสุขภาพและการแพทย์ (Health and Medical Solutions) 

โดยมีแผนเข้าสู่​ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Supplies and Labware) กว่า 15,000 รายการ โดย SCGP เข้าถือหุ้น Deltalab ประเทศสเปน อาทิ Deltaswab ที่เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากร่างกาย และ Cryoinstant หลอดน้ำยาสำหรับเก็บรักษาตัวอย่างเชื้อด้วยความเย็น รวมทั้งการผลิต เม็ดพลาสติกเพื่อการแพทย์ โดย SCGC™ PP และ PVC  อาทิ กระบอกเข็มฉีดยา สายและถุงน้ำเกลือ ถุงเลือด​ และโซลูชันที่เพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย อาทิ รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ถังทิ้งเข็มฉีดยา รถเข็นผู้ป่วย แคปซูลขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ และหน้ากากอนามัยภายใต้แบรนด์ VAROGARD

3. ดิจิทัลโลจิสติกส์ครบวงจร (Digital logistics)

ด้วยบริการขนส่งและซัพพลายเชนครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดย SCGJWD ให้บริการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขนส่งหลากหลายทั้งทางบก เรือ ราง อากาศ รองรับสินค้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อาทิ วัคซีน ยา งานศิลปะมูลค่าสูง รถยนต์ อาหารแช่แข็ง สินค้าอันตราย พร้อมเครือข่ายครอบคลุมทั่วอาเซียนและจีน

4. นวัตกรรมกรีน (Green Solutions)

เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ ภายใต้ฉลาก SCG Green Choice จำนวน 232 รายการ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 67 ภายในปี 2573 จากนวัตกรรมต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีก่อสร้างครบวงจรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม CPAC Green Solution​ , นวัตกรรมพลาสติกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCGC GREEN POLYMER, EcoBioPlas นวัตกรรมเร่งการย่อยสลายของพอลิโพรพิลีนเพื่อแก้ปัญหาพลาสติกหลุดรอดไปสู่ธรรมชาติ และนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

5. โซลูชันสมาร์ทลิฟวิ่ง (Smart Living Solutions)

โซลูชันเพื่อการใช้ชีวิตที่สะดวก สบาย สุขภาพดี ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ อาทิ โซลูชันอากาศสะอาดและประหยัดพลังงาน สำหรับกลุ่มอาคาร (Smart Building) ได้แก่ SCG Biion และSCG HVAC AirScrubber, ระบบดูแลสุขภาพและความปลอดภัยด้วย DoCare เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อบ้านกับโรงพยาบาล หรือโซลูชันที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย​ เช่น COTTO X ONE ก๊อกน้ำอัจฉริยะพูดได้ มีระบบสั่งการเปิด-ปิดด้วยเสียง ที่ช่วยประหยัดน้ำ และลดการสัมผัสที่เสี่ยงต่อเชื้อ และ BCI (brain-computer interface) สำหรับผู้ป่วยอัมพาต เป็นต้น

6. หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Artificial Intelligence Solutions)

โซลูชันเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เช่น สมาร์มฟาร์มมิ่งครบวงจร โดยสยามคูโบต้า เพื่อส่งเสริมเกษตรกร เพิ่มผลผลิต เพาะปลูกแม่นยำ ประหยัดต้นทุน ด้วยเทคโนโลยี IoT อาทิ รถปลูกผักอัตโนมัติ แทรกเตอร์ไร้คนขับ ทั้งนี้ ยังมีแทรกเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ เครื่องจักรกล-ออโตเมชั่น ให้บริการออกแบบ ผลิตเครื่องจักรกลให้โรงงานต่างๆ ที่มีความต้องการที่หลากหลาย โดยใช้​ AI​ และ Machine Learning ตั้งแต่กระบวนการผลิต ประกอบ บรรจุ ลำเลียงและระบบคลังสินค้า อาทิ เครื่องจักรกลช่วยไลน์ประกอบรถยนต์  หุ่นยนต์ช่วยจัดเรียงสินค้า และเครื่องคัดแยกกุ้ง

Stay Connected
Latest News