ถอดรหัสความสำเร็จ ‘เมืองคามิคัตสึ’ ​​​ต้นแบบสร้างเมืองปลอดขยะแห่งแรกในญี่ปุ่น ทำอย่างไรให้ทุกคนในเมืองแยกขยะได้แบบยิบย่อยถึง 45 ชนิดได้สำเร็จ  

เมืองคามิคัตสึ (Kamikatsu)​ ใน​จังหวัดโทคูชิมะ (Tokushima) เมืองเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา ทางตะวันออกของญี่ปุ่น​ กับจำนวนประชากรราว 1,500 คน แต่สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นต้นแบบของ Zero Waste Town ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

เมืองแห่งนี้ประสบความสำเร็จใน​การรณรงค์ให้ผู้คนทั้งเมืองลดการสร้างขยะ จนแทบไม่มีการทิ้งขยะออกมาจากแต่ละครัวเรือนเลย รวมทั้งอัตราการรีไซเคิลของเมืองก็สูงมากกว่า 80% ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายด้าน Zero Waste อย่างจริงจังมามากว่า 20 ปี นับตั้งแต่จัดตั้ง Zero Waste Academy ในปี 2003 จนปัจจุบันประชาชนในเมืองสามารถแยกขยะซึ่งเป็นต้นทางสำคัญในการส่งกลับเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากถึง 45 ชนิดแล้ว

ความสำเร็จของเมืองคามิคัตสึ ​จึงน่าสนใจว่ามีวิธีการทำอย่างไร เพื่อให้ชาวเมืองทุกคนร่วมแรงร่วมและให้ความสำคัญต่อการจัดการขยะในแต่ละครัวเรือน​ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยคุ้นชินในการเผาขยะมาเป็นการแยกขยะเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก และบางส่วนอาจไม่เชื่อว่าจะสามารถทำได้จริง แต่ทางเมืองมีกลไกในการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขนานใหญ่ จนสุดท้ายกลายมาเป็นกิจวัตรที่คนในเมืองทำกันได้อย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ​

ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ จากภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลไว้ในรายการ Innovative Wisdom ของศูนย์วิทยุจุฬา โดยถอดความสำเร็จในการสร้างต้นแบบเมืองปลอดขยะ ของเมืองคามิคัตสึ ออกมาได้เป็น 4 ข้อดังต่อไปนี้

1. การมีเป้าหมายอย่างชัดเจน ​

หลังจากทางเมืองมีนโยบายยกเลิกการใช้เตาเผาขยะมาตั้งแต่ปี 2000 หลังได้รับร้องเรียนจากรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นว่าการเผาขยะของเมืองมีการปล่อยสารพิษสู่ชั้นบรรยากาศ นำมาสู่ความจำเป็นในการหาวิธีบริหารจัดการขยะในท้องถิ่น ทั้งการลดจำนวนขยะ รวมทั้งการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งการแยกขยะของชาวเมือง ได้เริ่มมาแบบค่อยเป็นค่อยไปจาก 9 ชนิด ​ขยับมาเป็น 22 ชนิด 35 ชนิด และในปัจจุบันสามารถแยกได้มากถึง 45 ชนิดแล้ว

ขณะที่การวางเป้าหมายของเมือง ก็เป็นลักษณะที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวเมือง ทั้งการพยายามดำเนินการรีไซเคิลเพื่อนำขยะไปใช้ต่อ และพยายามลดการเผาหรือฝังให้ได้มากที่สุด ภายในปี 2020 การพยายามสร้างคนที่ไม่ทำให้โลกนี้สกปรก ภายในปี 2030 และการพยายามสร้างเพื่อนใหม่ทั่วโลกที่มีแนวคิดเดียวกัน ​​ซึ่งได้มีการวางเป้าหมายไว้ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของการขับเคลื่อน เพื่อให้ทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันถึงทิศทางที่จะมุ่งไปพร้อมทั้งช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการสร้าง purpose ร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ได้มากกว่าแค่ในเมืองแต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้คนทั่วโลกด้วย

2. ตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง  

เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญหรือมีความเข้าใจในเรื่องของการแยกขยะมาคอยให้คำแนะนำ หรือช่วยแก้ปัญหาเรื่องของการแยกขยะ เพื่อทำให้เรื่องของการลดขยะและแยกขยะของชาวเมืองสามารถทำได้อย่างถูกวิธี รวมทั้งทำได้โดยง่าย และมีความสะดวกมากที่สุด ภายใต้การจัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Zero Waste Academy ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการจุดทิ้งขยะ รวมทั้งการสอนและสื่อสารกับชาวเมืองเพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถแยกประเภทของขยะที่จะทิ้งได้อย่างถูกต้อง ​เพื่อให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเมือง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่จุดทิ้งขยะเพื่อคอยอำนวยความสะดวกให้ชาวเมือง​ด้วย

3. สร้างกลไกเพื่อให้คนอยากแยกขยะ

ทั้งการทำแคมเปญต่างๆ เพื่อให้คนเห็นว่าการแยกขยะมีประโยชน์ เช่น การสะสมแต้มแต้มเพื่อแลกรางวัล รวมทั้งการแปลงสถานที่ในการทิ้งขยะเพื่อทำให้คนอยากมาทิ้งมากขึ้น ซึ่งทางเมืองได้สร้างช้อปสำหรับ Reuse ที่ชื่อว่า KURU KURU Shop ซึ่งแปลว่า ‘วนไป’ เพื่อให้คนนำของในบ้านที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วแต่มีสภาพดี มาวางไว้เพื่อส่งต่อให้คนอื่นที่ต้องการ รวมทั้งสามารถหยิบของชิ้นที่ตัวเองต้องการออกไปใช้ได้ด้วยเช่นกัน

โดยต่อมาได้ทำการรีโนเวทให้กลายเป็นจุดทิ้งขยะของเมือง ที่มีความใหญ่ขึ้น ทันสมัย และกลายเป็นจุดนัดพบของคนในเมือง ​เพื่อให้คนอยากมาบ่อยๆ มีที่ให้นั่งคุยพักผ่อนได้ ส่วนร้าน​ KURU KURU Shop ก็กลายมาเป็น Lifestyle Product เพื่อรองรับคนที่มาดูงานของเมือง และสามารถหยิบของกลับไปเป็นที่ระลึกได้

นอกจากนี้ ยังทำให้ทุกคนมองเห็นประโยชน์และคุณค่าของการทิ้งขยะ จากการติดป้ายแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับขยะแต่ละประเภทที่ทำการแยก ​จุดที่จะนำไปรีไซเคิลต่อ จะนำไปรีไซเคิลเป็นอะไร รวมทั้งต้นทุนในการรีไซเคิลหรือพลังงานที่ใช้สำหรับรีไซเคิลขยะแต่ละประเภท เพื่อทำให้ชาวเมืองสามารถรับรู้ข้อมูลทั้งหมดได้ร่วมกัน

4. การทำให้ชาวเมืองมีส่วนร่วม

ทางเมืองยังได้เปิดโรงแรมที่ชื่อว่า WHY ในปี 2020 เพื่อรองรับการเข้ามาดูงานในเมือง โดยตั้งอยู่ใกล้กับจุดทิ้งขยะของเมือง โดยสิ่งของเครื่องใช้ภายในโรงแรมก็ได้รับความร่วมมือของชาวเมือง ที่ช่วยบริจาคสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ทั้งเพื่อการก่อสร้าง รวมทั้งนำมาตกแต่งโรงแรม เช่น กรอบไม้ โต๊ะ ประตู และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ลูกหลานของคนในพื้นที่เข้ามาทำงานในโรงแรม

เป้าหมายสำคัญของโรงแรม คือ ชวนผู้คนมาตั้งคำถามเพื่อโลก เกี่ยวกับพฤติกรรมของเรา ว่าทำไมเราต้องซื้อสิ่งนี้ ทำไมเราต้องแยกขยะ ทำไมเราต้องใช้ของสิ่งนี้​ รวมทั้งรณรงค์พฤติกรรมการลดขยะ และแยกขยะให้แขกที่มาพัก เช่น การขอให้ผู้พักเตรียมของใช้ส่วนตัวอย่างสบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟันมาเอง แต่ถ้าไม่ได้เตรียมมาทางโรงแรมก็จะมีบริการ โดยเฉพาะสบู่จะไม่ได้แจกเป็นก้อนๆ เหมือนที่อื่นๆ แต่จะให้ผู้พักตัดสบู่ไปใช้เองตามจำนวนที่คิดว่าน่าจะใช้ในระหว่างการเข้าพัก รวมทั้งมีกิจกรรมให้ผู้พักนำขยะที่สร้างขึ้นระหว่างเข้าพักลงมาทิ้งและแยกขยะที่ศูนย์คัดแยก โดยมีเจ้าหน้าที่ของ Zero Waste Academy คอยให้คำแนะนำ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมในการแยกขยะด้วยตัวเอง

เมืองนี้ยังสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การนำขยะพลาสติกไปผลิตเป็นของเล่นต่างๆ และนำกลับมาไว้ที่สนามเด็กเล่นของเมือง​​ โดยต่อยอดความร่วมมือออกไปยังหลากหลายบริษัท รวมทั้งการเปิดเมืองให้กลายเป็นศูนย์ดูงานด้าน Zero Waste เพื่อต้อนรับผู้คนจากเมืองอื่นๆ เพื่อร่วมเรียนรู้เรื่องการแยกขยะและรีไซเคิลร่วมกับผู้คนในเมือง ทำให้เกิดความภูมิใจ พร้อมทั้งได้เรียนรู้ และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเมืองจริงๆ มากกว่าแค่คนรับนโยบายจากเมืองเพื่อมาปฏิบัติตามแต่เพียงอย่างเดียว

Stay Connected
Latest News