แพกเกจซองเล็กล้นฟิลิปปินส์ ปริมาณใช้ทั้งปี ถมกรุงมะนิลาได้สูง 1 ฟุต ผู้บริโภคเกินครึ่งเชื่อไลฟ์สไตล์ Eco-friendly เป็นเรื่องยาก เพราะสินค้าหายากและมีราคาแพง

ข้อมูลจากการศึกษาเชิงลึกเรื่อง “สินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในฟิลิปปินส์” โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา เผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า ​ปี 2564 ฟิลิปปินส์มีการใช้บรรจุภัณฑ์กว่า 60,000 ล้านชิ้น และคาดว่าจะมีการเติบโตของตลาด บรรจุภัณฑ์ราว 4% ต่อปี ในระหว่างปี 2564 – 2571

พร้อมระบุว่า ​ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์​มีความต้องการ​ใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเงินจึงยังไม่ต้องการที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบด้านเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูง​​ เป็นเหตุผลให้ฝั่งของผู้ผลิตพยายาม​คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือนำบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ เพื่อให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ไม่สูงจนเกินไป

ทั้งนี้  ขนาดของบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์มีความหลากหลาย ตามความต้องการของผู้บริโภคและฐานะทางเศรษฐกิจ โดยผู้บริโภคกลุ่มที่มีกำลังซื้อมักนิยมเลือกสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากมีราคาต่อหน่วยที่ต่ำกว่า ​ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่อาจมีกำลังซื้อไม่มากพอ ก็มักจะนิยมซื้อสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก แต่จะซื้อบ่อยครั้งมากกว่า

โดยประชาชนชาวฟิลิปปินส์มักจะมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า ทิงกิ คัลเจอร์ (Tingi Culcure) หรือพฤติกรรมการซื้อสินค้าครั้งละเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะการซื้อผ่านร้านขายของชำขนาดเล็กและพบปริมาณการใช้​บรรจุภัณฑ์แบบซองขนาดเล็ก หรือ ซาเช่  (Sachet) มากถึงกว่าวันละ​ 164 ล้านซอง​ โดย 62% หรือราว 101 ล้านซอง จะ​ผลิตแบบซองหลายชั้น (Multi-layer) ซึ่งมีการผสมระหว่างอลูมิเนียม กาว และพลาสติก PVC​ และส่วนใหญ่มักใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับของเหลว เช่น ยาสระผม เครื่องดื่มชง เช่น นม น้ำผลไม้ กาแฟ ขณะที่อีก  38% จะเป็นซองแบบชั้นเดียว (Single layer sachet) ซึ่งนิยมใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขบเคี้ยว และผงซักฟอก เป็นต้น

จากผลการศึกษา GAIA study ระบุว่า ซองขนาดเล็กที่ถูกทิ้งในฟิลิปปินส์ตลอด 1 ปีนั้น มีปริมาณมากพอที่จะฝังทั้งกรุงมะนิลาได้สูงถึง 1 ฟุต และแนวโน้มการใช้ซองดังกล่าว ยังมีจำนวนมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า รวมทั้งมีปริมาณการใช้​ในชุมชนเมืองมากกว่าในชนบท

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ซองซาเช่มากที่สุด ได้แก่ กาแฟสำเร็จรูป ตามมาด้วยสบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดครัวเรือน และเครื่องปรุงรส โดยบรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้สามารถหาได้ในช่องทางค้าปลีกทั่วไป ​​ไม่ว่าจะเป็นตลาด ร้านอาหารขนาดเล็ก ร้านค้าโชห่วย

ส่วน สาเหตุสำคัญที่ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เลือกซื้อสินค้าแบบซาเช่​ เนื่องจากความสะดวก และราคาที่จับต้องได้ และทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแบรนด์ที่มีคุณภาพดีได้ในราคาที่ไม่แพง รวมทั้งสามารถหาซื้อได้จากร้านค้าปลีกในชุมชน ส่งผลให้พฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นวัฒนธรรมการซื้อสินค้าขนาดเล็กหรือ tingi culture ในที่สุด ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้อง​จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์แบบซองขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองกับตลาดดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ขณะที่ผลสำรวจจาก Kantar ระบุถึงพฤติกรรมผู้บริโภคฟิลิปปินส์ไว้ว่า ​ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีความต้องการผลิตภัณฑ์และอยากมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ

– ผู้บริโภคมากกว่า​ 75% ชอบซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

– 74%  ตั้งใจสนับสนุนแบรนด์ที่มีการส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

– มากกว่า​ 70% ยังลดการใช้พลาสติก รีไซเคิลขยะ และลดขยะที่เกิดจากอาหารด้วย โดยเฉพาะในกลุ่ม Baby boomer ซึ่งผู้บริโภคมีพฤติกรรมดังกล่าวถึงกว่า​ 80%

– มากกว่า 90% ต้องการซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และชื่นชอบสินค้าที่ทำจากวัตถุดิบทางธรรมชาติมากกว่า เพราะเชื่อว่าผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบทางธรรมชาติและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศจะช่วยให้ชาวฟิลิปปินส์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมถึงช่วยให้เกิดการจ้างงานในประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่า มุมมองต่อการมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของชาวฟิลิปปินส์ทุกคน โดยคนฟิลิปปินส์เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่ง หรือ ​ 54% ของผู้บริโภคที่มีฐานะระดับปานกลาง -ล่าง เป็นครัวเรือนที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งที่ทำเป็นประจำ (Eco-active) หรือเป็นครั้งคราว​(Eco-considerer) เช่น ​การใช้ถุงผ้าซ้ำในการซื้อของ และการลดขยะพลาสติก เป็นต้น โดยหลายคนสังเกตุเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงต่อสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มเพื่อนหรือคนในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เกินกว่าครึ่ง หรือมากกว่า​ 55% ระบุว่าการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยาก เนื่องจากหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ยาก หรือไม่ก็มักจะมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป

Stay Connected
Latest News