ไอบีเอ็มแนะใช้ ​AI ช่วยลดช่องว่างเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน หลังพบองค์กรทั่วโลกเพียง 10% ขับเคลื่อน KPI ด้าน ESG ได้ตามแผน

ไอบีเอ็มชี้ AI คือ กุญแจไขข้อมูลเชิงลึก ที่ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลในทิศทางที่สอดคล้องกัน เพราะเป้าหมายด้าน ESG จะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย หากไม่ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรอย่างแท้จริง 

IBM Study เผยผลศึกษาจากผู้นำองค์กรทั่วโลกที่มองว่า การมีปริมาณข้อมูลที่น้อยเกินไป หรือ​การขาดมุมมองเชิงลึกจากข้อมูลที่มีอยู่ คืออุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนหรือ ESG ได้ เนื่องจาก ข้อมูลคือหัวใจสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาที่ท้าทายด้านความยั่งยืน ขณะที่เป้าหมายที่วางไว้จะไร้ความหมาย หากไม่ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลการดำเนินงานจริง ซึ่งทางไอบีเอ็มได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อสามารถใช้ AI ​ช่วยองค์กรแปลงข้อมูลที่มีให้เป็นมุมมองเชิงลึก เพื่อช่วยในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น

คุณแอ็กเนส เฮฟท์เบอร์เกอร์ General Manager และ Technology Leader ของ IBM AEANZK ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้นำองค์กรส่วนใหญ่มองเห็นความสำคัญในการวางเป้าหมายด้าน ESG ในการขับเคลื่อนองค์กร โดยซีอีโอเกือบครึ่ง (48%) มองว่าประเด็นความยั่งยืนเป็นหนึ่งในความจำเป็นเร่งด่วนสูงสุดขององค์กร และมากกว่า 3 ใน 4 (76%) ของผู้บริหารทั่วโลกมองว่า ESG เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดต่อกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กร ขณะที่ 7 ใน 10 เชื่อว่าการขับเคลื่อน ESG ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กร มากกว่าที่จะเป็นภาระทางการเงิน  พร้อมทั้งได้วางเป้าหมายการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน พร้อมลดการส้รางขยะและการปล่อยมลพิษไปพร้อมกัน

และถึงแม้ว่าจะมีองค์กรถึง 95% ได้วางแนวทางขับเคลื่อนเรื่อง ESG ไว้ แต่มีเพียง 10% เท่านั้น ที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยอุปสรรคสำคัญมาจากการขาดมุมมองเชิงลึกจากข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ และยังพบว่า 2 ใน 3 ของผู้บริหารด้านไอทีทั่วโลกจากการสำรวจ กำลังมองการนำ AI มาใช้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในแง่การจัดการกับข้อมูลและการรายงานที่ซับซ้อน  ด้วยการใช้ AI ช่วยให้องค์กรสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งองค์กรได้อย่างง่ายดาย ​

“หากองค์กรต้องการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน AI จะเป็นเครื่องมือเดียวที่ช่วยจัดการกับข้อมูลมหาศาลที่องค์กรต้องวิเคราะห์เพื่อจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน นั่นหมายความว่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรเพื่อช่วยไขรหัสข้อมูลจำนวนมหาศาล และบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ​​​แต่สิ่งที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ คือการมองเรื่องนี้แบบครอบคลุม 360 องศา ไม่ใช่การมองแค่เพียงมิติใดมิติหนึ่ง

ด้าน คุณอรุณ บิสวัส พาร์ทเนอร์อาวุโสและผู้นำด้านความยั่งยืน ของ IBM Asia Pacific กล่าวว่า การจะบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ได้นั้น องค์กรต้องไม่มองว่า ESG เป็นเพียงแนวทางในการจัดทำรายงาน แต่ถือเป็น ‘ปัจจัยในการเพิ่มความโปร่งใส’ ให้องค์กร มุมมองเชิงลึกที่เกี่ยวกับ ESG จะช่วยสร้างโอกาสและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งการศึกษาล่าสุดพบว่า ความ​เชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อข้อมูลด้าน ESG ที่องค์กรต่างๆ ได้เปิดเผยออกมานั้น​​ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการลดช่องว่างด้านความยั่งยืนให้แก่องค์กรได้อีกด้วย

“ผลศึกษาล่าสุด​ชี้ให้เห็นว่า ESG ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการรายงานหรือปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆ แต่เป็นกลไกที่ช่วยสร้างคุณค่าให้องค์กร พร้อมความสามารถในการบริหารจัดการ ESG อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อผลประกอบการทางธุรกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มของธุรกิจ ขณะเดียวกันยังช่วยลดช่องว่างระหว่างเป้าหมายด้านความยั่งยืนกับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน KPI ด้านความยั่งยืนต่างๆ​  จากการประมวลผลข้อมูลและมุมมองเชิงลึกแบบเรียลไทม์ “

AI เครื่องมือต่อกรความท้าทายปัญหาด้านความยั่งยืน 

มุมมองของไอบีเอ็มที่มีต่อการขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กร ต้องมองมากกว่าแค่มิติเรื่องลดการปล่อยมลพิษ แต่จำเป็นต้องดำเนินงานได้แบบ 360 องศา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการและรายงานข้อมูล ESG รวมถึงการบริหารความเสี่ยง, การบริหารจัดการอาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบ facilities รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ,  กรีนไอที และเทคโนโลยีการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน และการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (circularity) เป็นต้น

ขณะเดียวกันไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมกันพิจารณาว่า​ก้าวย่างแห่งเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่ละองค์กรควรเริ่มต้นที่ตรงไหน มุ่งหน้าไปในแนวทางไหน และด้วยวิธีการใด โดยนำ AI เข้ามาใช้เพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทั้งในแง่ธุรกิจ รวมทั้งรับมือกับปัญหาความยั่งยืนมิติต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น

ความร่วมมือกับองค์การนาซ่า (NASA) : เพื่อพัฒนา foundation model สำหรับภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ โดยข้อมูลจากนาซ่าจะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสู่เป้าหมายการติดตามและปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป แนวทางดังกล่าวจะสามารถนำมาช่วยประเมินความเสี่ยงด้านสภาพอากาศต่อพืชผล อาคารบ้านเรือน หรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน การมอนิเตอร์ป่าสำหรับโครงการการชดเชยคาร์บอน (carbon offset) รวมถึงการพัฒนาโมเดลการคาดการณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้องค์ กรสามารถวางกลยุทธ์เพื่อบรรเทาความเสี่ยงและรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปได้

เครื่องมือ IBM Cloud Carbon Calculator : เพื่อช่วยเหลือองค์กรใน​การวัด ติดตาม บริหารจัดการ และรายงานการปล่อยคาร์บอนในด้านที่เกี่ยวกับการใช้ไฮบริดคลาวด์ได้ รวมทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มการปล่อยมลพิษและสร้างมุมมองเชิงลึกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการดำเนินการอย่างทันท่วงที เพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับเวิร์คโหลดบนคลาวด์ของตน

ความร่วมมือกับ The Reef Company  : อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูและคืนชีวิตให้กับระบบนิเวศน์ทางทะเล เพื่อคงไว้ซึ่งระบบที่สร้างคุณประโยชน์มหาศาลต่อมนุษย์ ที่รวมถึงการดักจับคาร์บอน ในการนำความสามารถของ generative AI อย่าง watsonx และ foundation models ที่ได้รับการฝึกไว้แล้ว เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลจากหลากหลายแหล่ง อาทิ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลเซ็นเซอร์ใต้น้ำ รวมถึงข้อมูลย้อนหลังต่างๆ เพื่อระบุรูปแบบและคาดการณ์ภัยคุกคามที่เกิดต่อปะการัง แนวทางแบบ proactive ดังกล่าว จะช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถดำเนินการต่างๆ ได้ในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงวางกลยุทธ์และการดำเนินการเพื่อบรรเทาสถานการณ์และจัดการทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มโฟกัสที่ประเทศโปรตุเกส แต่ก็ได้มีการมองถึงการขยายวงสู่อาเซียนด้วยเช่นกัน

Stay Connected
Latest News