ดร.ธรณ์ ชี้ ปีหน้าอุณหภูมิโลกสูงแตะ 1.5 องศา ครั้งแรก พร้อมเจอวิกฤต 2 เด้ง ‘โลกร้อน+เอลนีโญ’ ​ส่งผลแปรปรวนหนักขึ้น

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชั้นแนวหน้าของประเทศ ได้บรรยายในหัวข้อ  ‘Road to Decarbonization the Series’ โอกาสครบรอบ 2 ปี  Carbon Markets Club คลับรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจกแห่งแรกของประเทศไทย

​โดยได้กล่าวว่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO :  World Meteorological Organization )​​ ระบุว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา คือ 8 ปีที่โลกมีอากาศร้อนทุบสถิติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปีหน้าจะเป็นปีแรกที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นจนไปแตะระดับ​ 1.5 องศา เป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ จะเกิดผลกระทบขึ้นแบบ Double Effects เนื่องจาก มีทั้งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นถึง 1.5 องศา รวมทั้งยังเป็นปีที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะทำให้อากาศทั้งโลกเพิ่มสูงขึ้นและแห้งแล้งมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 นี้เป็นต้นไป และสถานการณ์จะถึงจุดสูงสุดราวเดือน ธ.ค. 2566 – ม.ค. 2567 ​​ ทำให้เกิดความแปรปรวนด้านสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น และจะเป็นครั้งแรกที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่แท้จริงอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่าสิ่งที่ทุกคนเคยสัมผัสในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้

“ปีหน้าจะเป็นปีที่ผู้คนบนโลกเห็นผลกระทบและความแปรปรวนของภาวะโลกร้อนที่ชัดเจนขึ้นจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 1.5 องศา เป็นครั้งแรก ก่อนที่อุณหภูมิจะลดระดับลง แต่ก็จะสูงขึ้นมาแตะระดับนี้ใหม่อีกครั้งด้วยความถี่ที่บ่อย​ครั้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โลกจะเกิดความแปรปรวนมากขึ้น ทั้งจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ภัยแล้ง ไฟป่าที่รุนแรงยิ่งขึ้นจนทำให้การลงทุนเพื่อดับไฟสูงมากจนไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินการจนต้องปล่อยให้ไฟดับลงไปเอง ส่วนอากาศร้อนที่ผู้คนรู้สึกว่าร้อนแล้ว จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ  และจะส่งผลกระทบมากกว่าที่หลายปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน” 

ดังนั้น ​ความเสี่ยงจากปัญหาโลกร้อน จึงไม่ใช่แค่ความเสี่ยงในเรื่องของสภาพภูมิอากาศ หรือเป็นแค่ปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่าน้ัน แต่ถือว่าเป็นภัยคุกคาม และเป็นความเสี่ยงของทั้งภาคเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจในทุกกลุ่ม รวมทั้งความเสี่ยงในการลงทุนด้วย โดยเฉพาะภาระต้นทุนทางด้านพลังงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 20-30% เป็นอย่างน้อย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย 

นอกจากนี้  ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ค่อนข้างมาก ​ซึ่งอาจะไม่ใช่ในมุมของผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ แต่กระทบโดยตรงต่อผู้คนในท้องถิ่นที่​เลี้ยงชีวิตด้วยการทำมาหากินในพื้นที่ เช่น ชาวประมง ที่ไม่สามารถจับสัตว์น้ำในระยะชายฝั่งได้ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้สัตว์ทะเลหนีไปอยู่ในที่ลึกและไกลขึ้น รวมทั้งยังมีปัญหาปะการังฟอกขาวซ้ำซ้อนและตายลงในบริเวณกว้าง ขณะที่ไฟป่าก็ทำลายพืชพรรณต่างๆ ในป่า ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและอาจจะยังไม่มีความเข้าใจหรือตระหนักต่อปัญหาเหล่านี้ได้มากนัก

“ขณะที่บทบาทในการช่วยเหลือต้องดำเนินการ 3 ส่วนคือ ลด รับ และปรับตัว ซึ่งในแง่ของการ​ลด มีความคืบหน้าอย่างมากจากการที่หลายๆ องค์กรเริ่มประกาศเป้าหมาย Net Zero หรือมีการตั้งบอร์ด SD หรือกลุ่มต่างๆ เพื่อดูแลด้านความยั่งยืนมากขึ้น ส่วนการรับและปรับตัว ยังเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย เพราะต้องขับเคลื่อนในระดับประเทศ ที่ต้องประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน วิเคราะห์ผลกระทบ ภาวะปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และจะบริหารความเสี่ยงอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องเหล่านี้  ต้องเข้าไปสร้างความตื่นตัว รับรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ​ซึ่งการช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้ ต้องทำมากกว่าแค่การช่วยเหลือแบบง่ายๆ อย่างการบริจาคเงิน หรือทำโครงการต่างๆ โดยไม่มีการดูแลติดตาม แต่ต้องเป็นการช่วยที่ต้องใช้ความพยายาม ​ใช้เวลา ด้วยการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาเครื่องมือหรือกลไกพัฒนาต่างๆ ไม่ใช่แค่เข้าไปช่วยแล้วจบ แต่เป็นการช่วยที่ท้าทายความสามารถของผู้ให้การช่วยเหลือ และถือเป็นภาระหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เช่นกัน”

ภาพ  : Facebook Thon Thamrongnawasawat

Stay Connected
Latest News