ผลวิจัยชี้ หากไทย อินเดีย และอีก 4 ประเทศอาเซียน​ จัดการขยะพลาสติกทั้งระบบได้ จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 61 แห่งตลอดทั้งปี

The Circulate Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรดำเนินการเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติกในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ได้เผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเชื่อมโยงสำคัญระหว่างการกำจัดขยะพลาสติกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

ผ่านการจัดทำรายงาน “ประโยชน์ในด้านสภาพภูมิอากาศจากการกำจัดขยะในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่ระบุถึงศักยภาพของการลงทุนเพื่อกำจัดและรีไซเคิลขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพใน 6 ประเทศของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เครื่องมือคำนวณวงจรชีวิตพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือ PLACES ที่พัฒนาร่วมกับหน่วยงาน Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) ในสิงคโปร์ ในการติดตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนปริมาณพลังงานและน้ำที่ใช้สำหรับการจัดการและรีไซเคิลขยะพลาสติกทั่วภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกๆ ขั้นตอนการเดินทางของขยะพลาสติกที่สิ้นอายุการใช้งานแล้ว และถือเป็นเครื่องมือแรกที่เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รายงานฉบับดังกล่าว เปิดเผยว่า หากสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกจากทั้ง 6 ประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 229 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 61 แห่งเป็นเวลาหนึ่งปี

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหารายงานถึงประเด็นสำคัญๆ ​ประกอบด้วย

– การขาดโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะ เป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาด้านมลพิษพลาสติกมากที่สุด ดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการปัญหามลพิษพลาสติกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

– หากสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องในประเทศไทยได้ทั้งหมดภายในปี 2573 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 27.9 ล้านตันเทียบเท่าการลดจำนวนรถยนต์กว่า 6.2 ล้านคัน จากท้องถนนในหนึ่งปี

85% ของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทยเกิดจากการเผาขยะในที่โล่งและในโรงเผาขยะ ดังนั้น หากเปลี่ยนขยะ​ 1 ตัน จากการเผาในที่โล่ง ไปสู่การจัดการคัดแยกขยะและรีไซเคิลอย่างถูกต้องเหมาะสม อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 3 ตัน

– หากประเทศไทยยังคงกำจัดขยะพลาสติกด้วยการเผาขยะและการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน จะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3.3 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้โดยการใช้โซลูชันการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล

รายงานฉบับดังกล่าว ยังเปิดเผยว่า การรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องในอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมกันจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 229 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 61 แห่งเป็นเวลาหนึ่งปี

นายอุเมช มาดาวาน  ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ The Circulate Initiative กล่าวว่า “การเจรจาเพื่อบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับมลพิษจากพลาสติกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยผลการวิจัยของเราสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการลงทุนในการกำจัดและรีไซเคิลขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหามลพิษพลาสติกและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ไปพร้อม ๆ กัน”

สำหรับ​เครื่องมือ PLACES ที่นำมาใช้ในการทำรายงานฉบับนี้ ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2564  ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทต่าง ๆ นักลงทุน นักรีไซเคิล ผู้ให้บริการกำจัดขยะ และนักวางผังเมือง ในการผลิตข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเชิงลึกเพื่อนำไปใช้ในการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกำจัดและรีไซเคิลขยะ

“การนำเครื่องมือ PLACES มาใช้ให้ครอบคลุมจำนวนประเทศเพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนหลากหลายประเภท รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจในภูมิภาคสามารถประเมินโอกาสด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกที่ขึ้นอยู่กับปริมาณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายอุเมช กล่าวสรุป

Stay Connected
Latest News