เปลี่ยน ‘ปัญหา’ ให้กลายเป็น ‘โซลูชัน’ UN แนะเพิ่มประสิทธิภาพจัดการน้ำเสียทั่วโลก จากปัจจุบันใช้เพียงแค่ 11% เท่านั้น

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP​ ให้ข้อมูลผ่านรายงานฉบับล่าสุด Wastewater: Turning problems to Solution ว่า ปัจจุบันมีการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพียงแค่ 11% เท่านั้น ขณะที่มีปริมาณน้ำเสียจำนวนมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของโลกที่ยังไม่ได้รับการบำบัด และถูกปล่อยให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำ ทะเลสาบ และทะเล

นอกจากนี้ แหล่งน้ำเสียต่างๆ ยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งปริมาณการปล่อย CO2 ต่ำกว่า​ธุรกิจการบินทั่วโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ทั้งๆ ที่น้ำเสียเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้หากมีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดด้านพลังงานทดแทนที่จะเป็นประโยชน์ให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก รวมทั้งยังสามารถคืนน้ำสะอาดให้โลกได้มากกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับการสังเคราะห์เกลือออกจากทะเล หรือนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยสำหรับภาคการเกษตร ​

Leticia Carvalho, Head of Marine and Freshwater Branch แห่ง UNEP ให้ข้อมูลว่า น้ำเสียที่มีอยู่เต็มท่อระบายน้ำทั่วโลก เต็มไปด้วยศักยภาพหากสามารถต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดให้กลับมาเป็นน้ำสะอาดใหม่อีกครั้ง การพัฒนาให้กลายเป็นพลังงานทางเลือก หรือการสังเคราะห์สารเคมีสำคัญต่างๆ ออกมาใช้ประโยชน์ แต่ปัจจุบันมีการนำกลับมาใช้ใหม่ได้แค่ 11% เท่านั้น

เร่งเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโซลูชัน

การศึกษาครั้งล่าสุด ภายใต้ความร่วมมือของ UNEP, Global Wastewater Initiative (GWWI) และ GRID-Arendal องค์กรไม่แสวงผลกำไรของนอร์เวย์ ที่ได้เปิดเผยขึ้นในงาน World Water Week ปีล่าสุดนี้ ได้เน้นย้ำถึงแนวทางในการเพิ่มศักยภาพจากการเปลี่ยนน้ำเสีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อกังวลที่นำมาสู่ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ให้กลายมาเป็นโซลูชันในการเพิ่มต้นทุนทางด้านทรัพยากรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ทดแทนได้ อาทิ

– การต่อยอดนำ้เสียสู่การผลิตพลังงานทดแทน ทั้งการผลิตก๊าซชีวภาพ พลังงานความร้อน รวมทั้งการใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งปริมาณพลังงานที่ผลิตได้นี้มีปริมาณมากกว่าพลังงานที่ต้องใช้ในกระบวนการสำหรับการบำบัดน้ำเสียถึง 5 เท่า

– การจัดการน้ำเสียอย่างเหมาะสม ยังเป็นแนวทางในการรับมือต่อปัญหา Climate Change ของประเทศต่างๆ  รวมทั้งลดปัญหาความไม่มั่นคงทางทรัพยากรน้ำในแต่ละประเทศลงได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ยังสามารถแยกธาตุอาหารต่างๆ เช่น  ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ออกจากน้ำเสีย เพื่อนำกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการเกษตรทั่วโลได้ถึง ​13.4%

– การจัดการน้ำเสียอย่างเหมาะสม ยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่​ชลประทานทั่วโลกได้กว่า 40 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งใหญ่กว่าประเทศเยอรมนีทั้งประเทศ

รายงานฉบับดังกล่าว ยังนำเสนอ Best Practice จากตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการจัดการน้ำเสีย ทั้งจากประเทศที่มีรายได้ทั้งสูงและต่ำ ​ได้แก่ จีน โคลอมเบีย เดนมาร์ก อียิปต์ เยอรมนี อินเดีย อิสราเอล นามิเบีย เซเนกัล สวีเดน สิงคโปร์ หมู่เกาะโซโลมอน และตูนิเซีย ไปจนถึงประเทศจากภูมิภาคแคริบเบียน

การริเริ่มโครงการเหล่านี้ในหลายพื้นที่ สะท้อนได้ถึงการเป็นโมเดลที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาได้ในหลายภูมิภาคและหลายเขตเศรษฐกิจ และเป็นอีกหนึ่งการต่อยอด ​ Circular Economy ที่รัฐบาลและภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญ​เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาส และเพื่อผลักดันให้โครงการต่างๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จ และเกิดขึ้นได้จริงในวงกว้าง ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลและขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสนับสนุนทั้งทางด้านเงิน​ลงทุน ข้อมูล นวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนารูปแบบในการนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง หรือส่งผลในเชิงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งในมิติของแต่ละบุคคล หรือในรูปแบบขององค์กรหรือสถาบันต่างๆ

source 

Stay Connected
Latest News