ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ​รับโจทย์ LifeWear สร้างความยั่งยืนตลอดซัพพลายเชน พร้อมเซ็ตแผน 3 ปี ขับเคลื่อนระดับ Local ชู RE.UNIQLO แคมเปญหลักปีนี้

ยูนิโคล่ ประเทศไทย ประกาศขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน ​สอดคล้องภาพใหญ่ของบริษัทแม่อย่างฟาสต์ รีเทลลิ่ง ตามแนวคิด LifeWear (ไลฟ์แวร์) ผ่านการออกแบบและผลิตเสื้อผ้าที่ช่วยให้ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

พร้อม​ตอกย้ำพันธกิจ ‘ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า’ ใน 2 มิติ ประกอบด้วย  1. การผลิตเสื้อผ้าที่ดีต่อโลก และไม่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม ​และ 2. การผลิตเสื้อผ้าที่ดีต่อผู้คนและสังคม

ทั้งนี้ ​ตลอดทั้ง Supply Chain ในการผลิตเสื้อผ้าของยูนิโคล่ จะให้ความสำคัญกับการผลิต​เสื้อผ้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้มีเสื้อผ้าเหลือค้างอยู่ในระบบหรือกลายเป็นขยะฝังกลบ ตั้งแต่การศึกษารูปแบบ และปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับดีมานด์ของผู้บริโภคในตลาด รวมไปถึงการขนส่ง การบริหารจัดการการขาย รวมทั้งการดูแลจัดการหลังการขาย เพื่อไม่ให้สร้างขยะเพิ่มมากขึ้น

ยูนิโคล่ยังได้ฉายภาพ​เป้าหมายที่ต้องการ​บรรลุให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2030 รวมทั้งสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนได้แล้วในขณะนี้ ประกอบด้วย

– ​ลดการสร้าง CO2 จากการดำเนินงานของบริษัทลง 90% และจากซัพพลายเชนทั้งระบบ 20% ภายในปีงบประมาณ 2030 ซึ่งภายในปีงบประมาณ 2022 ​สามารถลด CO2 จากการดำเนินงานของบริษัทลงได้แล้ว 45.7% และจากซัพพลายเชน 6.2%

– ​การพัฒนานวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้วัสดุ PET รีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเสื้อผ้าให้เป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อมมากขึ้น เช่น นวัตกรรม Bluecycle ในกลุ่มกางเกงยีนส์ ที่ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ถึง 99% โดยปัจจุบันยูนิโคล่มีสัดส่วนการใช้วัสดุ Eco-friendly มาใช้ในการผลิตที่ประมาณ 5% และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนให้ได้ถึง 50% ของกำลังผลิตท้ังหมด

– การขับเคลื่อนนโยบาย RE.UNIQLO เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้งานเสื้อผ้าได้อย่างยาวนานและคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งดำเนินการ​นำเสื้อผ้ากลับมารีไซเคิลผลิตเป็นสินค้าใหม่  เพื่อไม่ต้องการให้มีเสื้อผ้าของยูนิโคล่กลายเป็นขยะไปสู่หลุมฝังกลบ รวมท้ังการเปิด RE.UNIQLO STUDIO​ ภายใต้คอนเซปต์ Repair/Remake/ Reuse/Recycle เพื่อนำเสื้อผ้ากลับมาซ่อมแซมเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำเทคนิคการตัดเย็บด้วยมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือ ที่เรียกว่า Sashiko มาให้บริการด้วยเพื่อเป็นการต่ออายุการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดให้บริการทั่วโลกแล้วมากกว่า 30 แห่ง และได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะในแถบยุโรปที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน​อย่างมาก

พร้อมทั้ง​เตรียมเปิด​บริการ RE.UNIQLO STUDIO แห่งแรกของประเทศไทยในวันที่ 28 กันยายน 2566 นี้ ที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ​ซึ่งเป็นยูนิโคล่​สาขาแรกในประเทศไทยและถือเป็นสาขาที่มีความสำคัญสำหรับยูนิโคล่อย่างมาก โดยยูนิโคล่จะทำการศึกษาพฤติกรรมและดีมานด์ผู้บริโภคคนไทยเพื่อพิจารณาในการขยายสาขา RE.Uniqlo Studio ในประเทศไทยเพิ่มเติมต่อเนื่องในอนาคต

มร. โยชิทาเกะ วาคากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด

ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ขับเคลื่อนผ่านโรดแม็พ 3 ปี 

นอกจากสานต่อแนวทางตามแผนความยั่งยืนของบริษัทแม่แล้ว ​ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ยังได้วางเป้าหมายระยะกลางเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนในช่วง 3 ปี (2566 -2568)  โดยมี​เป้าหมายการเป็น  “บริษัทร่วมทุนที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย” เน้น​ขับเคลื่อนความยั่งยืนตามกรอบ SDG ในข้อ 3 ,14 และ 15 เพื่อตอกย้ำความสำคัญในการ​เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน และการดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเล

มร. โยชิทาเกะ วาคากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ​ยูนิโคล่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเพื่อดูแลผู้คน สังคม และโลก ทั้งในฐานะ Global Citizen ​และการขับเคลื่อน​ภายใน​ประเทศไทย​ โดยหนึ่งในความมุ่งมั่นสำคัญในปีนี้​ของยูนิโคล่ (ประเทศไทย) คือ การขับเคลื่อนโครงการ RE.UNIQLO ​จากการเล็งเห็นปัญหาและต้องการช่วยเหลือสังคมไทย ในเรื่องของจำนวนเสื้อผ้าที่กลายเป็นขยะฝังกลบ ซึ่งนอกจากเตรียมเปิดให้บริการ RE.UNIQLO STUDIO แห่งแรกของประเทศไทยแล้ว ยังมีแคมเปญรวบรวมเสื้อผ้ากันหนาว จำนวน 50,000 ชิ้น เพื่อส่งมอบให้ผู้ขาดแคลนเสื้อผ้ากันหนาวโดยเฉพาะผู้ประสบภัยหนาวทางภาคเหนือ​ ซึ่งในช่วงหน้าหนาวจะมีอากาศบนดอยหนาวเย็นกว่าปกติ

“สำหรับปี 2566 กิจกรรม RE.UNIQLO ตั้งเป้าหมายที่จะส่งต่อเสื้อผ้ากันหนาวจำนวน 50,000 ชิ้น ผ่านองค์กรพันธมิตรต่างๆ ภายในเดือน ธันวาคม 2566 จึงอยากจะเชิญชวนลูกค้าของยูนิโคล่ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชาวไทยด้วยกันในครั้งนี้ เพื่อมอบน้ำใจและความอบอุ่น เพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีพันธมิตรที่ช่วยนำส่งความอบอุ่นให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวจาก 3 องค์กร อย่างมูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิบ้านร่มไทร และ UNHCR  ที่จะเป็นตัวแทนส่งมอบเสื้อหนาวที่ได้รับการบริจาคจากยูนิโคล่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 อีกด้วย โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการ UNIQLO Recycling Clothes Donation ในปี 2558 ปัจจุบัน ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ได้ส่งต่อเสื้อผ้าที่ได้รวบรวมจากลูกค้าทั่วประเทศเพื่อส่งมอบให้องค์กรพันธมิตรต่างๆ ในระดับท้องถิ่นได้แล้วมากกว่า 194,273 ชิ้น ” 

นอกจากนี้ ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ยังมี​การขับเคลื่อนด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ดังนี้

– การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (IREC) ทั้งร้านสาขา และ สำนักงานใหญ่

– การช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น การบริจาคเสื้อผ้าและของใช้จำเป็นสำหรับเหตุการณ์น้ำท่วม ที่จ.อุบล ในปี 2565 เหตุการณ์โกดังเก็บพลุระเบิดที่ อ. สุไหงโก-ลก จ. นราธิวาส และ การบริจาคหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา

– สนับสนุนกิจกรรมการแข่งขันการเก็บขยะ SPOGOMI World Cup 

– UNIQLO Recycling Clothes Donation ภายใต้โครงการ RE.UNIQLO

– แผนงานความร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดภาวะโลกร้อนกจากก๊าซเรือนกระจก

– เพิ่มสัดส่วนการผลิตสินค้าด้วย​วัสดุที่ยั่งยืน 

Stay Connected
Latest News